ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดที่มา พระโคแรกนาขวัญ 2568 โคพื้นเมือง เขางาม ขนสีขาว เดินสง่า

สังคม
7 พ.ค. 68
09:32
378
Logo Thai PBS
เปิดที่มา พระโคแรกนาขวัญ 2568 โคพื้นเมือง เขางาม ขนสีขาว เดินสง่า
พระโคพอ - พระโคเพียง คู่พระโคแรกนาขวัญประจำปี 2568 โคสีขาวสง่างามมีรูปลักษณ์สมบูรณ์ตามหลักเกณฑ์ พร้อมด้วยพระโคสำรอง พระโคเพิ่ม - พระโคพูล รู้ความหมาย "คำเสี่ยงทาย" จากสิ่งที่พระโคเลือกกิน บอกใบ้ความอุดมสมบูรณ์และสถานการณ์บ้านเมือง

ปี 2568 กำหนดการประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ แบ่งเป็น 2 พิธีสำคัญคือ "พระราชพิธีพืชมงคล" จัดขึ้นใน พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง วันที่ 8 พฤษภาคม 2568 และวันนี้ยังถือเป็น "วันเกษตรกร" ด้วย วันถัดมา คือ "พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน)" เป็นพิธีพราหมณ์ ในที่ 9 พฤษภาคม 2568 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

หนึ่งไฮไลต์สำคัญที่ทุกคนให้ความสนใจในพระราชพิธีนี้คือ "พระโค" ซึ่งมีบทบาทสำคัญในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระโคจะทำหน้าที่ไถนา และเลือกกินสิ่งที่จัดเตรียมไว้ เช่น ข้าว น้ำ หญ้า ถั่ว งา เหล้า หรือข้าวโพด การกินของพระโคนำไปสู่ "คำพยากรณ์" ถึงความอุดมสมบูรณ์หรือสถานการณ์บ้านเมืองในปีนั้น 

ภาพจาก - กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ซ้อมใหญ่ ครั้งที่ 1 เพื่อเตรียมความพร้อมพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2568 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

ภาพจาก - กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซ้อมใหญ่ ครั้งที่ 1 เพื่อเตรียมความพร้อมพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2568 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

ภาพจาก - กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซ้อมใหญ่ ครั้งที่ 1 เพื่อเตรียมความพร้อมพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2568 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

ในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ทุกปีมีสิ่งที่ทุกคนจะได้เห็นนอกจากการวันไถหว่าน นั้น คือ "พระโค" และยังให้ความสนใจเกี่ยวกับคำพยากรณ์ พระโคกิน อะไรในปีนี้ แต่ในงานพระราชพิธี พระโค มีที่มาอย่างไร และ คำทำนาย แต่ละอย่าง คืออะไร 

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ถือเป็นพระราชพิธีซึ่งกระทำขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลและส่งเสริมบำรุงขวัญเกษตรกร เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการเพาะปลูก กำหนดจัดขึ้นในราวเดือน 6 ของทุกปี หรือ "เดือนพฤษภาคม" ที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสมต้องตามประเพณี ให้จัดขึ้นในเวลานั้นอันถือเป็นเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มต้นฤดูกาลแห่งการทำนา

"พระโค" ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 

"พระโค" ในทางศาสนาพรามหณ์ หมายถึง เทวดาผู้ทำหน้าที่เป็นพาหนะของ พระอิศวร ซึ่งเปรียบได้กับการใช้แรงงานและความเข้มแข็ง และเป็นสัตว์เลี้ยงที่พระกฤษณะและพระพลเทพดูแล เปรียบได้กับความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น ในการประกอบพระราชพิธี จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จึงได้กำหนดให้ใช้ "พระโคเพศผู้" เข้าร่วมพระราชพิธีเสมอมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เพื่อเป็นตัวแทนของความเข้มแข็งและความอุดมสมบูรณ์

ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานคัดเลือกพระโคเพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ โดยศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพราชบุรี สังกัดสำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ จะดำเนินการคัดเลือกโคเพื่อเป็นพระโคตามหลักเกณฑ์

หลักเกณฑ์ กล่าวคือ จะต้องเป็นโคที่มีลักษณะดี รูปร่างสมบูรณ์ มีความสูงไม่น้อยกว่า 150 เซนติเมตร ความยาวลำตัวไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอกไม่น้อยกว่า 180 เซนติเมตร

โคทั้งคู่จะต้องมีสีเดียวกัน ผิวสวย ขนเป็นมัน กิริยามารยาทเรียบร้อย ฝึกง่าย สอนง่ายไม่ดุร้าย

ในส่วน "เขา" ของโค ลักษณะโค้งสวยงามเท่ากัน ตาแจ่มใส หูไม่มีตำหนิ หางยาวสวยงามดี มีขวัญหน้า ขวัญทัดดอกไม้ซ้ายขวา และขวัญหลังถูกต้อง มีขาและกีบข้อเท้าแข็งแรง มองดูด้านข้างลำตัวจะเป็นสี่เหลี่ยม

ภาพจาก - กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ซ้อมใหญ่ ครั้งที่ 1 เพื่อเตรียมความพร้อมพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2568 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

ภาพจาก - กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซ้อมใหญ่ ครั้งที่ 1 เพื่อเตรียมความพร้อมพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2568 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

ภาพจาก - กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซ้อมใหญ่ ครั้งที่ 1 เพื่อเตรียมความพร้อมพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2568 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

ในปี 2568 กรมปศุสัตว์ได้ทำการคัดเลือกพระโคเพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จำนวน 2 คู่ คือ

  • พระโคแรกนาขวัญ 1 คู่ ได้แก่ พระโคพอ พระโคเพียง
  • พระโคสำรอง 1 คู่ ได้แก่ พระโคเพิ่ม พระโคพูล

พระโคแรกนาขวัญ 2568

พระโคแรกนาขวัญ 1 คู่ ได้แก่ พระโคพอ พระโคเพียง ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 2568

  • พระโคพอ อายุ 13 ปี มีความสูง 165 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 226 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 214 เซนติเมตร 
  • พระโคเพียง อายุ 13 ปี มีความสูง 167 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 239 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 210 เซนติเมตร 

พระโคแรกนาขวัญ 1 คู่ ได้แก่ พระโคเพิ่ม พระโคพูล ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 2568

พระโคเพิ่ม อายุ 15 ปี มีความสูง 162 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 236 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 201 เซนติเมตร  

พระโคพูล อายุ 15 ปี มีความสูง 157 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 242 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 205 เซนติเมตร  

พระโคแรกนาขวัญ - พระโคสำรอง 2568 เป็น "โค" พันธุ์ขาวลำพูน

พระโคแรกนาขวัญ - พระโคสำรอง เป็นโค พันธุ์ขาวลำพูน มีสีผิวขาวอมชมพู ขนสีขาวสะอาด ทั้งลำตัวไม่มีจุดด่างดำ หรือสีอื่นบนลำตัว เขามีสีขาว ลำตัวเป็นลำเทียน เขาทั้งสองข้างมีลักษณะโค้งสวยงาม ดวงตาแจ่มใสสีน้ำตาลอ่อน ขนตาสีชมพู บริเวณจมูกขาว กีบสีขาว ขนหางเป็นพวงสีขาวยาว ลำตัวช่วงขาหลังและกีบ มีความสมบูรณ์แข็งแรง เวลายืนและเดินสง่า

  • นายสมชาย ดำทะมิส บริจาคทรัพย์ซื้อพระโคพอ แล้วมอบให้กรมปศุสัตว์ นำน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และใช้เป็นพระโคแรกนาขวัญ ประจำปี 2568  
  • นายอาคม วัฒนากูล บริจาคทรัพย์ซื้อพระโคเพียง แล้วมอบให้กรมปศุสัตว์ นำน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และใช้เป็นพระโคแรกนาขวัญ ประจำปี 2568 
  • นายทฤษดี ชาวสวนเจริญ อดีตอธิบดีกรมปศุสัตว์ บริจาคทรัพย์ซื้อพระโคเพิ่ม แล้วมอบให้กรมปศุสัตว์ นำน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และใช้เป็นพระโคสำรอง ประจำปี 2568 
  • นายวิจารณ์ ภุกพิบูลย์มอบพระโคพูลให้กรมปศุสัตว์ นำน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และใช้เป็นพระโคสำรอง ประจำปี 2568 

ย้อนรอย โคขาวลำพูน ลักษณะเด่น 

โคขาวลำพูน เป็นโคพื้นเมืองสำหรับใช้งานดั้งเดิม ที่พบกันมากในอำเภอต่าง ๆ ของ จ.ลำพูน และเชียงใหม่ และแพร่กระจายไปยังอำเภอต่างๆ ของ จ.ลำปาง พะเยา และเชียงราย ที่อยู่ใกล้ 

โคขาวลำพูน มีลักษณะที่โดดเด่นคือมีรูปร่างสูงใหญ่ สูงโปร่ง ลำตัวมีสีขาวตลอด พู่หางขาว หนังสีชมพูส้ม จมูกสีชมพูส้ม เนื้อเขาเนื้อกีบสีน้ำตาลส้ม จากลักษณะเด่นเป็นสง่าดังกล่าว จึงได้ถูกคัดเลือกให้เป็นพระโคในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

ความเป็นมาของโคขาวลำพูนนั้น แม้ยังไม่มีผู้ใดศึกษาไว้อย่างจริงจัง และยังไม่ทราบแน่นอนถึงถิ่นกำเนิดที่แท้จริง อยู่ที่ใดและมีมาแล้วตั้งแต่เมื่อใด แต่ที่เริ่มรู้จักกันนั้น มาจากการที่ภาควิชาสัตวบาล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ริเริ่มเลี้ยงฝูงโคขาว ตั้งแต่ พ.ศ.2521 แทนฝูงโคเนื้อลูกผสมพันธุ์ต่างประเทศ เพื่อหาทางศึกษาชี้นำให้มีการอนุรักษ์และปรับปรุงพันธุ์

โคขาวลำพูนเป็นโคพื้นเมืองที่เกิดจากฝีมือและผลงานของชาวบ้านใน จ.ลำพูน มีการพัฒนาสายพันธุ์มานานกว่า 100 ปี เลี้ยงกันแพร่หลายใน จ.ลำพูน และ เชียงใหม่ แล้วแพร่กระจายไปยัง จ.ลำปาง พะเยา เชียงราย

ภาพจาก - กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ซ้อมใหญ่ ครั้งที่ 1 เพื่อเตรียมความพร้อมพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2568 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

ภาพจาก - กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซ้อมใหญ่ ครั้งที่ 1 เพื่อเตรียมความพร้อมพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2568 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

ภาพจาก - กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซ้อมใหญ่ ครั้งที่ 1 เพื่อเตรียมความพร้อมพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2568 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

โคขาวลำพูนเกิดขึ้นมาได้อย่างไรไม่มีหลักฐานแน่ชัด บางท่านเล่าว่า เกิดจากการกลายพันธุ์ของโคพื้นเมืองในสมัยพระนางจามเทวี ผู้ครองนครหริภุญไชยพระองค์แรก เมื่อกว่า 1,340 ปีมาแล้ว และเป็นสัตว์คู่บารมีของชนชั้นปกครอง ในสมัยนั้น ใช้ลากเกวียน แต่หริภุญไชยก็ล่มสลายตั้งแต่ครั้งเมื่อพ่อขุนเม็งรายมหาราชยึดครอง อีกทั้งเป็นเมืองร้าง สมัยพม่าครองเมือง ช่วงกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310

ในตำราฝรั่งบางเล่มกล่าวว่า ต้นตระกูลของโคพื้นเมืองในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ น่าจะเป็นโคยุโรปที่ไม่มีหนอก ซึ่งต่อมาถูกผสมข้ามโดยโคอินเดียที่มีหนอก เพราะโคในภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่มีลักษณะของทั้งโคยุโรปและโคอินเดียรวมกัน คือมีเหนียงคอสั้น หน้าผากแบน และหูเล็กแบบโคยุโรป มีหนอกแบบโคอินเดีย

โคขาวลำพูนมีลักษณะเฉพาะตัว คือ มีสีขาวปลอดทั้งตัว ซึ่งแตกต่างจากโคสีขาวพันธุ์อื่น ๆ ที่ปาก จมูก ขอบตา กีบ เขา และพู่หางสีดำ แต่โคขาวลำพูนจะเป็นสีขาวทั้งหมด และไม่ใช่โคเผือกเพราะตาดำไม่เป็นสีชมพู เนื่องจากมีลำตัวสีขาวจึงทำให้ทนความร้อนจากแสงแดดได้ดีเป็นพิเศษ โคขาวลำพูนนับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมและสังคมเกษตรกรรมของบรรพบุรุษชาวล้านนา ดังนั้น เราไม่ควรปล่อยปละละเลยให้สูญพันธุ์ไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ตามคติของศาสนาพราหมณ์ ตามตำนานกล่าวว่า โคอุสุภราช (เผือกผู้) มีนามว่า พระนนทิ ถือกันว่า เป็นเทพเจ้าแห่งสัตว์จัตุบาท พระนนทิจะแปลงรูปเป็นโคให้พระอิศวรทรง ซึ่งจากความเชื่อนี้คนอินเดียจึงไม่ทานเนื้อโค จึงมีโคเยอะมากในประเทศอินเดีย ไทยเรารับความเชื่อของพราหมณ์มา ดังนั้น ในการประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เริ่มตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ราชวงศ์จักรี ได้กำหนดให้มีพระโคเพศผู้เข้าร่วมในพระราชพิธีนี้

พระโคกินอะไร พยากรณ์ว่าอย่างไรบ้าง

ภาพจาก - กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ภาพจาก - กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ภาพจาก - กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

งานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 2568 ของกิน 7 สิ่ง ที่ตั้งเลี้ยงพระโคนั้น มี ข้าว ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำ และหญ้า ถ้าพระโคกินสิ่งใดก็จะมีคำทำนายไปตามนั้น คือ

  • พระโคกิน ข้าว หรือ ข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี
  • พระโคกิน ถั่ว หรือ งา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
  • พระโคกิน น้ำ หรือ หญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหารผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์
  • พระโคกิน เหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมจะสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง

อ้างอิงข้อมูล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมปศุสัตว์

อ่านข่าว :  คนรักทุเรียนต้องรู้! เคล็ดลับกินอย่างไรให้อร่อยปากไม่ลำบากกาย

เหนื่อยล้า เครียดนอนไม่หลับ เช็กร่างกายกำลังขาด "แมกนีเซียม" โดยไม่รู้ตัวหรือไม่

เดือนพฤษภาคมมีวันแรงงาน - ฉัตรมงคล - พืชมงคล - วิสาขบูชา ธนาคารหยุดวันไหนบ้าง ?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง