ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ครึ่งปี 68 ป่วยโควิดกว่า 41,000 คน กรมควบคุมโรคยันตัวเลขต่ำกว่าปีก่อน

สังคม
9 พ.ค. 68
07:25
1,067
Logo Thai PBS
ครึ่งปี 68 ป่วยโควิดกว่า 41,000 คน กรมควบคุมโรคยันตัวเลขต่ำกว่าปีก่อน
กรมควบคุมโรคเผยผู้ป่วยโควิด-19 รายสัปดาห์เริ่มมีแนวโน้มลดลง แต่ยังสามารถพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี-ตามฤดูกาล ขณะที่ศูนย์จีโนมฯ ชี้สายพันธุ์โควิด-19 ยังมีวิวัฒนาการต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 8 พ.ค.2568 นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า ตั้งแต่วันที่ 4-8 พ.ค. ได้รับรายงานผู้ป่วย 7,013 คน เสียชีวิต 1 คน โดยพบอัตราป่วยสูงสุดในกลุ่มอายุ 0-4 ปี รองลงมากลุ่มอายุ 30-39 ปี และกลุ่มอายุ 20-29 ปี ตามลำดับ ส่วนผู้เสียชีวิตมีอายุ 60 ปีขึ้นไป

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 8 พ.ค.2568 พบผู้ป่วยสะสม 41,197 คน เสียชีวิตสะสม 15 คน ซึ่งจากข้อมูลการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา ประเทศไทยสามารถพบผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง เพราะการแพร่ระบาดของโรคมีความสัมพันธ์กับกิจกรรมหรือการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก รวมถึงปัจจัยด้านฤดูกาล โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนจะมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยรายสัปดาห์เริ่มมีแนวโน้มลดลง

ส่วนโรคไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 8 พ.ค.2568 ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สะสม 322,991 คน อัตราป่วย 497.58 ต่อประชากรแสนคน มีรายงานผู้เสียชีวิต 43 คน ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ (ระหว่างวันที่ 13-26 เม.ย.) ปัจจุบันผู้ป่วยมีแนวโน้มลดลง แต่ยังคงสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง อัตราป่วยสูงสุดพบในกลุ่มอายุ 5-9 ปี รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 0-4 ปี และอายุ 10-14 ปี

ผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังเป็นไปตามคาดการณ์ เนื่องจากกลายเป็นโรคประจำถิ่น สามารถพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี คาดว่าจะพบผู้ป่วยมากขึ้นตั้งแต่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ต่อเนื่องถึงฤดูฝน อีกทั้งจะเข้าสู่ช่วงเปิดเทอม โอกาสที่จะพบการระบาดมากขึ้นจึงเป็นไปได้

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคระบุว่า ในช่วงครึ่งปี 2568 มีจำนวนผู้ป่วย 41,197 คน เสียชีวิต 15 คน มีแนวโน้มลดลง ต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2567 ที่มีผู้ป่วยมากถึง 777,730 คน เสียชีวิต 222 คน และไม่พบการระบาดแบบกลุ่มก้อน เมื่อเที่ยบกับผู้ป่วยปีก่อนๆ พร้อมเตือนประชาชนไม่ประมาท ป้องกันตนเองและระมัดระวังไม่นำเชื้อไปสู่กลุ่มเสี่ยง 608 รักษามาตรการส่วนบุคคล สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในสถานที่แออัดหรือที่ที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก

ด้าน นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค. 2568 จนถึงปัจจุบัน ผู้ป่วยจากโควิด-19 สูงกว่าไข้หวัดใหญ่ถึง 2 เท่า เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน หากใครมีอาการป่วยตอนนี้ แต้มต่อในการเป็นโควิด-19 กับไข้หวัดใหญ่ เท่ากับ 2:1 หรือน่าจะเป็นโควิด-19 ราวร้อยละ 67

ขณะที่ข้อมูลจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดย นพ.สุนทร สุนทรชาติ รองปลัด กทม. เปิดเผยว่า จากการติดตามเฝ้าระวัง พบว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จะเริ่มตั้งแต่เดือนเม.ย. โดยเฉพาะหลังเทศกาลสงกรานต์ เพราะมีการรวมกันของประชาชนจำนวนมาก ต่อเนื่องไปจนถึงเดือน พ.ค. ประกอบกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงจากช่วงฤดูร้อน เริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูฝน อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบจำนวนผู้ป่วยในช่วงเวลาเดียวกันนี้กับปี 2567 และ 2566 ยังไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากจำนวนยังน้อยกว่าที่ผ่านมา

ศูนย์จีโนมฯ ชี้สายพันธุ์โควิด-19 ยังมีวิวัฒนาการต่อเนื่อง

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยการติดตามวิวัฒนาการของโควิด-19 โดยระบุว่า สายพันธุ์ LP.8.1 ซึ่งสืบเชื้อสายมาจาก JN.1 ผ่าน KP.1.1.3 ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการแพร่เชื้อที่เพิ่มขึ้นและการหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ดี กลายเป็นสายพันธุ์ที่แพร่หลายในหลายภูมิภาคช่วงต้นปีนี้

ในขณะที่ XEC ซึ่งเป็นสายพันธุ์ลูกผสม เคยมีสัดส่วนที่สำคัญ แต่เริ่มมีแนวโน้มลดลง การอุบัติขึ้นของสายพันธุ์ใหม่ๆ เช่น LP.8.1 และ XEC เป็นเครื่องเตือนใจว่า โควิด-19 ยังคงปรับตัวอย่างต่อเนื่อง การเฝ้าระวังทางพันธุกรรมอย่างเข้มแข็ง การประเมินความเสี่ยงสม่ำเสมอ และการปรับปรุงมาตรการทางสาธารณสุข รวมถึงวัคซีน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อลดผลกระทบของการระบาดในอนาคต

อ่านข่าว

เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงสัมผัสเชื้อแอนแทรกซ์ ต่อเนื่อง 60 วัน

สั่งเพิ่มความถี่ตรวจวัด-เฝ้าระวังพื้นที่สารหนูปนเปื้อนแม่น้ำกก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง