วันนี้ (9 เม.ย.2568) บริเวณที่มีการชำแหละโคเนื้อ 3 ตัว เพื่อเป็นอาหารในงานแต่งงาน เมื่อวันที่ 28 เม.ย. จุดนี้อยู่ใกล้กับบ้านเรือนของชาวบ้านโนนโพธิ์ ต.ชานุมาน อ.ชานุมาน จ.อำนาจเจริญ ซึ่งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ นำเทปกั้นเขตสีแดงมาปิดล้อมไว้ หลังฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อ เมื่อวันที่ 5 พ.ค.
รวมทั้งนำชิ้นเนื้อโคไปตรวจหาเชื้อแอนแทรกซ์ เนื่องจากชายอายุ 56 ปี ที่มากินซอยจุ๊เนื้อโค ที่ถูกชำแหละบริเวณนี้ เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ด้วยอาการมีตุ่มแผลสีคล้ำ บริเวณน่องซ้าย และปวดเมื่อยตามร่างกาย เข้าข่ายเป็นผู้ป่วยสงสัย แต่ล่าสุด สาธารณสุขจังหวัดอำนาจเจริญ ยืนยันว่า ไม่ติดเชื้อ แต่เป็นแผลเรื้อรังจากโรคเบาหวาน
แม้ผลยืนยันจะออกมาแล้ว แต่เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ ยังคงดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคระบาด ห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ และซากสัตว์ อย่างเข้มงวดต่อไป เนื่องจากโคเนื้อ 2 ใน 3 ตัว ที่นำมาชำแหละในงานแต่งงาน มาจาก 2 หมู่บ้าน ใน ต.บาก อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 10 กิโลเมตร
ชาวบ้านโนนโพธิ์ และ ชาวบ้านโนนกุง กว่า 200 คน ซึ่งเคยถูกระบุว่า เป็นผู้สัมผัสจากการรับประทานอาหารเสี่ยง บอกว่า รู้สึกคลายความกังวลแล้ว กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ งดกินเนื้อดิบและอยากให้เจ้าหน้าที่ เร่งยืนยันว่า ไม่พบการแพร่ระบาดโรคนี้ในสัตว์ เพื่อที่จะได้ขายโค กระบือได้ตามปกติ ไม่กระทบต่อรายได้ของเกษตรกร
เช่นเดียวกับชาวบ้านโคกสว่าง ต.เหล่าหมี อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร จำนวน 636 คน ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ในการติดเชื้อโรคแอนแทรกซ์ ขณะนี้สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ คือ สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่ได้แล้ว หลังจากได้รับยาปฏิชีวนะ สำหรับป้องกันเชื้อโรคแอนแทรกซ์ ครบ 7 วัน โดยทั้งหมด ไม่มีอาการเข้าข่ายติดเชื้อ
คณะกรรมการโรคติดต่อ จ.มุกดาหาร และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์โรคแอนแทรกซ์อีกครั้ง เบื้องต้น คาดว่า เชื้อเข้าสู่สัตว์จากสปอร์ของเชื้อที่ปนเปื้อนในดิน และติดต่อสู่คนจากการสัมผัสเนื้อสัตว์ที่ติดเชื้อ
จากการคาดการณ์ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดมุกดาหาร ได้เก็บตัวอย่างดิน และ ทรายใกล้จุดชำแหละ และบริเวณท่าทราย ริมแม่น้ำโขง รวมทั้งหมด 5 ตัวอย่าง ส่งให้ศูนย์วิจัยและสัตว์แพทย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จังหวัดขอนแก่น ตรวจสอบ สรุปตรวจไม่พบเชื้อ บาซิลลัส แอนทราซิส (Bacillus Anthracis) โดยใช้วิธีเพาะแยกเชื้อ จากตัวอย่างดิน 5 ตัวอย่าง
นายสัตวแพทย์ต่อพงศ์ ประเสริฐสังข์ ปศุสัตว์จังหวัดมุกดาหาร ระบุว่า แม้ว่าจะไม่พบสปอร์เชื้อ ในทรายที่อยู่ใกล้กับจุดชำแหละ แต่เจ้าหน้าที่ยังค้นหาแหล่งที่มาของเชื้อ ว่าจุดเริ่มต้น มาจากที่ไหน และย้ำกับเกษตรกร หากพบสัตว์ตายเฉียบพลัน ให้รีบแจ้งปศุสัตว์ เพื่อตรวจสอบทันที
อ่านข่าวอื่น :