วันที่ 12 พ.ค.2568 ที่ จ.เชียงใหม่ มีเวทีสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติภาคเหนือ ได้จัดเวทีประเมินสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรในภาคเหนือ โดยหนึ่งในประเด็นที่ได้รับความสนใจ และมีข้อกังวลอย่างมากถึงสถานการณ์เหมืองแร่ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ที่กำลังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อแม่น้ำกก และแม่น้ำสาย ตลอดจนลุ่มแม่น้ำโขงเหนือ ที่ได้รับผลกระทบต่อการใช้น้ำ สุขภาพ และระบบนิเวศ
นายสุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น หรือ CPCR (The Center for Protection and Revival of Local Community Rights) กล่าวถึงการแก้ปัญหาเหมืองแร่ในต้นแม่น้ำสายและแม่น้ำกก ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ระบุว่า กรณีเหมืองในประเทศเมียนมา ตนเชื่อว่าไม่ใช่เฉพาะทองคำ ยังรวมถึงแร่หายากอื่น ๆ ด้วย มองว่าอาจจะโยงการทำสงครามการค้าระหว่างประเทศ ของประเทศมหาอำนาจ ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาในการช่วงชิงการครอบครองแร่หายากได้มากที่สุด
การทำเหมืองในเมียนมา ทุกบริษัทสามารถเข้าไปทำได้ โดยไม่ต้องสนใจสิ่งแวดล้อม แรร์เอิร์ธ หรือแร่หายาก ต้องใช้กระบวนการขุด หรือสกัดแร่ จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หลายประเทศทั่วโลก ที่มีแรร์เอิร์ธ จะไม่ทำเพราะเกิดผลกระทบสูง
ส่วนประเทศไทยมีแร่แรร์เอิร์ธ แต่ไม่ทำเพราะมีผลกระทบสูง ส่วนในเมียนมา ยังมีปัญหาการเมืองภายใน การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม จึงไม่ได้ถูกเหลียวแลจากรัฐบาล เพราะมีภาวะสงคราม จึงเกิดการลงทุนของกลุ่มทุนจีน จะเรียกว่าจีนเทา ก็ไม่ได้เพราะมีการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายจากรัฐบาลเมียนมา
นายสุมิตรชัยกล่าวถึงบริษัทจากประเทศจีน ที่ลงมาลงทุนในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ใช้เวลาเพียงแค่ 2-3 ปี ต้องระดมคนทำเหมืองแรร์เอิร์ธ ซึ่งจะทำนานไม่ได้ เพราะผลกระทบสิ่งแวดล้อมสูงมาก จะต้องเร่งทำและดูดเอาแร่ทั้งหมดไปให้เร็วที่สุด
การครอบครองแร่แรร์เอิร์ธ เป็นแร่ที่ใช้ในการประกอบ เช่น การทำอาวุธ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาวุธ น่าจะใช้แร่เหล่านี้เยอะ กรณีที่เป็นอาวุธที่ใช้เทคโนโลยีสูงในปัจจุบัน
นายสุมิตรชัย ตั้งข้อสังเกตถึงสภาวะสงครามทางการค้า กับสงครามตัวแทน กำลังจะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยยกตัวอย่างล่าสุด ประเทศอินเดียซื้ออาวุธจากสหรัฐอเมริกา ส่วนปากีสถานซื้ออาวุธจากจีน ความตึงเครียดในปากีสถานกับอินเดีย ตนมองว่า โยงถึงการหาแร่แร์เอิร์ธเป็นเรื่องของสงครามการค้า และมหาอำนาจโลกด้วย จึงเสนอทางออกการแก้ปัญหาไม่เฉพาะสถานการณ์กลุ่มชาติพันธุ์และรัฐบาลเมียนมา
ดังนั้นปัญหาเหมืองแร่ในรัฐฉาน หากรัฐไทยไปคุยกับจีน ไม่มีทางเกิดการแก้ปัญหา อาจจะต้องใช้เวทีใหญ่เท่านั้น ซึ่งอาจจะต้องยกระดับ เริ่มจากเวทีอาเซียนก่อน ใช้กลไกอาเซียนเป็นเวทีในการเจรจา ไม่ว่าจะเจรจากับสหรัฐอเมริกาหรือจีน เพื่อแก้ปัญหาเหมืองแร่และสิ่งแวดแวดล้อม
ส่วนกรณีในประเทศไทย หากพบว่า มีบริษัทในประเทศไทย หรือสถาบันการเงินที่ให้ทุนร่วมทำเมืองแร่ ต้องหาข้อมูลว่า มีความเกี่ยวข้อง ในการทำเหมืองแค่ไหน ก็สามารถฟ้องศาลไทยได้ด้วย
กรณีเหมืองในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ถ้ามีหลักฐานชัดเจน หรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องจากเหมืองเหล่านี้ ก็ใช้อำนาจศาลไทยในการฟ้องร้องดำเนิน บริษัทในประเทศไทยได้ อาจเริ่มจากหากมีน้ำท่วมที่แม่สาย หรือมีสารพิษตกค้าง อย่างน้อยก็รู้ว่า เป็นการใช้ประเทศไทยเป็นทางส่งผ่าน
นายสุมิตรชัยกล่าวต่อถึงปัญหามลพิษในแม่น้ำที่เกิดจากเหมืองแร่ในเมียนมาว่า ต้องมีคณะทำงานที่ใหญ่กว่าการติดตามสถานการณ์ ต้องมีคณะทำงานที่ดูในด้านกฎหมาย หรือหลักการสากลของอาเซียน ประกอบด้วย แต่ยังกังวลว่า เรื่องนี้จะเงียบหายไป
เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องใหญ่ มากกว่าเรื่องภายในประเทศ อาจจะต้องมีการคุยกับองค์กรระหว่างประเทศ ที่มีประสบการณ์ทำเรื่องเกี่ยวกับผลกระทบข้ามพรมแดน ซึ่งล่าสุดหน่วยงานด้านองค์กรสหประชาชาติ ก็เริ่มสนใจประเด็นนี้
ด้านคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.ภาคเหนือ) ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 /2568 วันนี้ (12 พ.ค.2568) เรื่อง แม่น้ำกกปนเปื้อนสารพิษกำลังฆ่าประชาชน
โดยเนื้อหาระบุถึงสถานการณ์แม่น้ำกกปนเปื้อนสารพิษ และเป็นผลจากการทำเหมืองข้ามพรมแดน ที่ปล่อยสารพิษลงสู่แม่น้ำ ก่อผลกระทบไม่อาจประเมินได้ แต่กำลังขยายวงกว้างทั้งกับคนผู้ใช้ลำน้ำกกหล่อเลี้ยงชีวิต และสิ่งแวดล้อมทั้งมวล ทั้งริมน้ำ สัตว์ พันธุ์ปลาน้อยใหญ่ในน้ำ จึงเรียกร้องไปถึงรัฐบาลไทย ต้องลุกขึ้นปกป้องผู้คน ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ไม่ให้ถูกทำลาย เพราะสารพิษที่ปนเปื้อน
ในส่วนของ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ ขอเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยว่า
1.เร่งแต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาแม่น้ำกกปนเปื้อนสารพิษส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย โดยมีคำสั่งจากนายกรัฐมนตรี หรือมติ ครม. โดยมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานศูนย์แก้ไขปัญหาแม่น้ำกกปนเปื้อนสารพิษส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย
2.การแต่งตั้งคณะกรรมการทุกคณะ ต้องมีสัดส่วนของผู้ได้รับผลกระทบ องค์กรภาคประชาสังคม และภาคส่วนอื่น ๆ
หากรัฐบาลไทยยังไม่สนใจในการแก้ไขปัญหา ขบวนพี่น้องจะรวบรวมกัน เรียกร้องจนปัญหาสำเร็จลุล่วง คืนสิทธิให้แม่น้ำ คืนธรรมชาติให้ผู้คน
รายงาน : โกวิท บุญธรรม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ
อ่านข่าว : เตือนคนไทยสำรองเงิน 6-12 เดือน รับมือเศรษฐกิจยุคทรัมป์
ชาวบ้านยิง จนท.อุทยานเขานันเสียชีวิต อ้างเข้าใจผิดว่าเป็นหมูป่า
นิมนต์พระ 109 รูป ทำบุญให้ผู้ประสบภัยตึก สตง.ก่อนส่งคืนพื้นที่