วันนี้ (13 พ.ค.2568) กทม.ปิดภารกิจการค้นหาผู้สูญหายจากเหตุ ตึก สตง.ถล่ม แต่สิ่งที่ยังไม่จบคือการตรวจสอบหาผู้รับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถูกระบุว่า มี "กิจการร่วมค้า ไอทีดี - ซีอาร์อีซี" คือ บริษัทอิตาเลียนไทย จำกัด และ บริษัทไชน่า เรลเวย์นัมเบอร์ 10 ประเทศไทย ร่วมทุนการก่อสร้าง งบประมาณ 3,560 ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จปี 2569 หลังเกิดเหตุมีหลายหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบสาเหตุอาคารถล่ม และหาผู้รับผิดชอบ โดยแบ่งการตรวจสอบเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ
กลุ่มแรก กรมสอบสวนคดีพิเศษ และกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันตรวจสอบ การถือหุ้นของคนต่างด้าว ในกลุ่มความผิด "นอมินี" จากบริษัทไชน่า เรลเวย์ฯ ซึ่งดีเอสไอ รับเป็นคดีพิเศษ ตรวจพบมี นายชวน หลิง จาง ชาวจีน และคนไทย 3 คน คือ นายมานัส นายประจวบ และนายโสภณ มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะ 3 คนไทย ดีเอสไอ ตรวจสอบ ไม่อยู่ในสถานะผู้ถือหุ้นที่แท้จริง ขณะนี้ทั้ง 4 คนถูกดำเนินคดีและควบคุมตัวในเรือนจำแล้ว
กลุ่มที่ 2 การใช้วัสดุก่อสร้าง ที่ไม่ได้มาตรฐาน ขณะนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม กำลังสอบสวนโดยเฉพาะเหล็กที่ใช้ก่อสร้าง ยังพบโยงไปถึงโรงงานเหล็ก ที่เคยถูกตรวจสอบก่อนหน้านี้ด้วย
กลุ่มที่ 3 สาเหตุที่อาคาร สตง.ถล่ม จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ส่วนนี้ ตำรวจ และกระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบตรวจสอบ และดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการสอบสวนพบ การแก้แบบการก่อสร้างถึง 9 ครั้ง
บช.น.ยังไม่ออกหมายจับ
ขณะที่ พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวนแบ่งกลุ่มผู้รับผิดชอบออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ผู้ออกแบบ ผู้ที่ต้องรับผิดชอบ คือ กรรมการผู้มีอำนาจ และวิศวกร กลุ่มนี้ก็จะประกอบไปด้วย บริษัทฟอรัมอาร์คิเทค และบริษัทไมนฮาร์ท ประเทศไทย จำกัด
ผู้ก่อสร้าง ผู้รับผิดชอบคือ กรรมการผู้มีอำนาจ และวิศวกร ในกลุ่มบริษัทไอทีดี และซีอาร์อีซี และกลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มผู้ควบคุมงาน ผู้รับผิดชอบ คือ กรรมการผู้มีอำนาจและวิศวกร ในกลุ่มบริษัทพีเคดับบลิว
สำหรับการขอศาลอนุมัติหมายจับ รอง ผบช.น.ยืนยัน พนักงานสอบสวน ยังอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน ยังไม่มีการยื่นขอหมายจับใคร
อ่านข่าว : นิมนต์พระ 109 รูป ทำบุญให้ผู้ประสบภัยตึก สตง.ก่อนส่งคืนพื้นที่
จบภารกิจค้นหา กทม.ปิดศูนย์บัญชาการฯ ตึก สตง. ถล่ม 15 พ.ค.นี้
กทม.เตรียมคืนพื้นที่ สตง. หลังยุติภารกิจค้นหาผู้สูญหาย