ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คว่ำงบ 69 แค่มโนเป็นจริงยาก การเมืองส่อตันลุ้นออกหน้าไหน

การเมือง
14 พ.ค. 68
15:48
95
Logo Thai PBS
คว่ำงบ 69 แค่มโนเป็นจริงยาก การเมืองส่อตันลุ้นออกหน้าไหน
อ่านให้ฟัง
06:05อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การถูกหมายเรียกของ สว.55 คน ส่งผลต่อประเด็นความขัดแย้งของ 2 พรรคใหญ่ร่วมรัฐบาล เพื่อไทย-ภูมิใจไทย เพิ่มมากขึ้น ถึงขั้นจะนำไปสู่การคว่ำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาสภาสมัยวิสามัญ 28-30 พ.ค.นี้ จากนั้นจะมียุบสภาตามมา

จึงมีการโรงปฏิเสธเรื่องนี้ของแกนนำรัฐบาล ตั้งแต่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และแกนนำหลายคนในพรรคเพื่อไทย แม้แต่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. และที่ขาดไม่ได้ คือ พรรคภูมิใจไทยที่ถูกจับเป็นพิเศษ ผ่านโฆษกพรรค น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย ระบุเป็นกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และแก้ปัญหาประชาชน

ด้วยหวังจะสยบข่าวนี้ และเพื่อยืนยันสัมพันธภาพพรรคร่วมรัฐบาลยังแน่นปึ้ก บางคนตอบโต้กลับว่าเป็น “การเสี้ยม” อีกต่าง

หากเพราะประเมินแล้วว่า จะมีการขยายผลเป็นแรงกดดันต่อรัฐบาล และหวังสร้างความระส่ำให้กับรัฐบาล ในกรณีที่ร่างกฎหมายสำคัญและเป็นกฎหมายการเงิน หากไม่ผ่านสภา รัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบ หากไม่ลาออกก็ต้องยุบสภา

แต่ที่ผ่านมา ดูเหมือนจะไม่เคยมีเหตุการณ์ดังกล่าว ถึงขั้นรัฐบาลอยู่ไม่ได้มาก่อน ด้วยปัจจัยสำคัญ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ต่างก็หวังอานิสงส์ และอยากเป็นกรรมาธิการงบประมาณฯทั้งสิ้น จนถูกเปรียบเปรยว่า กรรมาธิการงบประมาณ ไม่มีฝ่ายค้านหรือรัฐบาล ต่างจากกรรมาธิการอื่น ๆ ที่จะแยกฝ่ายชัดเจน

ยิ่งพรรคร่วมรัฐบาลที่คุมกระทรวงใหญ่ มีเงินงบประมาณมาก โดยเฉพะด้านการพัฒนา ลงทุน และด้านความมั่นคง ยิ่งไม่อยากให้เกิดปัญหาล่าช้า เพราะจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนนโยบายและการทำงานของรัฐบาล คือมีโครงการ แต่เงินงบประมาณไม่มี ดังที่เห็นได้ในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน กว่าเรื่องงบประมาณจะแล้วเสร็จต้องล่าช้าร่วมครึ่งปี

ที่จริง ข้อวิตกเรื่องจะถูกคว่ำงบ 2569 เชื่อมโยงจากปัญหาภายในของรัฐบาล โดยเฉพาะ 2 พรรคใหญ่ ที่มักจะมีจุดยืนไม่ตรงกัน ร้องเพลงคนละคีย์มาตลอด ผลจากการประสานและเจรจาต่อรองทางการเมืองไม่ลงตัว

เพราะค่ายสีน้ำเงินถูกเชื่อมโยงเกี่ยวพันแนบแน่นกับวุฒิสภา ซึ่งยังคงมีบทบาทสูงในทางการเมือง ไม่เพียงกลั่นกรองกฎหมาย และต้องให้ความเห็นชอบเรื่องบประมาณ และร่างกฎหมายสำคัญ ที่รัฐบาลต้องขับเคลื่อนเท่านั้น ยังมีบทบาทสำคัญ ในการให้ความเห็นชอบกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ที่จ่อคิวรอแทบทุกองค์กรขณะนี้

กูรูการเมืองหลายคน จึงเห็นตรงกันว่า เป็นมูลเหตุที่นำไปสู่การเจรจาต่อรองทางการเมือง ในลักษณะ “ตบ-จูบ” ที่ประดังประเดเข้ามา ในช่วงเวลาที่รัฐบาลต้องมีเอกภาพ รวมเป็นหนึ่งเดียวเพื่อฝ่าฟันปัญหาไปให้ได้

แต่กระนั้น การจะก่อหวอดถึงขั้นโหวตสวน หรือคว่ำร่างกฎหมายงบประมาณปี 69 หลายคน รวมทั้ง รศ.อดิศร เนาวนนท์ นักวิชาการจาก มรภ.นครราชสีมา เห็นว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะไม่มีใครจะได้ประโยชน์ แม้แต่พรรคภูมิใจไทย ตรงกันข้ามจะมีแต่เสียกับเสีย และกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ

ไม่ต่างจาก รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ที่เห็นว่า แม้จะมีการเจรจาต่อรองทางการเมือง ระหว่าง 2 พรรคใหญ่ อาจประสานตกลงกันได้เป็นเพียงบางเรื่อง แต่ไม่สามารถจะยุติปัญหาทั้งหมดได้ เพราะจะเป็นเพียงการประวิงเวลาออกไปเท่านั้น ในเมื่อหลายเรื่องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายไปแล้ว ต้องเดินหน้าต่อไป โดยเฉพาะคดีฮั้วเลือก สว.

รศ.โอฬาร ยังระบุชัดว่า 4 เรื่องสำคัญ ทั้งปมชั้น 14 เรื่องฮั้วเลือก สว. เรื่องกฎหมายกาสิโน และปมขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล จะโยงใยเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กัน จะแยกออกจากกันไม่ได้ จึงเป็นช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองน่าจับตาอย่างมากว่าจะมีทางออกอย่างไร ในช่วงจังหวะที่นายทักษิณ ชินวัตร มีอำนาจการต่อรองที่ด้อยลง

เท่ากับว่า แม้เรื่องงบ 2569 จะไม่ถึงขั้นสะดุดอย่างที่พยายามจุดกระแส นั่นหมายถึงการเมืองยังพอเดินหน้าต่อไป แต่ไม่ได้หมายความว่าปมปัญหาขัดแย้งจากการสร้างดาวคนละดวงจะยุติลงด้วย เพราะเชื่อว่าต่างฝ่ายต่างไม่ยอมให้คนในเครือข่ายต้องเพลี่ยงพล้ำหรือได้รับผลกระทบจากเรื่องฮั้ว สว.แน่นอน

ทางออกหรือทางเลือกทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพียงแต่จะออกหน้าไหน ปรับ ครม. ปรับเล็ก-ปรับใหญ่-ปรับข้ามพรรคหรือปรับเปลี่ยนพรรค ไปกระทั่งการย้ายขั้ว เปลี่ยนตัวนายกฯ หรือยุบสภา หรือนายกฯ ลาออก ล้วนเป็นไปได้

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส

อ่านข่าว : "รศ.ธนพร" ชี้ ปชน.ดองงูเห่าไม่ผิด แต่แนะปรับวิธีคิด-ท่าทีร่วมรัฐบาล

ลาออก vs ขับออก กระทบสถานะ สส.? หลัง "กฤษฎิ์" ขอ ปชน.ขับพ้นพรรค

"ศร." สั่ง "ทวี " หยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะคุม "ดีเอสไอ - รอง ปธ.กก.คดีพิเศษ"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง