ทุกๆวันควายไทยสายพันธุ์ลำพูน จำนวนกว่า 120 ตัวของศูนย์อนุรักษ์ควายไทย ตำบลท่าตุ้ม อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน จะถูกปล่อยจากคอกกัก เพื่อลงไปกินหญ้า ซึ่งเป็นการเลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติ เพื่อให้ควายได้ผ่อนคลายและมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง

นานกว่า 10 ปีแล้วที่นายประสิทธิ์ มณีวรรค์ ชาวจังหวัดลำพูน ที่ได้จัดตั้งศูนย์อนุรักษ์ฯแห่งนี้ขึ้น เพื่อต้องการอนุรักษ์ควายสายพันธุ์ลำพูน ไม่ให้สูญหายไปกับกาลเวลา

นายประสิทธิ์ บอกว่า ตั้งแต่เด็กเห็นพ่อแม่ ใช้ควายในการไถนา ทำการเกษตร มีความผูกพันมาตลอดชีวิต เมื่อมีกำลังมากพอ จึงซื้อควายและไถ่ชีวิตควายที่จะถูกเชือดมาเลี้ยง เพื่อต้องการให้คนรุ่นใหม่ เข้ามาศึกษาและเรียนรู้ โดยยอมรับแม้ประเทศไทยจะมีวันอนุรักษ์ควายไทย แต่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่และหลายๆหน่วยงานภาครัฐให้ความสนใจเลี้ยงและอนุรักษ์ควายน้อยลง ภาพฝูงควายจึงหาดูได้ยากมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการปล่อยให้หากินตามธรรมชาติ จึงอยากให้ภาครัฐเห็นความสำคัญเข้ามาดูแลอนุรักษ์อย่างจริงจัง

ประสิทธิ์ มณีวรรค์ ผู้จัดตั้งศูนย์อนุรักษ์ควายไทย จ.ลำพูน
ประสิทธิ์ มณีวรรค์ ผู้จัดตั้งศูนย์อนุรักษ์ควายไทย จ.ลำพูน
ปัจจุบันศูนย์อนุรักษ์ควายไทย ใช้เงินส่วนตัวในการเลี้ยงและดูแลควายกว่า 120 ตัว มีชาวบ้านและหลายหน่วยงานเข้ามาศึกษาดูงานต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากการเลี้ยงควาย ศูนย์อนุรักษ์แห่งนี้ยังมีการเลี้ยงวัวอีกกว่า 70 ตัวด้วย เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้และการอนุรักษ์วัว ควายในอนาคต

สำหรับวันที่ 14 พฤษภาคม ของทุกปี คณะรัฐมนตรีได้มีมติ ให้เป็นวันอนุรักษ์ควายไทย เนื่องจากปัจจุบันจำนวนควายไทยและผู้เลี้ยงควายไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งควายยังเป็นสัตว์ที่ไม่ได้รับความเอาใจใส่จากทางภาครัฐในการส่งเสริมและสนับสนุนในการสร้างเสริมอาชีพ การกำหนดวันนี้ขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักให้กับคนไทยถึงความสำคัญของควายและช่วยกันอนุรักษ์ก่อนที่ควายไทยจะสูญพันธุ์ไป และอีกเหตุผลที่กำหนดให้เป็นวันที่ 14 พฤษภาคม เนื่องมาจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชกระแสรับสั่งถึงหลักการดำเนินโครงการธนาคารโค-กระบือ เป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นแนวทางในการอนุรักษ์ควายไทยสืบมาจนถึงปัจจุบัน

ส่วนจำนวนประชากรควายในประเทศไทย ข้อมูลจากศูนย์สนเทศทางกระบือนานาชาติ (IBIC) สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่าในปี 2567 มีจำนวนควายทั้งสิ้น 1,817,289 ตัว โดยจังหวัดที่มีจำนวนควายมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ บุรีรัมย์ 164,855 ตัว รองลงมาคือ สุรินทร์ 155,366 ตัว อุบลราชธานี 139,083 ตัว ศรีสะเกษ 97,102 ตัว และจังหวัดสกลนคร 94,634 ตัว
แท็กที่เกี่ยวข้อง: