วันนี้ (15 พ.ค.2568) นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 กล่าวถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา รพ.ขอนแก่น ขาดสภาพคล่อง 1,237 ล้านบาท ว่า หลังจาก นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แต่งตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด คือ
- คณะกรรมการติดตามสถานการณ์และวางนโยบายแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลขอนแก่นขาดสภาพคล่อง
- คณะกรรมการแก้ไขปัญหาวิกฤตด้านการเงินการคลังของโรงพยาบาลขอนแก่น
ได้มีการประชุม 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 9 และ 25 เม.ย.2568 เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ ทบทวนการบริหารจัดการช่วงที่ผ่านมา และสืบสวนหาสาเหตุของปัญหาเพื่อแก้ไขได้ถูกจุด โดย นพ.ภาคี ทรัพย์พิพัฒน์ สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 7 ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาวิกฤตด้านการเงินการคลังฯ รายงานว่า ตรวจพบรายรับเงินบำรุงไม่เป็นไปตามแผน เนื่องจากขาดประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ ผู้ป่วยสิทธิข้าราชการและชำระเงินเองมีน้อยกว่าโรงพยาบาลที่ขนาดและปริมาณผู้ป่วยใกล้เคียงกัน เพราะมีทางเลือกไปรับบริการที่โรงพยาบาลอื่น
ขณะที่การควบคุมรายจ่ายเงินบำรุงก็ไม่มีประสิทธิภาพและไม่เป็นไปตามแผน โดยมีต้นทุนค่าแรงสูงกว่าโรงพยาบาลที่ขนาดและปริมาณผู้ป่วยใกล้เคียงกัน และยังขาดประสิทธิภาพในการควบคุมกำกับการบริหารจัดการภายใน
ดังนั้นในระยะแรกคณะกรรมการฯ จึงวางเป้าหมายที่จะหยุดการขาดทุนของกระแสเงินสดหรือเงินบำรุง ให้มีรายรับมากกว่าหรือเท่ากับรายจ่าย โดยเจ้าหนี้ไม่เพิ่มขึ้นและมีปริมาณคงคลังที่เหมาะสม โดยให้โรงพยาบาลดำเนินการตามแนวทางและมาตรการดังนี้
- ร่วมกันจัดทำแผนเงินบำรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง โดยจัดทำเป็นแผนสมดุลรายรับและรายจ่ายเงินบำรุง และให้คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลควบคุมกำกับอย่างเคร่งครัด
- จัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจด้านการจัดเก็บรายได้ โดยการมีส่วนร่วมของแผนกต่าง ๆ เพื่อเพิ่มรายรับเงินบำรุงให้มากกว่าร้อยละ 10
- ให้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องด้านต้นทุนพัสดุ ทบทวนรายการที่มีมูลค่าการใช้สูงสุด 20 อันดับแรก และกำหนดมาตรการควบคุมการใช้ให้เหมาะสม เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายด้านพัสดุให้ลดลงมากกว่าร้อยละ 20
- ให้คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลควบคุมการจัดซื้อจัดจ้างให้เป็นไปตามระเบียบและแผนเงินบำรุง
- ให้มีการจัดทำ Dashboard สถานการณ์การเงินของโรงพยาบาลเพื่อสื่อสารให้บุคลากรรับทราบข้อมูลและให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา
- แก้ไขปัญหาสภาพคล่อง โดยเร่งรัดการเรียกเก็บลูกหนี้จากหน่วยบริการภายในจังหวัดและเขตสุขภาพ พร้อมทั้งนำมาตรการเพิ่มรายรับและควบคุมรายจ่ายเงินบำรุงจากคณะทำงานที่เกี่ยวข้องมาจัดทำ "แผนฟื้นฟูกิจการ" เสนอคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ และขอรับความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากส่วนกลาง
- ให้คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลเร่งแก้ไขตามข้อเสนอแนะของกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข
คณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ จะติดตามการดำเนินงานตามมาตรการเป็นประจำทุกเดือน เพื่อประเมินสถานการณ์และปรับเปลี่ยนมาตรการให้เหมาะสม พร้อมทั้งจะประสานกลุ่มตรวจสอบภายในของกระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนทีมมาช่วยตรวจสอบการดำเนินงานของโรงพยาบาลที่ผ่าน ๆ มาด้วย เพื่อค้นหาปัญหาและแก้ไขให้ตรงจุด
เบื้องต้นจากการดำเนินมาตรการต่างๆ ประมาณ 1 เดือน พบว่าสถานการณ์เริ่มทรงตัว จากเดือนเมษายนที่ผ่านมา ติดลบ 1,237 ล้านบาท ล่าสุดวันที่ 13 พ.ค. ติดลบ 1,175 ล้านบาท ลดลงประมาณ 62 ล้านบาท ซึ่งการแก้ไขเรื่องนี้ต้องใช้ระยะเวลาและต้องร่วมกันดำเนินการให้ได้ตามแนวทางมาตรการที่วางไว้ นพ.เอกชัย กล่าว
อ่านข่าวเพิ่ม :
แพทยสภา ส่งมติลงโทษ 3 แพทย์ ปมชั้น 14 ถึงมือ "สมศักดิ์"
ออกหมายจับ "เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง" คดียักยอกเงิน 300 ล้าน
เปิดประวัติ “เจ้าคุณแย้ม” พระธรรมวชิรานุวัตร เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง