มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2568 เตือนภัยจากการทำเหมืองแรร์เอิร์ธ (แร่หายาก) ในพื้นที่เมืองยอน ทางตอนใต้ของเมืองสาด รัฐฉาน ประเทศเมียนมา ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนไทยบริเวณ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ เพียง 25 กิโลเมตร
ภาพถ่ายดาวเทียมเผยให้เห็นการขุดเจาะใน 2 พื้นที่ใกล้แม่น้ำกก ซึ่งอาจก่อให้เกิดมลพิษร้ายแรงจากสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการสกัดแร่ ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำและสุขภาพของประชาชนกว่า 1,000,000 คน ที่อาศัยอยู่ท้ายน้ำทั้งในรัฐฉานและภาคเหนือของประเทศไทย
ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นการทำเหมืองแรร์เอิร์ธใน 2 จุดหลักของเมืองยอน โดยจุดแรกอยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำกก ห่าง 3.6 กิโลเมตร เริ่มดำเนินการตั้งแต่กลางปี 2566 และจุดที่ 2 อยู่ทางตะวันตก ห่าง 2.6 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่กลางปี 2567 ลักษณะของเหมืองมีบ่อน้ำสำหรับละลายแร่เรียงเป็นวงกลมหลายชั้น คล้ายกับเหมืองแรร์เอิร์ธในรัฐคะฉิ่นที่ขุดแร่เทอร์เบียม (Terbium) และดิสโพรเซียม (Dysprosium) โดยบริษัทจีน กระบวนการสกัดแร่นี้ใช้สารเคมีที่มีพิษสูง เทผ่านท่อลงสู่เนินเขาเพื่อละลายแร่ ก่อนสูบไปยังบ่อน้ำและเติมสารเคมีเพิ่มเพื่อแยกแรร์เอิร์ธ ซึ่งเป็นวิธีที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง

ที่มา : มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่
ที่มา : มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่
มูลนิธิฯ ชี้แจงว่า การทำเหมืองแรร์เอิร์ธในเมืองยอนมีลักษณะแตกต่างจากเหมืองทองคำที่ดำเนินการอยู่ใกล้แม่น้ำกกในพื้นที่เดียวกัน ภาพถ่ายดาวเทียมของเหมืองทองคำในเมืองยอนและเมืองกาน รัฐฉาน แสดงให้เห็นบ่อละลายแร่ที่ตั้งตามริมฝั่งแม่น้ำ ซึ่งต่างจากโครงสร้างวงกลมของบ่อแรร์เอิร์ธอย่างชัดเจน การแยกแยะนี้สำคัญ เพราะเหมืองแรร์เอิร์ธก่อให้เกิดมลพิษที่รุนแรงกว่า และอาจซ้ำเติมปัญหามลพิษจากเหมืองทองคำที่มีอยู่เดิม

ที่มา : มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่
ที่มา : มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่
ประสบการณ์จากเหมืองแรร์เอิร์ธในรัฐคะฉิ่นแสดงให้เห็นถึงความเสียหายร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การใช้สารเคมี เช่น กรดซัลฟิวริกหรือแอมโมเนียมซัลเฟต ทำให้เกิดดินถล่ม มลพิษในน้ำใต้ดินและน้ำผิวดิน ส่งผลให้ปลาและสัตว์ป่าตาย พืชผลทางการเกษตรปนเปื้อน และชุมชนใกล้เคียงเผชิญปัญหาสุขภาพ เช่น โรคผิวหนังและระบบทางเดินหายใจ ในกรณีของเมืองยอน ความใกล้ชิดกับแม่น้ำกกทำให้สารพิษจากเหมืองมีโอกาสไหลลงสู่แหล่งน้ำสำคัญ ซึ่งไหลผ่าน ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ต่อไปยัง จ.เชียงราย และลงสู่แม่น้ำโขงที่ อ.เชียงแสน ส่งผลกระทบต่อชุมชนท้ายน้ำทั้งในเมียนมาและไทย

ที่มา : มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่
ที่มา : มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่
มูลนิธิฯ ระบุว่า เหมืองแรร์เอิร์ธในเมืองยอนอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพเมียนมาและกองทัพว้า (United Wa State Army) ซึ่งเพิ่มความซับซ้อนในการตรวจสอบและแก้ไขปัญหา การที่เหมืองตั้งอยู่ใกล้ชายแดนไทยเพียง 25 กม. ทำให้เกิดความกังวลเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดน โดยเฉพาะต่อสุขภาพของประชาชนใน จ.เชียงใหม่และเชียงราย รวมถึงระบบนิเวศของแม่น้ำกกและแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญของภูมิภาค

มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่เรียกร้องให้หน่วยงานทั้งฝั่งไทยและเมียนมาเร่งติดตามข้อมูลเกี่ยวกับเหมืองแรร์เอิร์ธในเมืองยอน และเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อสาธารณะอย่างโปร่งใส เพื่อประเมินผลกระทบและวางมาตรการป้องกันมลพิษ นอกจากนี้ ยังขอให้มีการตรวจสอบกระบวนการทำเหมืองอย่างละเอียด รวมถึงแหล่งที่มาของสารเคมีและการจัดการของเสีย เพื่อปกป้องสุขภาพของชุมชนและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว


อ่านข่าว :
"แม่น้ำกก" วันนี้เหมือน "คลิตี้" ในวันวาน