ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“สมณศักดิ์” เกี่ยวกับ “พระสังฆาธิการ” อย่างไร ทำไม “เจ้าคุณแย้ม” จึงเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ?

สังคม
17 พ.ค. 68
14:47
180
Logo Thai PBS
“สมณศักดิ์” เกี่ยวกับ “พระสังฆาธิการ” อย่างไร ทำไม “เจ้าคุณแย้ม” จึงเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

กรณี “พระธรรมวชิรานุวัตร” อดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง และ เจ้าคณะภาค 14 ถูกศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อนุมัติหมายจับ ในความผิดฐาน “เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ หรือจัดการรักษาทรัพย์ แต่กลับเบียดบัง หรือทุจริตทรัพย์นั้นมาเป็นของตน, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต”

หลังเกิดข้อร้องเรียนมาตั้งแต่ปี 2567 ว่า ได้ยักยอกเงินของวัดไร่ขิง จำนวนกว่า 300 ล้านบาท เพื่อเล่นพนันออนไลน์

“เจ้าคุณแย้ม” หรือ พระธรรมวชิรานุวัตร เป็น “เจ้าพนักงานของรัฐ” ยังไง

ไทยพีบีเอสออนไลน์ เรียบเรียงกรณีนี้ให้เข้าใจง่ายเป็น 2 ส่วน
(1) ส่วนแรกคือ “สมณศักดิ์” คือ ชื่อ “พระธรรมวชิรานุวัตร”
(2) ส่วนที่สองคือ “ตำแหน่งทางการปกครอง” หรือ ในทางกฎหมายของ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 (2) แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 เรียกว่า “พระสังฆาธิการ”

ใครบ้างเป็น "พระสังฆาธิการ"

“พระสังฆาธิการ” คือ ผู้ดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ คือ
- เจ้าคณะใหญ่
- เจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค
- เจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด
- เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ
- เจ้าคณะตำบล รองเจ้าคณะตำบล
- เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส

ในส่วนนี้จะแบ่งออกเป็น 2 นิกาย ที่แตกต่างกัน คือ มหานิกาย กับ ธรรมยุติกนิกาย ทั้งหมดอยู่ภายใต้การปกครองของ “สมเด็จพระสังฆราช”

หากเป็น “มหานิกาย” พระสังฆาธิการสูงสุด คือ เจ้าคณะใหญ่ คือ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก เจ้าคณะใหญ่หนใต้ รวม 4 รูป

รองลงมาคือ เจ้าคณะภาค ที่ปกครองหลายจังหวัดในแต่ละภูมิภาค ส่วนของมหานิกาย มี 18 รูป ปกครอง 18 ภาค ซึ่งพระธรรมวชิรานุวัตร หรือ เจ้าคุณแย้ม เป็นเจ้าคณะภาค 14 ปกครอง 4 จังหวัด คือ จังหวัดนครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี สมุทรสาคร

ส่วน “ธรรมยุติกนิกาย” มีพระสังฆาธิการสูงสุดคือ “เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติ” ซึ่งดูแลพระธรรมยุติกนิกาย ทั่วประเทศ รองลงมาคือ เจ้าคณะภาค ซึ่งมีทั้งหมด 11 รูป ดูแล 18 ภาค

ปกครองลดหลั่นกันมา ตามลำดับชั้น เป็น เจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล รองเจ้าคณะตำบล ไปจนถึงเจ้าอาวาสวัด

ทั้งหมดนี้นับเป็น “พระสังฆาธิการ” ที่อยู่ภายใต้ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 (2) แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535

ส่วนตำแหน่งอื่นที่อาจจะพบเห็น ก็ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเป็น “พระสังฆาธิการ” หรือไม่ เช่น ที่ปรึกษาเจ้าคณะ... เลขานุการเจ้าคณะ... หรือตำแหน่งกิตติมศักดิ์ ไม่ได้นับเป็นพระสังฆาธิการตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ

และอาจจะมีข้อสงสัยว่า “สมเด็จพระสังฆราช” และ “คณะกรรมการมหาเถรสมาคม” นับเป็น “พระสังฆาธิการ” หรือไม่ เพราะมีบทบาทในการปกครองสงฆ์เช่นเดียวกัน

คำตอบคือ สมเด็จพระสังฆราช และคณะกรรมการมหาเถรสมาคม “ไม่นับเป็นพระสังฆาธิการ” เพราะ “สมเด็จพระสังฆราช” เป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคม โดยตำแหน่ง

ส่วน “กรรมการมหาเถรสมาคม” ไม่เกิน 20 รูป ซึ่งพระมหากษัตริย์ ทรงแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ หรือพระภิกษุซึ่งมีพรรษาอันสมควรและมีจริยวัตรในพระธรรมวินัย ที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์ รวมพระเถรานุเถระ ที่เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม 21 รูป ดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี

ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 (2) แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 เช่นเดียวกับ “พระสังฆาธิการ”

แต่อยู่ภายใต้ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2561

“พระสังฆาธิการ” มีหน้าที่อะไร

“พระสังฆาธิการ” มีหน้าที่และบทบาทสำคัญ ในการปกครองคณะสงฆ์ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ควบคุมดูแลปกครองคณะสงฆ์ ให้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศของคณะสงฆ์ หรือพระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราช

โดยสรุปคือ พระธรรมวชิรานุวัตร เป็นพระสังฆาธิการ จึงเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ซึ่งมีทั้งอำนาจ หน้าที่ และเงินเดือน (นิตยภัต)

อ่านข่าว : "อัตรานิตยภัต" หรือ "เงินเดือนพระสงฆ์" จากอดีตถึงปัจจุบัน

“สมณศักดิ์” คืออะไร

พระสงฆ์ที่มีชื่อ ตัวอย่างเช่น พระพรหมมุนี พระธรรมดิลก พระเทพวิสุทธิญาณ พระราชสุมนต์มุนี พระศรีวิสุทธาภรณ์ พระครูพิศาลวินัยวาท เป็นต้น

ชื่อเช่นนี้เรียกว่า “สมณศักดิ์” ส่วนที่ต้องมีวงเล็บ ชื่อเดิมไว้ด้านหลังด้วย เช่น พระธรรมวชิรานุวัตร (แย้ม กิตฺตินฺธโร) เนื่องจากสมณศักดิ์ อาจจะเปลี่ยนแปลงไปให้พระรูปอื่น ตามที่ได้รับพระราชทาน

เช่น ณ วันนี้ สมณศักดิ์ที่ “พระธรรมวชิรานุวัตร” นับว่าว่างลง เพราะผู้ดำรงสมณศักดิ์ ได้ลาสิกขาแล้ว ในอนาคตสมณศักดิ์ชื่อนี้ อาจจะไปอยู่กับพระรูปอื่นที่ได้รับพระราชทาน แต่จะต่างกันคือ ชื่อในวงเล็บด้านหลัง

ปัจจุบัน คณะสงฆ์ไทย มีพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์ ดังนี้
- สมเด็จพระสังฆราช 1 พระองค์
- สมเด็จพระราชาคณะ 10 รูป
- พระราชาคณะเจ้าคณะรอง 23 รูป
- พระราชาคณะชั้นธรรม 50 รูป
- พระราชาคณะชั้นเทพ 100 รูป
- พระราชาคณะชั้นราช 210 รูป
- พระราชาคณะชั้นสามัญ 510 รูป
- พระครูสัญญาบัตรชั้นตรี-โท-เอก-พิเศษ(ไม่จำกัดจำนวน)
- พระครูฐานานุกรม ตั้งได้ตามจำนวนที่ปรากฏในสัญญาบัตรของพระราชาคณะ
- พระครูประทวนสมณศักดิ์ (พระครูผู้อุปการะการศึกษา) (ไม่จำกัดจำนวน)
- พระเปรียญ ป.ธ.9 - ป.ธ.8 - ป.ธ.7 - ป.ธ.6 - ป.ธ.5 - ป.ธ.4 - ป.ธ.3

สำหรับการพิจารณาแต่งตั้งสมณศักดิ์ในปัจจุบัน เป็นหน้าที่ของคณะสงฆ์ จะช่วยกันพิจารณาให้ความเห็นชอบตามลำดับขั้น คือ จากเจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะภาค และเจ้าคณะใหญ่

เมื่อได้รับความเห็นชอบจากเจ้าคณะผู้ปกครองตามลำดับแล้ว สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จึงจะเสนอเรื่องเพื่อนำความกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานสมณศักดิ์ ตามระเบียบของทางราชการ

แต่ในการพระราชทานสมณศักดิ์ชั้นสูง เช่น สมเด็จพระสังฆราช หรือสมเด็จพระราชาคณะ ทางคณะสงฆ์ จะถวายพระเกียรติแด่องค์พระมหากษัตริย์ ด้วยการเสนอนามพระเถระ ที่เห็นสมควรขึ้นไปหลายรูป เพื่อให้ทรงพิจารณาตามพระราชอัธยาศัย เป็นธรรมเนียมปฏิบัติเสมอมา เพราะพระราชอำนาจส่วนนี้เป็นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกรัชกาลเพียงพระองค์เดียว

อ่านข่าว : แต่งตั้ง "พระราชวชิรสุตาภรณ์" รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง

การพิจารณาขอพระราชทาน “สมณศักดิ์”

ในงานวิจัยเรื่อง “สมณศักดิ์ : ข้อดีและปัญหา” ของ ศ.ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ ระบุหลักเกณฑ์การพิจารณาแต่งตั้งสมณศักดิ์ ว่า เป็นการพิจารณาคุณสมบัติและผลงานด้านต่าง ๆ ของพระสงฆ์ 2 อย่าง คือ

1.คุณสมบัติส่วนตัวและส่วนวัด พระสงฆ์ที่จะขอพระราชทานสมณศักดิ์ จะต้องมีคุณสมบัติส่วนตัวและส่วนที่เกี่ยวกับวัดตามที่กำหนดไว้ เช่น พระสงฆ์ที่จะขอพระราชทานสมณศักดิ์ต้องมีคุณสมบัติพื้นฐานคือ เป็นพระสังฆาธิการ ตั้งแต่ระดับ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ขึ้นไป และมีพรรษาพ้น 10 เว้นแต่กรณีพิเศษ

รวมทั้งมีพระภิกษุอยู่จำพรรษาในวัดของตนครบคณะสงฆ์ หรือมีพระภิกษุจำพรรษาไม่ครบคณะสงฆ์ แต่มีสามเณรอยู่จำพรรษามากพอสมควร โดยให้นับจากปีปัจจุบันย้อนหลังไป 3 พ.ศ. เป็นต้น

2.ผลงาน พระสงฆ์ที่จะได้รับการพิจารณาสมณศักดิ์ จะต้องมีผลงานต่าง ๆ โดยเฉพาะผลงานด้านสาธารณูปการคือ การก่อสร้างและบูรณะปฏิสังขรณ์ศาสนสถาน หรือถาวรวัตถุมาประกอบการพิจารณาด้วย

โดยพิจารณาจากจำนวนเงิน ที่ใช้จ่ายในการก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ ซึ่งมีเกณฑ์ที่กำหนดไว้คือ ในเขตปกครองหนกลาง ต้องมีจำนวนเงินตั้งแต่ 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาท ) ขึ้นไป ในเขตปกครองหนเหนือ หนตะวันออก และหนใต้ ต้องมีจำนวนเงินตั้งแต่ 150,000 บาท (หนึ่งแสนห้าหมื่นบาท) ขึ้นไป เฉพาะในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค4 และภาค 5 ต้องมีจำนวนเงินตั้งแต่ 500,000 บาท (ห้าแสนบาท) ขึ้นไป

นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งได้อีก 2 ประเภท คือ
1.สมณศักดิ์ ที่เกี่ยวกับความรู้ คือ พระมหากษัตริย์ทรงตั้งขึ้นเพื่อถวายพระภิกษุ-สามเณร ที่สอบไล่ได้เปรียญธรรมตั้งแต่ 3 ถึงเปรียญ 9 ประโยค โดยแต่ละประโยคมีพัดยศกำกับ
2.สมณศักดิ์ เกี่ยวกับผลงาน คือสมณศักดิ์ที่ได้รับการแต่งตั้ง จากการพิจารณาผลงาน ด้านต่าง ๆ มีสาธารณูปการ และการศึกษา เป็นต้น

"สมณศักดิ์" กับ "พระสังฆาธิการ" เกี่ยวข้องกันยังไง

โดยสรุปคือ การพระราชทานสมณศักดิ์ นอกจากจะได้รับพระราชทานเพราะความรู้ความสามารถเฉพาะตัวของพระรูปนั้นแล้ว เช่น เป็นพระสงฆ์ที่เรียนเก่ง สอบไล่ได้เปรียญธรรมตั้งแต่ 3 ถึงเปรียญ 9 ประโยค หรือเป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เช่น พระสายวิปัสสนา หรือพระสายวัดป่า

ยังมีอีก 2 เงื่อนไขที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งอยู่ในกติกาก็คือ การเป็น “พระสังฆาธิการ” มาก่อน เช่นเป็น เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เป็นต้น หรือบวชมาแล้วกี่พรรษา ตามระเบียบ ต้องมีพระในปกครองกี่รูป

ส่วนเงื่อนไขที่สอง ที่เรามักเห็นมากก็คือ การพิจารณาจากจำนวนเงิน ที่ใช้ในการก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์วัด

นั่นหมายความว่า ถ้าใช้เงินสร้างพระอุโบสถ วิหาร ศาลา มากเท่านั้นเท่านี้ ก็จะมีโอกาสได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ (ในข้อนี้ต้องเข้าใจว่า เป็นกติกาที่มีมานาน เพื่อกระตุ้นให้เจ้าอาวาสวัดมีการพัฒนาศาสนสถาน)

ทำให้เรามักเห็นวัดในประเทศไทย มีสิ่งก่อสร้างใหญ่โต ใช้งบประมาณจำนวนมาก มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลาไม่จบสิ้น และมักจัดงานเพื่อเรี่ยไรเงินทำบุญในแทบทุกปี

อ่านข่าว : เส้นทางการเงินคดีอดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง เกิน 300 ล้านบาท

หลุมดำยักยอกเงินวัด นักวิชาการชี้ขาดกลไกตรวจสอบ เจ้าอาวาสอำนาจล้นมือ

คุมฝากขัง "อดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง" - โบรกเกอร์สาวเว็บพนัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง