วันนี้ (18 พ.ค.2568) นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงการเข้าชื่อ สว. เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยต่อประเด็นที่มี สว. กลุ่มหนึ่งถูกตรวจสอบกรณีฮั้ว สว. ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่างคำร้องที่จะยื่นต่อ นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ
เบื้องต้นคาดว่าภายในวันพรุ่งนี้ (19 พ.ค.) จะดำเนินการแล้วเสร็จและส่งให้ สว. อิสระทั้งหลาย พิจารณาร่วมลงชื่อ 1 ใน 10 จาก 200 หรือ 20 คน สำหรับสาระสำคัญของคำร้อง คือ จะขอให้ สว. ทั้ง 200 คน หยุดปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระทั้งกระบวนการ เช่น การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรม การลงมติ เป็นต้น
โดยมีเหตุผลคือ การหยุดปฏิบัติหน้าที่เฉพาะส่วนดังกล่าวของ สว. ทุกคนเพื่อให้เกิดความเสมอภาค และไม่ลักลั่น
"เหตุผลที่ขอให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะ สว. จำนวนมาก ที่ถูกตรวจสอบจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ คณะกรรมการการเลือกตั้ง และเชื่อว่าจะมี สว. เกินกึ่งหนึ่งที่น่าจะถูกยื่นข้อกล่าวหา และกระบวนการนี้ดำเนินการอยู่ แปลว่าที่มาของ สว. ไม่ชัดเจนว่ามาโดยถูกต้องชอบธรรม สุจริตหรือไม่ ดังนั้นหากที่มาไม่ชัดเจน และเข้าไปทำหน้าที่เห็นชอบกรรมการรองค์กรอิสระนั้นจะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ทันที เพราะเมื่อ สว. ได้เห็นชอบองค์กรอิสระ ที่มีหน้าที่ตรวจสอบที่มาของ สว. จึงมีลักษณะต่างตอบแทนกัน ไม่ใช่การตรวจสอบที่สุจริตโปร่งใสยุติธรรม" สว.นันทนา กล่าว
สว.นันทนา กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นแล้วหากกระบวนการเห็นชอบองค์กรอิสระเดินหน้า อาจจะมีผลกระทบต่อการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระที่อาจถูกร้องว่าเป็นโมฆะได้ หาก สว. ฐานะผู้ที่เห็นชอบกรรมการองค์กรอิสระนั้นถูกชี้ว่าเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติ ดังนั้นเมื่อมีความไม่ชัดเจน อยากให้ สว. หยุดปฏิบัติเฉพาะส่วน ไม่ควรไปต่อ และขอให้หยุดจนกว่ากระบวนการตรวจสอบสิ้นสงสัย เมื่อกระบวนการตรวจสอบ สว. แล้วเสร็จ การกลับเข้าสู่การเลือกกรรมการองค์กรอิสระใหม่ ตนมองว่าไม่สายเกินไป และดีกว่าการดันทุรังให้เกิดการเห็นชอบ
นันทนา กล่าวด้วยว่ากระบวนการเข้าชื่อและยื่นคำร้องดังกล่าวจะทำให้เร็วที่สุด เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาก่อนที่วุฒิสภาจะนัดประชุมในช่วงการประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ ในวันที่ 29 พ.ค. นี้ เบื้องต้นเชื่อว่าจะมี สว.ร่วมสนับสนุนเกินจำนวนที่กำหนด
ส่วนในคำร้องดังกล่าวมีประเด็นให้วินิจฉัยการขาดสมาชิกภาพเพราะฝันใฝ่พรรคการเมืองด้วยหรือไม่ นันทนา กล่าวว่า ยังไม่ได้ข้อสรุปเป็นมติชัดเจน
เมื่อถามว่านอกจากการหยุดปฏิบัติหน้าที่เฉพาะส่วนจะมีในเรื่องการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. ด้วยหรือไม่ นันทนา กล่าวว่า ในการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. สำคัญ เช่น ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าตามกฎหมายงบประมาณ สว. ไม่มีอำนาจมาก เพราะไม่สามารถ รัด เพิ่ม หรือแก้ไขได้ มีเพียงอย่างเดียวคือ การลงมติ ดังนั้นบทบาท สว. ในกระบวนการพิจารณางบประมาณ ไม่มากนัก อีกทั้งเรื่องงบปะมาณเป็นเรื่องสำคัญชะลอไม่ได้
อ่านข่าวเพิ่ม :
"วัดไร่ขิง" 24 ชั่วโมง กับรายได้ 80 -100 ล้านบาท
“นายกฯ” เปิดทำเนียบฯ 19 พ.ค. ต้อนรับปธน.อินโดนีเซีย ครั้งแรกในรอบ 20ปี