เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ความเสี่ยงจากโรคภัยก็ยิ่งมากตาม โดยเฉพาะโรคที่มักไม่แสดงอาการชัดเจนในระยะแรก อย่าง "มะเร็งต่อมลูกหมาก" ซึ่งอาจแฝงตัวโดยไม่รู้ตัว ผู้ชายทุกคนจึงควรให้ความสำคัญ ทำความรู้จัก และเรียนรู้ที่จะเผชิญหน้าอย่างเข้าใจ เพราะการรู้เร็ว ตรวจไว คือกุญแจสำคัญในการรักษา
ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี พ.ศ. 2565 รายงานว่า มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ประมาณ 19.9 ล้านคน และในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งประมาณ 9.7 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 6 ของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก สะท้อนให้เห็นว่าโรคมะเร็งยังคงเป็นภัยคุกคามด้านสุขภาพที่สำคัญระดับโลก
มะเร็งที่พบบ่อยใน "เพศชาย" ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งตับ ขณะที่มะเร็งที่พบบ่อยใน "เพศหญิง" ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอด มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งต่อมไทรอยด์
นอกจากนี้ ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (Cancer in Thailand Vol.X 2016-2018) พบว่า "มะเร็งต่อมลูกหมาก" เป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับที่ 4 ในเพศชาย โดยมีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่อยู่ที่ 3,755 คน มาถึงตรงนี้มาทำความเข้าใจ มะเร็งต่อมลูกหมาก คืออะไร สัญญาณเตือน และใครเสี่ยงบ้าง
ต่อมลูกหมาก เป็นอวัยวะที่มีเฉพาะในเพศชาย มีหน้าที่สร้างน้ำหล่อลื่นระหว่างมีเพศสัมพันธ์ และสารเลี้ยงอสุจิ ต่อมลูกหมากอยู่ภายในช่องเชิงกราน โดยล้อมรอบท่อปัสสาวะส่วนต้น
"มะเร็งต่อมลูกหมาก" คือ
"ต่อมลูกหมาก" เป็นหนึ่งในอวัยวะสำคัญของระบบสืบพันธุ์ของเพศชาย มีลักษณะคล้ายเม็ดเกาลัด อยู่รอบท่อปัสสาวะส่วนต้นบริเวณปากทางออกของกระเพาะปัสสาวะ หลายคนมักมีความสับสน และเข้าใจผิดว่า "ต่อมลูกหมาก" คือ "ลูกอัณฑะ" ซึ่งไม่ใช่ ลูกอัณฑะจะอยู่ในถุงอัณฑะ หน้าที่ "สร้างเชื้ออสุจิ" ขณะที่ "ต่อมลูกหมาก" อยู่ภายในร่างกายทำหน้าที่ผลิตและเก็บสะสมน้ำหล่อเลี้ยงตัวอสุจิ อมลูกหมากจะถูกกระตุ้นให้มีการเจริญเติบโตจากฮอร์โมนเพศชาย
มะเร็งต่อมลูกหมาก เกิดจากการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์เยื่อบุผิวของต่อมลูกหมาก ทำให้มีขนาดโตขึ้นและลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง เช่น กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ และถุงเก็บน้ำอสุจิ นอกจากนี้ ยังสามารถกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณส่วนต่างๆ ของร่างกายได้
ปัจจัยเสี่ยง มะเร็งต่อมลูกหมาก
- อายุ - พบมากในผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไป
- พันธุกรรม - ผู้ที่มีบิดา พี่ชาย หรือน้องชายเป็นมะเร็ง ต่อมลูกหมากจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
- เชื้อชาติ - มักพบในกลุ่มชายชาวแอฟริกัน อเมริกา
- พฤติกรรมการกิน - อาหารไขมันสูง
สัญญาณเตือน มะเร็งต่อมลูกหมาก
มะเร็งต่อมลูกหมาก ในระยะเริ่มแรกอาจไม่แสดงอาการ แต่เมื่อมะเร็งเริ่มลุกลามมากขึ้น อาจทำให้เกิดแรงกดทับบริเวณท่อปัสสาวะ เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก มักมีปัญหาเกี่ยวกับการถ่ายปัสสาวะ ยกตัวอย่างเช่น
- ปัสสาวะไม่ออกหรือปัสสาวะลำบาก
- ปัสสาวะไม่พุ่งหรือปัสสาวะหยุดเป็นช่วง ๆ
- ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะตอนกลางคืน
- รู้สึกปวดเมื่อยปัสสาวะ หรือ หลั่งอสุจิ
อย่างไรก็ตาม อาการบางอย่างอาจคล้ายกับโรคต่อมลูกหมากโต แต่ต่อมลูกหมากโตไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยงให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก ดังนั้น หากมีอาการดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยให้ชัดเจน
ในกรณีมะเร็งเข้าสู่ระยะลุกลามอาจทำให้เกิดอาการปวดหลังหรือปวดสะโพก น้ำหนักลด ขาบวม หรือตัวเหลืองตาเหลืองได้ การวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมาก
การตรวจวินิจฉัย "มะเร็งต่อมลูกหมาก"
ชายอายุ 50 - 75 ปี ควรตรวจปีละครั้ง
การวินิจฉัย คัดกรอง มะเร็งต่อมลูกหมาก ในชายอายุ 50 ปีขึ้นไป สามารถทำได้หลากหลาย ดังนี้
- การมีประวัติครอบครัวหรือญาติที่ใกล้ชิดเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงเพิ่มเป็น 2 เท่า
- การเจาะเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งในต่อมลูกหมาก (Prostate-specific Antigen: PSA)
- การตรวจทางทวารหนัก แพทย์จะใช้นิ้วสอดเข้าไปในทวารหนัก คลำดูว่าพื้นผิวรูปร่าง และขนาดของต่อมลูกหมากมีความผิดปกติใด ๆ หรือไม่
การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของตัวโรค และจะพิจารณาร่วมกับอายุและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย เริ่มตั้งแต่การตรวจติดตามหรือเฝ้าระวังเชิงรุกในผู้ป่วยสูงอายุ หรือผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มที่มะเร็งมีความสามารถในการลุกลามต่ำ ไปจนถึงการผ่าตัดนำต่อมลูกหมากออก การใช้ยาลดฮอร์โมนเพศชาย การฉายแสง การฝังแร่ การให้ยาเคมีบำบัด การผ่าตัดตัดอัณฑะ รวมถึงการให้ภูมิคุ้มกันบำบัด
การผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากนั้นจำเป็นที่ต้องผ่าตัด นำต่อมลูกหมากออกทั้งหมด โดยวิธีการผ่าตัดที่นิยมในปัจจุบันมี 2 วิธี คือ การผ่าตัดต่อมลูกหมากออกทั้งหมดผ่านกล้อง และการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วย เป็นการใช้แขนกลหุ่นยนต์ที่ควบคุมโดยศัลยแพทย์ ทำให้มีความแม่นยำในการเก็บเส้นประสาทที่ช่วยเรื่องการแข็งตัวของอวัยวะเพศได้ดีมากยิ่งขึ้น
ทำอย่างไรให้ห่างไกล "มะเร็งต่อมลูกหมาก"
- ตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไป
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ลดการทานเนื้อสัตว์ที่ปิ้งย่างไหม้เกรียม
- ลดการทานไขมันอิ่มตัวจากสัตว์
- ลดการใช้ฮอร์โมนแอนโดรเจน
- งดการสูบบุหรี่ งดการดื่มแอลกอฮอล์
- หากมีภาวะต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง และมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์รีบควรปรึกษาแพทย์
อ้างอิงข้อมูล : กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, สถาบันมะเร็งแห่งชาติ
อ่านข่าว : "โจ ไบเดน" ตรวจพบ "มะเร็งต่อมลูกหมาก" ชนิดรุนแรง
"วิว กุลวุฒิ" คว้าแชมป์ไทยแลนด์ โอเพน สมัย 2
รวบแล้ว 1 ผู้ต้องสงสัยอุ้มฆ่า "ดีเจเตเต้" จ่อออกหมายจับอีก 3 คน