จะรวบตึงโดนทั้งขึ้น-ทั้งล่อง หรือ นี่คือทางรอดของ สว.ขึ้นอยู่กับ "ดีเอสไอ และ กกต." ว่าจะทำงานกันอย่างไร แต่เป็นไปได้ว่า คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ กรณีให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว เฉพาะในฐานะกำกับดูแล "ดีเอสไอ" จะตีความให้แยกส่วนกัน ระหว่างคดีอาญา "ฟอกเงิน-อั้งยี่" กับ กกต.ในเหตุกระทำผิดกฎหมายการได้มาซึ่ง สว.ทุจริตหรือฮั้วเลือกกันมาทำงาน
นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.ยืนยันว่า ไม่มีใครแทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการสืบสวน-สอบสวน คำร้อง "ฮั้วเลือก สว." ได้ ไม่ว่าจะ กกต.หรือ เลขาฯ กกต.และเท่าที่สอบถาม ล่าสุด ก็เชื่อได้ว่าจะแล้วเสร็จตามกรอบเวลา แม้จะเป็นกรอบเวลาในการทำงานไม่ได้มีผลตามกฎหมายว่าจะสิ้นอำนาจหรือทำอะไรไม่ได้แล้ว หากครบ 1 ปี ในวันที่ 9 ก.ค.นี้สำหรับการเลือก สว.ปี 2567
ตามกระบวนการมีด้วยกัน 4 ขั้นตอน ขณะนี้ ยังคงอยู่ที่ขั้นตอนแรก เหลือเวลาอีก 1 เดือนกับ 20 วัน เลขาฯ กกต.กล่าวย้ำว่า "ทำงานอยู่" และไม่มีเหตุจำเป็นต้องชี้แจงสื่อมวลชน เพราะเป็นเรื่องของคดีความ ไม่ว่าใครถูกร้องเรียน ย่อมมีความซับซ้อน มีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และการซับซ้อนในการรวบรวมพยานหลักฐาน ที่จะตั้งข้อกล่าวหาและส่งศาลฯ ชี้ขาด-พิพากษา
แม้บางฝ่ายจะชี้ว่า นี่คือเหตุผลที่จะทำให้ สว.โดนทั้งขึ้น-ทั้งล่อง ทั้งอาญาและทุจริตเลือก สว.แต่ตามกระบวนการของ กกต.และ บุคคลใน กกต.ก็มีบางคนชี้ว่า นี่คือทางรอดของ สว. โดยเฉพาะ สว.สายสีน้ำเงิน ซึ่งเกือบทั้งหมด มีชื่ออยู่หมายเรียกฮั้วเลือก สว.เหตุถูกเชื่อมโยงในความสัมพันธ์กับพรรคภูมิใจไทย และครูใหญ่เนวิน-ชิดชอบ
นอกเหนือจากกระบวนการสืบสวน-สอบสวนคำร้องฮั้วเลือก สว.ใน "กกต." กับ คดีฮั้วเลือก สว.ใน "ดีเอสไอ" นายณฐพร โตประยูร ใช้สิทธตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ม.49 ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด ขอให้มีคำสั่งหยุดการกระทำ และส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบพรรคภูมิใจไทย ด้วยเหตุพบว่า บุคคลและกลุ่มบุคคลใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง
โดยอ้างอิง ตามข้อกล่าวหาของคณะกรรมการสืบสวน-สอบสวน ชุดที่ กกต.ร่วมกับดีเอสไอ เรียก สว.รวม 55 คนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาฮั้วเลือก สว. กระทำผิดกฎหมายการได้มาซึ่ง สว.ซึ่งเชื่อได้ว่า คณะทำงานชุดนี้มีเอกสาร-หลักฐานเพียงพอที่จะชี้ถึงขบวนการฮั้วเลือก สว.เชื่อมโยงถึงบุคคลและพรรคการเมือง นั่นก็คือพรรคภูมิใจไทย
ขณะที่ นายณฐพร โตประยูร นักกฎหมาย ระบุว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ม.49 บัญญัติไว้ว่า บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง "ไม่ได้" ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำ ย่อมใช้สิทธิร้องต่ออัยการสูงสุด เพื่อร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย-สั่งการ "เลิกการกระทำ" ได้ และหากอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับ หรือไม่ดำเนินการภายใน 15 วัน ให้ผู้ร้องยื่นคำร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
มีพยานทั้งคลิปบันทึกเสียง สถานที่เกิดเหตุ พยานบุคคล หลักฐานเกี่ยวกับการโอนเงิน มีหมด หลักฐานอยู่ที่ดีเอสไอ และ กกต.
ขณะที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใด-อย่างหนึ่ง ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบพรรค นั้น 1.ล้มล้างการปกครอง หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง โดยวิธีการซึ่งไม่เป็นไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ 2.อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง 3.กระทำผิดกฎหมายพรรคการเมือง และ 4.มีเหตุอันต้องยุบพรรคตามกฎหมาย
ภายใน 15 วันนับจากยื่นคำร้อง ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 30 พ.ค. ถ้าอัยการสูงสุด ไม่มีคำสั่ง-ไม่รับคำร้องนายณฐพร ระบุว่าจะเข้ายื่นคำร้องโดยตรงกับศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยคำร้องเดิมและข้อกล่าวหาเดิม โดยย้ำว่า ในฐานะผู้ร้อง คือ ผู้พบเห็น จึงแจ้งเรื่อง การสืบสวน-สอบสวนหรือไต่สวน ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากจะโดนทั้งขึ้น-ทั้งล่อง หรือนี่คือทางรอด ของ สว.สายสีน้ำเงิน ซึ่งสรุปคือ อยู่ที่ผู้ถืออำนาจรัฐในมือ
อ่านข่าว : สัญญาณ “ยุบสภา” คดีฮั้ว สว. “ทักษิณไม่ถอย-ภูมิใจไทยหน้าเดิน”
"ศร." สั่ง "ทวี " หยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะคุม "ดีเอสไอ - รอง ปธ.กก.คดีพิเศษ"
"ชนินทร์" ยืนยัน สอบสวนคดี "ฮั้ว เลือก สว." ไม่ล่าช้า