เหตุการณ์ “วัดไร่ขิง” อ.สามพราน จ.นครปฐม เป็นข่าวใหญ่ในช่วงวันเดียว
เช้าวันที่ 15 พ.ค.พระธรรมวชิรานุวัตร เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง เข้าพบตำรวจ บก.ปปป.
สายวันเดียวกัน ศาลอนุมัติหมายจับคดียักยอกเงินวันไร่ขิง 300 ล้านบาท ถูกตำรวจสอบสวนทั้งวัน จนถึง 2 ทุ่ม ลาสิกขาหน้าพระพุทธรูป ในห้องพนักงานสอบสวน
วันเดียวกัน ตำรวจบุกจับโบรกเกอร์สาว เว็บฯ พนันออนไลน์ ที่เป็นคนรับเงินไปเล่นพนัน ผ่านมาอีกวันตำรวจสอบสวนทั้งวัน (16 พ.ค.) และนำตัวส่งฝากขังที่ศาลอาญา พร้อมคัดค้านการประกันตัว และนำตัวเข้าควบคุมที่เรือนจำทันที
หลังจากนั้นตำรวจกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ป.ป.ท. และอีกหลายหน่วยงาน เข้าตรวจสอบทรัพย์สินที่วัดไร่ขิง ท่ามกลางประชาชนที่ยังคงไปทำบุญตลอดทั้งวัน และบอกว่าพวกเขาศรัทธาพระพุทธศาสนา ไม่ได้ศรัทธาที่ตัวบุคคล
และตามมาด้วยการออกมาพูดถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ ของวัดอีก 2 แห่งคือ วัดป่าวังน้ำเย็น จ.มหาสารคาม และวัดเกตุมวดี จ.สมุทรสาคร

งานนี้ตำรวจได้รับเสียงชื่นชม โดยเฉพาะกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ที่มี “รองเต่า” หรือ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก. นำทีม
หน่วยงานหนึ่งที่คนในสังคมมักถามถึง หรือคิดถึงทุกครั้งที่มีข่าววัดฉาว พระฉาว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงิน เรื่องสีกา เรื่องความไม่สมแก่สมณสารูปใด ๆ นั่นคือ “สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ” หรือ พศ.
เสียงที่สังคมถามคือ “สำนักพุทธฯ ทำอะไร” นั่นไม่ใช่เสียงจับผิด แต่เป็นเสียงของชาวพุทธที่ “หวังพึ่ง” เพราะเมื่อก่อนมี “กรมการศาสนา” คนก็พยายามเข้าใจว่า อาจเพราะต้องดูแลทุกศาสนา
แต่วันนี้ 23 ปี แล้วที่มี “สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ” ก็น่าจะมีหน่วยงานที่กำกับดูแล ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของศาสนาพุทธบ้าง
พอเข้าไปค้นหาว่า “อำนาจหน้าที่” ของสำนักพุทธฯ มีอะไรที่เกี่ยวกับการดำเนินการกับพระภิกษุที่กระทำผิดพระธรรมวินัยและกฎหมายบ้าง ก็พบว่า สำนักพุทธฯ ไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงในการลงโทษพระภิกษุสงฆ์
เพียงแต่ทำหน้าที่ประสานหน่วยงานต่าง ๆ และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการมหาเถรสมาคม
ซึ่งหากลงไปในรายละเอียด ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2562 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ คือ

- ส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานกิจการคณะสงฆ์ หรือ มีหน้าที่ในการส่งเสริมและสนับสนุนกิจการคณะสงฆ์ รวมถึงการประสานงานระหว่างคณะสงฆ์ กับหน่วยงานของรัฐต่าง ๆ
- ดำเนินงานและอำนวยความสะดวก ตามนโยบายของรัฐเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ซึ่ง พศ.ต้องดำเนินงานตามนโยบายของรัฐที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เช่น การจัดการศึกษา การเผยแผ่ศาสนา และการอนุรักษ์วัฒนธรรม
- ดำเนินการเกี่ยวกับวัด การศึกษา และพระภิกษุสามเณร มีหน้าที่ในการดูแลและพัฒนาวัด การศึกษาของพระภิกษุสามเณร และการฝึกอบรมพระภิกษุ
- สนับสนุนคณะสงฆ์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและกิจการอื่น ๆ โดยต้องสนับสนุนคณะสงฆ์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
นั่นคือภาพกว้างภารกิจของสำนักพุทธฯ ที่จะต้องทำโดยทั่วไป ภายใต้งบประมาณกว่า 4 พันล้านบาท
เมื่อลงรายละเอียดมากขึ้นอีก “กรณีพระภิกษุกระทำผิดกฎหมาย” หรือพระธรรมวินัย
สำนักพุทธฯ มีบทบาทในการประสานงาน และสนับสนุนการดำเนินการของคณะสงฆ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น
- หากพระสงฆ์กระทำผิดพระธรรมวินัย คณะสงฆ์มีอำนาจโดยตรงในการสอบสวนและดำเนินการทางวินัย เช่น การสอบนคหกรรม (การสอบสวน) การสั่งให้ลาสิกขา ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการมหาเถรสมาคม และหน่วยงานทางสงฆ์ตามลำดับชั้น
- หากพระสงฆ์ทำผิดกฎหมายบ้านเมือง สำนักพุทธฯ จะทำหน้าที่ประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการจับกุมหรือนำตัวส่งไปดำเนินคดี

พร้อมทั้งแจ้งให้เจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ในเขตนั้น ๆ ดำเนินการตามพระธรรมวินัย แต่สำนักพุทธฯ ไม่มีอำนาจไปจับกุม หรือบังคับให้พระลาสิกขาได้ ต้องดำเนินการผ่านคณะสงฆ์
กล่าวโดยสรุปก็คือ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีบทบาทในการส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานกิจการพระพุทธศาสนาในประเทศไทย แต่ “ไม่มีอำนาจโดยตรง ในการลงโทษพระภิกษุที่กระทำผิดพระธรรมวินัยหรือกฎหมาย”
หากมองถึงความสลับซับซ้อนที่เกิดขึ้นในสังคม และเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จำเป็นหรือไม่ที่รัฐบาลจะต้องพิจารณาทบทวนบทบาทของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือ พศ. ให้มีบทบาทให้คุณให้โทษได้มากกว่าทำพหน้าที่อำนวยการหรือประสานงานเช่นทุกวันนี้
เรียบเรียง : เอมพงศ์ บุญญานุพงศ์ บรรณาธิการข่าวออนไลน์
อ้างอิง
พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534
พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2562
เว็บไซต์ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชา