วันนี้ (20 พ.ค.2568) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า กระทรวง พม. โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) มีแผนผลักดันให้มีตำแหน่งล่ามภาษามือ นำร่องในปี 2568-2569 เพื่อตอบสนองความต้องการของคนพิการในทุกพื้นที่
จัดทำโครงการนำร่องจ้างเหมาบริการล่ามภาษามือตำแหน่งเฉพาะ ด้วยอัตราค่าตอบแทนเดือนละ 18,000 บาท สำหรับเป็นล่ามภาษามือประจำศูนย์บริการคนพิการจังหวัดทุกจังหวัด 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร รวม 77 คน (จังหวัดละ 1 คน)
ปัจจุบันมีคนพิการทางการได้ยิน หรือการสื่อความหมายทั่วประเทศ 432,495 คน และพบปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน อาทิ การรับการรักษาพยาบาล การทำงาน การรับรู้ข่าวสาร และการรับความช่วยเหลือทางกฎหมาย เนื่องจากขาดแคลนล่ามภาษามือที่ให้บริการแก่คนพิการในหน่วยงานสำคัญต่าง ๆ อาทิ สถาบันการศึกษา และโรงพยาบาล
ขณะนี้มีล่ามภาษามือ 202 คน ที่ได้จดแจ้งกับ พก. ซึ่งต้องผ่านการประเมินทักษะการเป็นล่ามภาษามือ โดยคณะกรรมการที่แต่งตั้งจากสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย และสมาคมล่ามภาษามือแห่งประเทศไทย
ในขณะที่การส่งเสริมการจ้างงานคนพิการทางการได้ยิน และสื่อความหมายในตำแหน่งล่ามภาษามือนั้น จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีงานทำ มีรายได้ ในพื้นที่ตามภูมิลำเนา และสามารถพึ่งพาตนเองได้ อีกทั้งยังเป็นล่ามภาษามือต้นแบบตามบริบทของวัฒนธรรมคนหูหนวก
ขณะนี้ “การเรียนการสอนหลักสูตรล่ามภาษามือ” เปิดสอนเพียง 2 แห่ง ได้แก่ 1.สถาบันราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเปิดสอนระดับปริญญาตรี รุ่นละไม่เกิน 30 คน (คนหูหนวก 15 คน และคนหูดี 15 คน) และ 2.มหาวิทยาลัยสวนดุสิต โดยเปิดสอนระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต (1 ปี) เฉพาะที่มีผู้เรียนมากกว่า 15 คน
อย่างไรก็ตามหลักสูตรดังกล่าวมีข้อจำกัดในเรื่องจำนวนผู้เรียน ทำให้ไม่สามารถเพิ่มจำนวนล่ามภาษามือได้ทันกับความต้องการ โดย พก.กำหนดแนวทางการผลิตและเพิ่มจำนวนล่ามภาษามือเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1.ระยะสั้น การสนับสนุนของกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
โดยสนับสนุนสถาบันการศึกษาจัดการอบรมหลักสูตร 135 ชั่วโมง สำหรับเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทั่วประเทศ , ผู้ปฏิบัติงานศูนย์บริการคนพิการ, หน่วยงานของคนหูหนวก และประชาชนทั่วไป โดยมีผู้ผ่านการอบรมแล้ว 180 คน
2.ระยะกลาง การส่งเสริมการจ้างเหมาบริการล่ามภาษามือ และกำหนดตำแหน่งล่ามภาษามือประจำศูนย์บริการคนพิการจังหวัด และ 3.ระยะยาว การสนับสนุนทุนการศึกษาระดับประกาศนียบัตร และการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมล่ามภาษามือผ่านปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อให้คนพิการสามารถขอรับบริการต่าง ๆ อาทิ การรักษาพยาบาล การสมัครงาน การอบรม การร้องทุกข์ และการเป็นพยานในชั้นสอบสวน
นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีที่ช่วยส่งเสริมการสื่อสารถ่ายทอดความหมาย อาทิ TTRS Live Chat เป็นระบบสนทนาข้อความและ TTRS Video เป็นระบบวิดีโอคอลผ่านภาษามือ
สำหรับปีงบประมาณ 2568 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาล่ามภาษามือ ได้มีมติให้มี “หน่วยประเมินล่ามภาษามือ” เพิ่มอีก 2 หน่วย ได้แก่ สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต อีกทั้งเห็นชอบให้มูลนิธิคนหูหนวกไทย เป็นหน่วยงานกลางในการออกข้อสอบ ผลิตข้อสอบ และตรวจข้อสอบ ให้กับหน่วยประเมินล่ามภาษามือ โดยทำงานร่วมกับคณะกรรมการวัดประเมินผลความรู้และทักษะการเป็นล่ามภาษามือชุมชน เพื่อการจดแจ้งเป็นล่ามภาษามือ
นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ ยังได้เห็นชอบแนวทางการสนับสนุนทุนการศึกษาในการเรียนล่ามภาษามือ ในระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต หรือ ป.บัณฑิต โดยการสนับสนุนของกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และมีแผนผลักดันให้เป็นตำแหน่งพนักงานกองทุนฯ ต่อไป
อ่านข่าว : "อนุทิน" ปัดเกี่ยวปม "ฮั้วเลือก สว." เชื่อเป็นเรื่องการเมือง
ผู้รับเหมานัดไกล่เกลี่ย 3 บริษัทผู้ว่าจ้างสร้างอาคาร สตง.ค้างจ่าย 10 ล้าน
ตรวจเส้นทางเงิน "วัดไร่ขิง" พบ 45 บัญชีไม่รายงานรายรับ-รายจ่าย