ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อามิสบูชา-นารีออนไลน์ “กับดัก” สงฆ์ใน “ดงขมิ้น”

อาชญากรรม
20 พ.ค. 68
17:08
100
Logo Thai PBS
อามิสบูชา-นารีออนไลน์ “กับดัก” สงฆ์ใน “ดงขมิ้น”
อ่านให้ฟัง
08:01อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

พระพุทธศาสนา ไม่เคยเสื่อมศรัทธาจากประชาชน คงมีเพียงคนที่เข้ามาใช้ผ้ากาสาวพัสตร์ สร้างความเสื่อมเสียให้กับวงการสงฆ์ ในแต่ละปีมักจะมีเรื่องราวเกิดขึ้นใน “ดงขมิ้น” ไม่ใช่น้อย เพราะพระสงฆ์ ยังไม่ได้หลุดพ้น แต่คือ ลูกชาวบ้าน ปุถุชนทั่วไป ยังวนเวียนอยู่ในโลกของ รัก โลภ โกรธ หลง หากไม่สามารถทนต่อสิ่งยั่วยุและถูกปลุกเร้าอย่างต่อเนื่อง ผ้าเหลือง 3 ผืนที่ครองตนไว้ ก็เอาไม่อยู่เหมือนกัน

ข้อมูลจากกองพุทธศาสนสถาน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พ.ศ) เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 ระบุว่า วัดในประเทศไทย มีจำนวนทั้งสิ้น 43,005 วัด เป็นวัดที่มีพระสงฆ์ 43,000 วัด แยกเป็นมหานิกาย 38,595 วัด ธรรมยุต 4,366 วัด จีนนิกาย 16 วัด และอนัมนิกาย 23 วัด

โดยวัดที่เป็นพระอารามหลวง มีจำนวน 310 วัด แยกเป็น มหานิกาย 247 วัด ธรรมยุติ 63 วัด วัดที่เป็นวัดราษฎร์ มีจำนวน 42,690 วัด แยกเป็น มหานิกาย 38,348 วัด ธรรมยุติ 4,303 วัด จีนนิกาย 16 วัด อนัมนิกาย 23 วัด ส่วนวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา 26,204 วัด ไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา 16,769 วัด

หากแยกตามพื้นที่ทั่วประเทศ พื้นที่ซึ่งมีวัดตั้งอยู่มากที่สุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 21,546 วัด ภาคกลาง 8,887 วัด ภาคเหนือ 5,631 วัด ภาคใต้ 2,647 วัด ภาคตะวันออก 2,430 วัด ภาคตะวันตก 1,860 วัด ไม่ระบุจังหวัด 4 วัด

สำหรับจำนวนพระสงฆ์ ข้อมูลปี 2566 มีจำนวน 256,219 รูป หากรวมพระและสามเณร พบมีทั้งหมด 290,143 รูป จำนวนนี้แบ่งเป็น มหานิกาย 223, 687 รูป ธรรมยุต 32,251 รูป จีนนิกาย 138 รูป และอนัมนิกาย 143 รูป

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันข้อมูลพระภิกษุสงฆ์ยังไม่นิ่ง และขึ้นๆ ลงๆ เนื่องจากช่วงเทศกาลงานบวชจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น และมีจำนวนหนึ่งลาสิกขาออกไป
คนไทย วัด และพระสงฆ์ ผูกพันอยู่กับสังคมไทย จนแยกไม่ออก

ในอดีตจนถึงปัจจุบัน วัดไม่ได้ทำหน้าที่เป็นแค่ศาสนาสถานประกอบพิธีศาสนาเท่านั้น แต่ “วัด” อยู่ในวงจรชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ว่าวัดนั้น ๆ จะมีชื่อเสียงโด่งดัง หรือวัดใกล้บ้าน -ไกลปืนเที่ยงที่ไม่มีใครรู้จัก

หากวัดใดก็ตาม พระสงฆ์มีวัตรปฏิบัติดี ก็จะนำศรัทธาญาติโยมเข้ามา ทำให้ทั้งพระและวัด ได้รับอานิสงฆ์จากผลบุญไปด้วย สภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงของสังคมไทย วัดก็แปรเปลี่ยนไปด้วย แม้ยังคงเป็นองค์กรสำคัญที่อยู่คู่ชุมชน แต่หลายๆแห่ง ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ และสร้างรายเข้าวัดในแต่ละปีได้ไม่น้อย

เมื่อปี 2567 เพจเฟซบุ๊คสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เคยโพสต์ข้อความเตือนภัยพระภิกษุสงฆ์ โดยนายบุญเชิด กิตติธรางกูร รองผอ.สำ นักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ระบุพฤติกรรม 9 ประการ ที่มีการหลอกพระสงฆ์ให้ติดกับดัก คือ 1. สร้างโปรไฟล์เป็นหญิงหน้าตาดี 2. ขอเป็นเพื่อนกับพระ 3. ชวนพระคุยทั่วไป 4. ขอแลกไลน์ บอกคุยอินบอกซ์ไม่สะดวก

5. คุยตีสนิทจนพระตายใจ 6. จีบพระจนพระหลงสนิทใจคิดว่าถูกรัก 7. ชวนวิดีโอคอล “อาบน้ำออนไลน์ ชวนกระตุกแหนม” 8. บันทึกวิดีโอขณะพระกระตุกแหนม 9. ขู่เรียกทรัพย์จากพระเพื่อแลกกับการลบคลิปวีดีโอและลบแชทสนทนา โดยมีการเรียกจำนวนเงินมีตั้งแต่หลักหมื่นบาท ถึงหลักแสนบาท

พระที่ถูกหลอกลักษณะนี้ มักติดกับดักความสวยงามของหญิงสาว มีพระหลายรูป ตั้งแต่พระลูกวัด ไปจนถึงพระชั้นผู้ใหญ่ ทำให้ต้องลาสิกขากลางพรรษาเพราะอับอาย ซึ่งวิธีการป้องกันที่ดีที่สุดคือ งดรับแอดหญิงสาวที่ไม่รู้จักอย่างเด็ดขาด

มัคนายก วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดภาคตะวันออก กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเกิดจากการถูกหลอกจริง หรือ เต็มใจให้หลอก เกิดขึ้นมาโดยตลอด ในอดีตรูปแบบการหลอกลวง เพื่อสึกพระจะมีขบวนการใช้แผน “นารีพิฆาต” แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยน พระมีโทรศัพท์มือถือ กิจของสงฆ์อาจหย่อนยาน เล่นมือถือมากกว่า สวดมนต์นั่งสมาธิ จึงเป็นเป้าหมายใหม่ของกลุ่มมิจฉาชีพที่มีในหลายรูปแบบ

“เดิมมีการเตือนให้กลุ่มข้าราชเกษียณอายุ คนสูงวัย ให้ระวังตัว เพราะเป็นเป้าหมายหลักของแก๊งมิจฉาชีพที่ใช้ช่องทางออนไลน์หลอกลวงรูปแบบต่าง ๆ แต่ขณะนี้พระก็กลายเป็นกลุ่มสำคัญ ที่โดนไปด้วย เพราะว่ามีเงินเก็บ โดยเฉพาะพระภิกษุสูงวัย บวชเรียนมานาน เมื่อก่อนซื้อลอตเตอรี่ หวยใต้ดิน ต่อมาซื้อผ่านมือถือ บางรูป ถลำหนัก เล่นพนันออนไลน์ไปเลย” แหล่งข่าวระบุ

มีข้อมูลระบุว่า ตามปกติพระภิกษุจะมีเงินเก็บส่วนตัวจากกิจนิมนต์ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นระดับเจ้าอาวาส , รองเจ้าอาวาส ชั้นที่มีสมณศักดิ์ ที่มีเงินเดือนประจำ รวมทั้งพระสงฆ์ทั่วไป หากเป็นวัดใหญ่ ๆ ดัง “คนขึ้น” หรือเป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชน หลายๆ วัด อาจมีการจำหน่ายของขลังด้านพุทธพาณิชย์ ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างรายได้

“ทำบุญต้องพอประมาณ ในวัดแม้จะมีคณะกรรมการวัด ไวยาวัจกรและเจ้าอาวาส มีชื่อในบัญชีเบิกจ่ายร่วมกันในบัญชีเงินรับบริจาควัด หากมีคนคด ไม่ว่าจะเป็นสงฆ์หรือฆราวาส ก็ยากที่คนนอกจะรู้ได้ บางครั้งกรรมการวัดรู้ เขาก็ไม่อยากยุ่ง และค่อยๆ ถอนตัวออกไปเงียบ ๆ ...ในกรณีที่เจ้าวัด นำญาติพี่น้องเข้ามาหาประโยชน์ ก็ยากไปอีก อามิสบูชา มันมีรูรั่ว ช่องโหว่ ทุกจุด” แหล่งข่าวในวัดดังระบุ

และย้ำว่า หากวัดใดก็ตาม มีเรื่องผู้หญิง ปัญหาความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ภายในวัด เข้ามาเกี่ยวข้อง หาก ไม่มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาก็คงยากที่คนภายนอก ตำรวจ หรือแม้แต่สำนักงานพระพุทธศาสนา(พ.ศ) จะเข้าไปตรวจสอบได้ โดยเฉพาะวัดใหญ่โตมีชื่อเสียง ซึ่งไม่ต่างจากแดนสนธยา

วิกฤตศรัทธาจากปัญหา “สงฆ์” ประพฤติผิดธรรมวินัย ไม่ว่าจะเป็นอดีตพระผู้ใหญ่ หรือพระหนุ่มรายใดก็ตาม ถือเป็นการกระทำผิดเฉพาะบุคคล แต่คำสอนของพระพุทธเจ้าและศาสนาไม่เคยเสื่อม มีเพียงผู้ที่เข้ามาอยู่ใน “ดงขมิ้น” ที่ใช้ศรัทธาของผู้คน สร้างมลทินและความมัวหมองให้ศาสนามากกว่า

อ่านข่าว

สายลับ "พยัคฆ์หลายหน้า" เดิมพันชีวิต "อาชีพบนเส้นทางเสี่ยง"

ตรวจเส้นทางเงิน "วัดไร่ขิง" พบ 45 บัญชีไม่รายงานรายรับ-รายจ่าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง