ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ค่าจ้างมาตรฐานฝีมือแรงงาน คืออะไร? ล่าสุดเพิ่มอีก 13 สาขา

สังคม
21 พ.ค. 68
13:39
159
Logo Thai PBS
ค่าจ้างมาตรฐานฝีมือแรงงาน คืออะไร? ล่าสุดเพิ่มอีก 13 สาขา
เปิดอัตราค่าจ้าง ตามมาตรฐานฝีมือ 13 สาขาใหม่ อาทิ ผู้ฝึกสอนมวยไทย นักเขียนโปรแกรม พนักงานขับรถโดยสารฯเพื่อการท่องเที่ยว โดยให้มีผลใช้บังคับ 90 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา

การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ "การไม่หยุดเรียนรู้" ในโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทักษะใหม่คือกุญแจสู่ "โอกาส" และ "รายได้" ที่มากขึ้น และเมื่อเริ่มพัฒนาฝีมือ เสริมทักษะ และเปิดรับความรู้ใหม่เสมอ สิ่งเหล่านี้สามารถต่อยอดเป็นอาชีพ สร้างรายได้ และเพิ่มมูลค่าให้กับตัวเองในอนาคต 

ฝีมือแรงงานจึงไม่ใช่แค่ "งาน" แต่คือ "โอกาส" ที่พร้อมสร้างความมั่นคงให้ชีวิต เพียงแค่เราเริ่มต้นเรียนรู้ และไม่หยุดที่จะพัฒนา โอกาสก็อยู่ไม่ไกล

เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2568 คณะรัฐมนตรี รับทราบประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 14) ซึ่งเตรียมประกาศลงราชกิจจานุเบกษาในเร็ว ๆ นี้ หลายคนอาจสงสัยว่า "ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ" คืออะไร แตกต่างจาก "ค่าจ้างขั้นต่ำ" อย่างไร และทำไมถึงต้องหาคำตอบเรื่องนี้

ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ คืออะไร 

ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 13) ให้ความหมายของ  "อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ" ว่า อัตราค่าจ้างที่คณะกรรมการค่าจ้างกำหนดขึ้นในแต่ละสาขาอาชีพ ในแต่ละสาขา และในแต่ละระดับฝีมือ ตาม มาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2551 โดยปกติจะสูงกว่าอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำทั่วไป

อธิบายคือ "ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ" คือ อัตราค่าจ้างที่กำหนดขึ้นสำหรับแรงงานที่มีความรู้ ความสามารถ หรือผ่านการทดสอบตามมาตรฐานฝีมือในสายอาชีพเฉพาะ เช่น ช่างไฟฟ้า ช่างเชื่อม พนักงานบริการ เป็นต้น 

ค่าจ้างมาตรฐานฝีมือแรงงาน แตกต่างจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ อย่างไร ค่าจ้างขั้นต่ำ คืออัตราค่าจ้างพื้นฐานที่นายจ้างต้องจ่ายให้แรงงานทั่วไปโดยไม่จำเป็นต้องมีทักษะเฉพาะ ส่วน ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ: คืออัตราค่าจ้างที่จ่ายให้แก่แรงงานที่มีทักษะเฉพาะ หรือผ่านการรับรองจากภาครัฐ ว่ามี "ฝีมือ" ตามเกณฑ์มาตรฐาน

ทำไมแรงงานรุ่นใหม่ ควรมีสกิลที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

คนรุ่นใหม่ที่กำลังก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานควรมีทักษะที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากโลกของการทำงานกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาทักษะจึงเป็นหัวใจสำคัญในการเพิ่มโอกาส แล้วมีอะไรบ้าง ยกตัวอย่าง

การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เทคโนโลยี AI, Automation และ Digital Transformation กำลังเข้ามาแทนที่งานบางประเภท แรงงานที่มีทักษะใหม่ ๆ เช่น Data Analysis, Coding, Digital Marketing เป็นต้น จะสามารถปรับตัวและทำงานร่วมกับเทคโนโลยีได้ดีกว่า

เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เมื่อแรงงานจำนวนมากมีทักษะพื้นฐานเหมือนกัน คนที่มีทักษะพิเศษหรือ "ทักษะแห่งอนาคต" จะโดดเด่นกว่าในสายตาของนายจ้าง และสามารถต่อรองรายได้ได้ดีขึ้น

สร้างโอกาสในการเติบโตในอาชีพ การพัฒนาทักษะช่วยให้แรงงานรุ่นใหม่สามารถเลื่อนตำแหน่ง หรือเปลี่ยนสายงานได้ง่ายขึ้น เช่น จากพนักงานทั่วไปสู่นักวิเคราะห์ข้อมูล หรือจากพนักงานประจำสู่ฟรีแลนซ์ที่มีรายได้หลากหลายทาง

ความมั่นคงทางอาชีพในยุคที่ไม่แน่นอน เศรษฐกิจผันผวน งานบางประเภทหายไปหรือถูกลดบทบาท ทักษะใหม่จะช่วยให้แรงงานสามารถ "เปลี่ยนตัวเอง" และหางานได้ต่อเนื่องในทุกสภาวะ

ฉะนั้นแรงงานรุ่นใหม่ที่พัฒนาทักษะอยู่เสมอคือ ผู้ที่สามารถ "อยู่รอด เติบโต ก้าวหน้า" ได้จริงในโลกการทำงานที่แข่งขันสูง และ ไม่หยุดนิ่ง

อัปเดต 2568 อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 13 สาขา  

เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2568 คณะรัฐมนตรี รับทราบประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 14) ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ เพื่อ ซึ่งจะมีผลใช้บังคับ 90 วัน หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป สำหรับอาชีพ ที่จะต้องได้ค่าจ้างมาตรฐานใหม่ ได้แก่

  • พนักงานขับรถโดยสารสาธารณะเพื่อการท่องเที่ยว (รถทัวร์) ระดับ 1 อัตราค่าจ้าง 600 บาท/วัน
  • ช่างซ่อมบำรุงรถยนต์ไฟฟ้า ระดับ 2 อัตราค่าจ้าง 600 บาท/วัน
  • ผู้บังคับรถปั้นจั่นตีนตะขาบ ระดับ 1 อัตราค่าจ้าง 620 บาท/วัน
  • ผู้บังคับรถปั้นจั่นล้อยาง ระดับ 1 อัตราค่าจ้าง 620 บาท/วัน
  • ผู้บังคับปั้นจั่นติดรถบรรทุก ระดับ 1 อัตราค่าจ้าง 560 บาท/วัน
  • พนักงานขับรถบรรทุก ระดับ 1 อัตราค่าจ้าง 485 บาท/วัน
  • ช่างเทคนิคเครื่องปรับอากาศสำหรับห้องสะอาด ระดับ 1 อัตราค่าจ้าง 720 บาท/วัน ขณะที่ ระดับ 2 อัตราค่าจ้าง 800 บาท/วัน
  • ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ระดับ 1 อัตราค่าจ้าง 500 บาท/วัน
  • ช่างไฟฟ้าสำหรับอุตสาหกรรม การจัดงานประชุม การเดินทาง เพื่อเป็นรางวัล และการแสดงสินค้า ระดับ 2 อัตราค่าจ้าง 600 บาท
  • นักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (ภาษาซี) ระดับ 1 อัตราค่าจ้าง 700 บาท/วัน
  • นักดูแลและบริหารระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ระดับ 2 อัตราค่าจ้าง 770 บาท/วัน
  • ช่างควบคุมหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ระดับ 1 อัตราค่าจ้าง 605 บาท/วัน
  • ผู้ฝึกสอนมวยไทย ระดับ 1 อัตราค่าจ้าง 565 บาท/วัน
สาขาที่ได้สูงสุด คือ ช่างเทคนิคเครื่องปรับอากาศสำหรับห้องสะอาด ระดับ 2 อัตรา 800 บาท ต่อวัน

ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 14) มีสาระสำคัญ คือ 

กระทรวงแรงงานได้เคยกำหนด "อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 1 แล้วใน 129  ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง (ฉบับที่ 13) ลงวันที่ 29 ก.ย.2566 ซึ่ง ครม.มีมติรับทราบประกาศดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 พ.ย.2566 

ต่อมา คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 มีมติเห็นชอบให้จัดทำอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ปี 2567 โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 3 ชุด เพื่อศึกษาและจัดทำร่างอัตราค่าจ้างใหม่ใน 13 สาขา การจัดทำครั้งนี้ พิจารณาจากข้อมูลหลายด้าน เช่น ความเห็นจากสถานประกอบการ ลูกจ้าง และผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ, ลักษณะงานในแต่ละสาขา 

รวมไปถึง การจ่ายค่าจ้างจริงในตลาดแรงงาน, ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง นอกจากนี้ ยังมีการจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องในแต่ละสาขาอาชีพ เพื่อประกอบการเสนอร่างค่าจ้างใหม่ ดังกล่าว

สุดท้าย ในการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2568 ได้มีมติเห็นชอบให้กำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 13 สาขา ให้มีผลใช้บังคับ 90 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาฯ

หมายเหตุ *** มาตรฐานฝีมือแรงงาน คือ ข้อกำหนดทางวิชาการที่ใช้เป็นเกณฑ์วัดระดับฝีมือ ความรู้ ความสามารถและทัศนคติในการทำงานของผู้ประกอบอาชีพสาขาต่าง ๆ ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็น 3 ระดับ และจะมีรายละเอียดของเกณฑ์มาตรฐานฝีมือแรงงานที่แตกต่างกันในแต่ละสาขา ซึ่งผู้ที่ผ่านการทดสอบจะได้รับใบรับรองผ่านการทดสอบของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

การกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 13 สาขา ที่ กระทรวงแรงงาน เสนอในครั้งนี้เป็นการกำหนดอัตราค่าจ้างตามาตรฐานฝีมือใหม่ 12 สาขา ส่วนอีก 1 สาขา คือ สาขาช่างไฟฟ้า สำหรับอุตสาหกรรม การจัดงานประชุม การเดินทาง เพื่อเป็นรางวัล และการแสดงสินค้า เป็นสาขาเดิมที่ได้กำหนดอัตราค่าจ้างระดับ 1 ไว้ก่อนแล้ว ตามประกาศ (ฉบับที่ 13)  โดยในครั้งนี้เป็นการปรับเพิ่มให้มีอัตราค่าจ้างระดับ 2 ด้วย 

ทั้งนี้ หากนับรวมการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือที่ รง. เคยได้กำหนดมาแล้ว 129 สาขา กับสาขาที่กำหนดใหม่ในครั้งนี้ 12 สาขา (ไม่นับรวมสาขาลำดับที่ 9) จะรวมทั้งสิ้นเป็น 141 สาขา 

การปรับขึ้นค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือในครั้งนี้ เป็นการช่วยยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของแรงงานในกลุ่มอาชีพที่มีทักษะเฉพาะทาง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาฝีมือแรงงานให้ได้มาตรฐาน และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน  

อ่านข่าว : "ทรัมป์" เปิดตัว "โกลเดน โดม" คาดพร้อมใช้งานอีก 3 ปี

คาด กก.สอบลงโทษแพทย์ ปมชั้น 14 ลงมติ 29 พ.ค.นี้

เตือนไทยตอนบน-ภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำท่วม 23-27 พ.ค.นี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง