ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มูลนิธิสืบฯ ห่วงเริ่ม "กระเช้าภูกระดึง" ผุดสิ่งปลูกสร้างกระทบนิเวศ

Logo Thai PBS
มูลนิธิสืบฯ ห่วงเริ่ม "กระเช้าภูกระดึง" ผุดสิ่งปลูกสร้างกระทบนิเวศ

กรณี รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา แถลงข่าวเดินหน้าแผนงาน 8 ขั้นตอน โครงการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง ย้ำต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้เกี่ยวข้อง ทำ EIA คาดเริ่มก่อสร้างเดือน พ.ย.2570

วันนี้ (21 พ.ค.2568) น.ส.อรยุพา สังขะมาน เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ไม่เห็นด้วยกับโครงการก่อสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง เนื่องจากกังวลว่าสิ่งก่อสร้าง และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ จะตามมาหลังการก่อสร้างกระเช้าฯ ตามที่อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เคยให้สัมภาษณ์สื่อว่ามีแนวคิดให้บริการรถยนต์ไฟฟ้า ลักษณะแบบรถกอล์ฟ ชมจุดท่องเที่ยวด้านบน และการนั่งรถซาฟารี ในโซนที่มีช้างออกมา จึงห่วงในเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว 

กระเช้าภูกระดึง จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ตามมาแน่

เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า กรณีอ้างความเท่าเทียมของผู้คนเพื่อก่อสร้างกระเช้าฯ นั้น แต่ละจุดไฮไลท์ท่องเที่ยวด้านบนค่อนข้างห่างกัน เช่น ผานกแอ่น ผาหล่มสัก ดูใบเมเปิ้ล ระยะทางตั้งแต่ 2-12 กิโลเมตร จึงตั้งคำถามว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวที่สุขภาพไม่แข็งแรง หรือผู้สูงอายุ จะเดินทางไปยังจุดต่าง ๆ อย่างไร

อีกทั้งเมื่อปี 2566 "ภูกระดึง" ถูกรับรองการขึ้นทะเบียนอุทยานมรดกอาเซียน แต่ไม่ใช่เพียงอุทยานฯ แห่งที่ 2 ของไทย และมีพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก เช่น ดอกหรีดกอ หญ้าบัวแบ กระดุมภูกระดึง จึงถือว่ามีคุณค่าและความสำคัญของพื้นที่ค่อนข้างมาก

น.ส.อรยุพา ยังตั้งคำถามถึงการบริหารจัดการ และจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวว่าทำได้จริงหรือไม่ เพื่อไม่ให้กระทบระบบนิเวศ และให้ธรรมชาติฟื้นตัว เพราะส่วนตัวมองว่าเสน่ห์ของภูกระดึง คือ การเดินขึ้น ไปชมพรรณไม้และแมลงที่สวยงามและมีคุณค่า เพราะบางต้นอยู่ริมทางเดินและเสี่ยงถูกเหยีบย่ำหากคุมจำนวนนักท่องเที่ยวไม่ได้

การย้อนไปดูเอกสารโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง เมื่อปี 2568 หรือ 10 ปีก่อน พบว่าผลประโยชน์ที่ทำให้การลงทุนโครงการฯ มีความคุ้มค่า ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบของ "ผลประโยชน์ทางอ้อม" เช่น การสร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่โดยรอบ เนื่องการลงทุนจะทำให้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น การจัดตั้งศูนย์การศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติ พื้นที่ 1 ไร่

ส่วนในรายงานเล่มเก่า ยังระบุว่า ค่ากระเช้าขึ้น-ลงของนักท่องเที่ยวคนไทย เที่ยวละ 200 บาท และค่าเข้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติฯ 100 บาท รวม 500 บาท จึงตั้งคำถามถึงความเต็มใจจ่ายในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้

น.ส.อรยุพา กล่าวว่า ตั้งคำถามการชู "วันเดย์ทริป" ท่องเที่ยวแบบไม่พักค้าง กลับไม่สอดคล้องกับไฮไลท์การท่องเที่ยวทั้งการดูพระอาทิตย์ขึ้นและตก ยกตัวอย่างวันธรรมดาเปิดให้ขึ้นภูกระดึง เวลา 09.00-12.00 น. และ 13.00-18.00 น. แต่วันหยุดรอบบ่ายเปิดเวลา 13.00-20.00 น.

ควรพิจารณาแต่ละกระบวนการอย่างรอบคอบ เพราะใช้เงินไม่น้อยในการศึกษาฯ และจัดทำ EIA แต่โครงการนี้เริ่มตั้งแต่พี่ยังไม่เกิดด้วยซ้ำ ผ่านการศึกษาและผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการหลายปีแล้ว ก็ต้องมีคำถามแล้วว่าโครงการนี้เหมาะสมหรือไม่ เพราะถ้าคุ้มและดีจริงก็ถูกสร้างไปนานแล้ว

อ่านข่าว : "สรวงศ์" เคาะไทม์ไลน์ 2 ปี ปักหมุดสร้าง "กระเช้าภูกระดึง" 

นักอนุรักษ์ ตั้งคำถามความคุ้มค่า สร้าง "กระเช้าภูกระดึง" 

ไม่ใช่แค่หนึ่ง นักวิจัยขึ้น-ลง 15 ครั้ง สำรวจพบ "เฟิร์นชนิดใหม่" ภูกระดึง 

“กระเช้าภูกระดึง” ไทม์ไลน์ 43 ปี ยังไม่มีข้อสรุป “สร้าง-ไม่สร้าง”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง