ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคไตมากถึง 850 ล้านคน ขณะที่ ไทยมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเพิ่มขึ้นทุกปีมากถึง 1.12 ล้านคน
ข้อมูลจากระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2567 ระบุว่า พบเป็นผู้ป่วยโรคไต ระยะที่ 3 ถึง 500,000 คน ระยะที่ 4 กว่า 120,000 คน และระยะที่ 5 มากถึง 75,000 คน
ข้อมูลจากสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ปี 2565 พบว่า มีผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีล้างไตทางช่องท้องถึง 24,439 คน และวิธีการฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียมถึง 86,325 คน สถานการณ์นี้ไม่ได้กระทบแค่สุขภาพ แต่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจกว่า 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี
เห็นได้ว่าโรคไตไม่ใช่เรื่องไกลตัว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงอย่าง ผู้ป่วยเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง และ ผู้สูงอายุ จึงควรหมั่น ตรวจคัดกรองไตตั้งแต่ระยะเริ่มแรก
สถานการณ์ "ผู้ประกันตน" ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังมีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทั้งหมด 84,750 คน โดย 64,515 คน ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และ 20,235 คน ล้างไตผ่านช่องท้อง

รู้จัก "ไต" ให้มากขึ้นอีกนิด
ไต หรือ Kidneys เป็นอวัยวะที่มีลักษณะคล้ายเมล็ดถั่ว อยู่บริเวณด้านหลังของช่องท้อง มี 2 ข้าง มีสีแดงเหมือนไตหมู หนักข้างละ 150 กรัม เส้นผ่านศูนย์กลางตามความยาว 11-12 ซม. ไตแต่ละข้างได้รับเลือดผ่านทางหลอดเลือดแดงใหญ่ ซึ่งออกจากหัวใจ เมื่อเลือดไหลผ่านไตจะมีการกรองผ่านหน่วยไตเล็กๆ ซึ่งมีอยู่ ข้างละ 1 ล้านหน่วย
หน้าที่ของไต คือ ขับน้ำและของเสียจากเลือดออกนอกร่างกายทางท่อปัสสาวะควบคุมปริมาณน้ำและเกลือแร่ ควบคุมการทำงานของฮอร์โมนในร่างกายที่ควบคุมความดันโลหิต การสร้างเม็ดเลือดแดง และการดูดซึมแคลเซียม ด้วยหน้าที่สำคัญเหล่านี้ จึงควรใส่ใจดูแลไตให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เพื่อป้องกันการเกิดโรคไตในอนาคต
โรคไตเรื้อรัง เกิดได้อย่างไร อะไรคือปัจจัยเสี่ยง
กรมควบคุมโรค อธิบายว่า "โรคไตเรื้อรัง" คือ สภาวะที่ไตถูกทำลายนานติดต่อกันเกิน 3 เดือน มักไม่มีอาการชัดเจนในระยะแรกทำให้หลายคนไม่รู้ตัวจนกระทั่งเข้าสู่ "ภาวะไตวาย" ดังนั้นการตรวจคัดกรองโรค ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกจึงสำคัญ ในการชะลอความเสื่อมของไตและลดภาวะแทรกซ้อน
ปัจจัยเสี่ยง ของโรคไตเรื้อรังไม่เพียงแต่โรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง แต่ยังรวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูง การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ นิ่วในไต โรคไตอักเสบ และปัจจัยทางพันธุกรรม นอกจากนี้พฤติกรรมบางอย่าง เช่น การใช้ยาแก้ปวดเป็นประจำ การใช้สมุนไพรไม่ถูกวิธี และการสูบบุหรี่ ก็เพิ่มความเสี่ยงทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้นด้วย
สัญญาณเตือนที่ไม่ควรมองข้าม ได้แก่ ปัสสาวะผิดปกติ มีฟองมาก สีเข้ม ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ซีด มีอาการบวมตามร่างกาย เช่น เท้า ข้อเท้า หรือใบหน้า ความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้ยาก หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคไต

ผู้ประกันตน ม.33 - ม.39 ได้สิทธิดูแล "ไต" อะไรบ้าง
จากแนวโน้มจำนวนผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคม ให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ประกันตนในมาตรา 33 และผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่เจ็บป่วยด้วยโรคไตทุกระยะ ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่กำหนดสิทธิโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด "กรณีผู้ประกันตนที่เจ็บป่วย ด้วยโรคไตวายเรื้อรังระสุดท้าย สามารถรับสิทธิกรณีการบำบัดทดแทนไต ดังนี้
1. การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ให้สิทธิในอัตราไม่เกิน 1,500 บาท ต่อครั้ง และไม่เกิน 4,500 บาท ต่อสัปดาห์ (เดือนละ 18,000 บาท) และจ่ายค่าเตรียมหลอดเลือดหรือสายสวนหลอดเลือดสำหรับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ครอบคลุมค่าใช้จ่ายตามรายการหัตถการและรายการเวชภัณฑ์ที่สำคัญ ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงตามอัตราที่กำหนด ไม่กำหนดกรอบระยะเวลา
2. กรณีผู้ประกันตนที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ติดเชื้อเอชไอวี จะจ่ายค่าฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมให้แก่สถานพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 4,000 บาทต่อครั้ง และไม่เกิน 12,000 บาทต่อสัปดาห์
3. การล้างช่องท้องด้วยน้ำยาอย่างถาวร ให้สิทธิไม่เกินเดือนละ 20,000 บาท และจ่ายค่าวางท่อรับส่งน้ำยาเข้าออกช่องท้องพร้อมอุปกรณ์ ในอัตราไม่เกิน 20,000 บาทต่อราย ต่อระยะเวลา 2 ปี หากภายในระยะเวลา 2 ปี ผู้ประกันตนมีความจำเป็นต้องวางท่อรับส่งน้ำยาล้างช่องท้อง จ่ายเพิ่มอีกไม่เกิน 10,000 บาท
4. การล้างช่องท้องด้วยเครื่องล้างไตอัตโนมัติ ให้สิทธิในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 32,700 บาทต่อเดือน สำหรับผู้ประกันตนที่มีความพร้อมในการทำการล้างช่องท้องด้วยเครื่องล้างไตอัตโนมัติ
5. การปลูกถ่ายไต ให้ได้รับสิทธิการบริการทางการแพทย์ ก่อน ระหว่าง หลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไต และรับยากดภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต
ใช้เอกสารการยื่นคำขอ อะไรบ้าง
ผู้ประกันตนที่ประสงค์จะใช้สิทธิบำบัดทดแทนไตจะต้องยื่นขอรับการอนุมัติก่อนที่สำนักงานประกันกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ โดยเตรียมเอกสารประกอบ ได้แก่
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีบำบัดทดแทนไตและปลูกถ่ายอวัยวะ หรือการดูแลหลังผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะและรับยากดภูมิคุ้มกันกองทุนประกันสังคม (สปส. 2-18)
- สำเนาเวชระเบียนในส่วนที่เกี่ยวข้อง
- ใบรับรองแพทย์
กรณีผู้ประกันตนขอรับการบำบัดทดแทนไต
- หนังสือรับรองจากอายุรแพทย์โรคไต
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
กรณีผู้ประกันตนต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทย
- ต้องมีสำเนาหนังสือเดินทาง Passport หรือ
- หนังสือสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว
- ใบอนุญาตทำงานถูกต้องตามกฎหมาย
กรณีการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
ผู้ประกันตนสามารถยื่นขอรับสิทธิได้ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์โดยให้ยื่นเรื่อนเรื่องผ่านสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนกรณีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมกับสำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ
ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลได้จาก www.sso.go.th
ไตทำงานหนักทุกวัน ถึงเวลาแล้วที่เราจะหันมาดูแลไตบ้าง ด้วยการกินดี นอนพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และตรวจสุขภาพเป็นประจำ
อ่านข่าว : จับตาศาลปกครองสูงสุดชี้ขาด "ยิ่งลักษณ์" ชดใช้ 3.5 หมื่นล้าน คดีจำนำข้าว