กรณีมีข้อสังเกตของประชาชนเกี่ยวกับประเด็นการทำเหมืองแร่ บริเวณต้นน้ำแม่น้ำกกและแม่น้ำสาย
วันนี้ (23 พ.ค.2568) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 ได้ตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำในแม่น้ำกก แม่น้ำสายและแม่น้ำโขง โดยเก็บตัวอย่างน้ำผิวดินจากแม่น้ำกกและแม่น้ำสาขารวม 15 จุด, แม่น้ำสาย 3 จุด และแม่น้ำโขง 2 จุด รวมทั้งหมด 3 ครั้ง ได้แก่
ครั้งที่ 1 วัน ที่ 24 มี.ค.2568
ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 21–24 เม.ย.2568
ครั้งที่ 3 วันที่ 1–2 พ.ค.2568
ผลการตรวจวิเคราะห์พบว่า คุณภาพน้ำโดยรวมอยู่ในระดับ “พอใช้ถึงเสื่อมโทรม” บางจุดตรวจพบค่าความสกปรกจากสารอินทรีย์และแบคทีเรียเกินมาตรฐาน และตรวจพบสารหนูเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพหากมีการใช้น้ำโดยตรงและต่อเนื่อง
ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ยืนยันว่า ระบบผลิตน้ำประปายังปลอดภัยและสามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ตามปกติ พร้อมสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความถี่เก็บตัวอย่างน้ำตลอดแนวแม่น้ำ และสำรวจรูปแบบการใช้น้ำในกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งด้านประปา เกษตรกรรม อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว
ส่วนการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน หน่วยงานด้านสาธารณสุข ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย เครือข่ายบริการสุขภาพ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1/1 เชียงราย ได้ร่วมกันเฝ้าระวัง ติดตามและประเมินสุขภาพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงอย่างใกล้ชิด พร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากการสัมผัสสารปนเปื้อนในแหล่งน้ำธรรมชาติ
ขอความร่วมมือจากประชาชนงดใช้น้ำจากแม่น้ำดังกล่าวชั่วคราว ทั้งในการอุปโภค บริโภค หรือการสัมผัสน้ำโดยตรง จนกว่าจะได้รับการยืนยันความปลอดภัยอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ มีคำแนะนำสำหรับประชาชนให้หลีกเลี่ยงการใช้น้ำจากแม่น้ำกก แม่น้ำสาย แม่น้ำโขง ที่ไม่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพ เช่น ไม่ควรใช้ในการล้างผักผลไม้ อาบน้ำ หรือให้สัตว์เลี้ยงดื่ม งดลงเล่นน้ำหรือสัมผัสน้ำโดยตรงโดยไม่จำเป็น
สำหรับผู้ใช้น้ำประปาในเขตเทศบาลนครเชียงราย ยังสามารถใช้น้ำได้ตามปกติ เนื่องจากมีระบบบำบัดและควบคุมคุณภาพน้ำอย่างเข้มงวด หากมีอาการผิดปกติ เช่น ผื่นคัน คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสียและมีประวัติสัมผัสน้ำ ควรรีบพบแพทย์ หรือ รพ.สต.ใกล้บ้าน
อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำจากแหล่งน้ำเสี่ยงเพื่ออุปโภค-บริโภค งดจับหรือกินปลาและสัตว์น้ำจากแหล่งน้ำเสี่ยง รวมถึงติดตามข้อมูลจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด และหลีกเลี่ยงการแชร์ข่าวที่ไม่เป็นทางการ
อ่านข่าว
สธ.เฝ้าระวัง "สารหนู-ตะกั่ว" ปนเปื้อน "แม่น้ำกก" พบเกินมาตรฐานหลายจุด