วันนี้ (23 พ.ค.2568) นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ในช่วงหน้าฝนนี้ ศูนย์พิษวิทยา และฝ่ายศึกษาสายพันธุ์เชื้อราก่อโรค สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับตัวอย่างเพื่อตรวจวิเคราะห์ชนิดของเห็ด ซึ่งเป็นเห็ดที่มีผู้ป่วยกินแล้วเข้าโรงพยาบาล
ทั้งนี้ มีเห็ดพิษที่ส่งตรวจยืนยันในช่วงหน้าฝนนี้ ได้แก่ เห็ดระโงกหิน หรือเห็ดระงากขาว เห็ดระงากหมวกดำ เห็ดถ่านเลือด เห็ดหมวกจีน เห็ดคันร่มพิษ เห็ดหัวกรวดครีบเขียว ซึ่งเห็ดพิษบางชนิดจะมีลักษณะคล้ายกับเห็ดที่กินได้ ดังนั้นกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงมีวิธีคัดแยกเบื้องต้นในการจำแนกเห็ดพิษกับเห็ดไม่มีพิษ ดังนี้

เห็ดระโงกหินหรือเห็ดระงากขาว และเห็ดระงากหมวกสีดำ
สร้างพิษกลุ่ม Amatoxins เมื่อกินเห็ดพิษกลุ่มนี้ ผู้ป่วยจะเกิดอาการภายใน 6-24 ชั่วโมง มีอาการท้องร่วง เป็นตะคริวที่ท้อง คลื่นไส้ อาเจียนแสดงอาการประมาณ 1 วัน หลังจากนั้นมีอาการตับและไตวายและอาจเสียชีวิต
วิธีการคัดแยกเห็ดระโงกหิน หรือเห็ดระงากขาว และเห็ดระงากหมวกสีดำ มีพิษ ผิวหมวกเห็ดบริเวณขอบหมวกไม่มีริ้วคล้ายซี่หวี และก้านตันตลอดแนวเมื่อผ่าก้านเห็ด

ส่วนเห็ดระโงกขาวที่กินได้ ผิวหมวกเห็ดสีขาวครีม สีเหลือง ผิวเรียบมันวาว ขอบหมวกมีริ้วคล้ายซี่หวีและก้านกลวงตลอดแนวเมื่อผ่าก้านเห็ด ในกรณีของเห็ดระโงกไส้เดือน หรือเห็ดขี้ไก่เดือน ผิวหมวกเห็ดสีน้ำตาลเข้มกลางหมวกแล้วค่อย ๆ จางลงมาที่ขอบ ผิวเรียบ ขอบหมวกมีริ้วคล้ายซี่หวีและก้านกลวงตลอดแนวเมื่อผ่าก้านเห็ด
เห็ดถ่านเลือด
เกิดอาการภายใน 2 ชั่วโมง มีอาการระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร ต่อมาหลังจาก 6 ชั่วโมง มีอาการเจ็บกล้ามเนื้อ ตับและไตวายและอาจเสียชีวิต วิธีการคัดแยก เห็ดถ่านเลือดมีพิษ หมวกเห็ดทรงกรวยขนาดใหญ่ สีน้ำตาลเข้มถึงสีดำ ครีบห่างสีเหลืองอมน้ำตาล และมีน้ำยางสีแดงเมื่อผ่าดอกเห็ด
ส่วนเห็ดถ่านเล็กที่กินได้ หมวกเห็ดรูปทรงชามคว่ำขนาดเล็ก สีขาวอมเทาถึงดำ ครีบถี่สีขาว และไม่พบน้ำยางสีแดงเมื่อผ่าดอกเห็ด

เห็ดหมวกจีน
สร้างสารพิษมัสคารีน และเห็ดคันร่มพิษ มีลักษณะคล้ายเห็ดโคน หรือเห็ดปลวกที่กินได้หลายชนิด และเห็ดหมวกจีนมีพิษบางชนิดมักขึ้นใกล้กับจอมปลวกเหมือนกับเห็ดโคน ทำให้ชาวบ้านเข้าใจผิดว่าเป็นเห็ดโคนกินได้และเกิดเหตุการณ์บ่อยครั้ง
เมื่อกินเห็ดพิษกลุ่มนี้ ผู้ป่วยจะเกิดอาการภายใน 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง มีอาการเหงื่อออกมาก น้ำตาไหล น้ำลายไหล ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงชีพจรเต้นช้า และอาจทำให้เสียชีวิตได้ภายในครึ่งชั่วโมง
ส่วนเห็ดคันร่มพิษสร้างสารพิษ ทำให้เกิดอาการระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน และอาจเกิดสภาวะหายใจลำบาก วิธีการคัดแยก เห็ดหมวกจีน ผิวหมวกเห็ดหยาบ กลางหมวกเห็ดเป็นปุ่มนูน ขอบหมวกฉีกเมื่อบานครีบมีสีเหลืองอมน้ำตาล และสีชมพูอมน้ำตาล, เห็ดคันร่มพิษ ผิวเรียบ กลางหมวกเห็ดเป็นปุ่มนูน ครีบมีสีชมพูอมน้ำตาล

เห็ดหัวกรวดครีบเขียว
เมื่อกินเห็ดพิษกลุ่มนี้ ผู้ป่วยจะเกิดอาการภายใน 15 นาที ถึง 4 ชั่วโมง ทำให้ระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เป็นตะคริวที่ท้อง และท้องเสีย วิธีการคัดแยก เห็ดหัวกรวดครีบเขียว หมวกเห็ดทรงชามคว่ำ บริเวณกลางหมวกมีเกล็ดขนาดใหญ่ ครีบมีสีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีเขียวปนเทาเมื่อแก่ และก้านมีวงแหวนขอบสองชั้น

เห็ดก้อนฝุ่น หรือเห็ดไข่หงส์ (Scleroderma)
ห้ามกิน เมื่อกินเห็ดพิษกลุ่มนี้จะเกิดอาการระคายเคืองระบบทางเดินอาหารภายใน 1 ถึง 3 ชั่วโมง โดยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย นอกจากนี้ยังสามารถก่อให้เกิดอาการมึนงง ตามัว และสภาวะหายใจลำบาก
วิธีการคัดแยกเห็ดก้อนฝุ่น พบลักษณะคล้ายรากหรือก้านดอก ผิวไม่เรียบคล้ายมีเกล็ดปกคลุม และเมื่อผ่าดอกเห็ดอาจพบการเปลี่ยนสี
ส่วนเห็ดเผาะหรือเห็ดถอบที่กินได้ ลักษณะของเห็ดเผาะหนัง จะมีผิวเรียบ ดอกเห็ดหนาและแข็ง ส่วนเห็ดเผาะฝ้าย ผิวเรียบมีเส้นใยที่เป็นขุยสีขาวปกคลุม ดอกอ่อนนุ่ม โดยทั้ง 2 ชนิดต้องไม่พบลักษณะคล้ายรากหรือก้านดอก

ป้องกันกินเห็ดพิษ
- ควรกินเห็ดที่รู้จัก และต้องมั่นใจว่าเป็นเห็ดที่กินได้
- ควรปรุงเห็ดให้สุกก่อนกิน โดยเฉพาะเห็ดระโงกในระยะไข่
- ผู้ที่มีอาการภูมิแพ้เกี่ยวกับเห็ดให้หลีกเลี่ยงการกินเห็ด
- อย่ากินเห็ดพร้อมกับดื่มสุรา เพราะเห็ดบางชนิดจะปรากฎอาการพิษเมื่อดื่มแอลกอฮอล์
- เมื่อเกิดอาการพิษจากการกินเห็ด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ทำได้โดยให้กินผงถ่าน (activated charcoal) โดยบดละเอียด 2-3 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 1 แก้ว ผสมกับน้ำให้ข้นเหลว เพื่อดูดสารพิษของเห็ดในทางเดินอาหาร และรีบนำผู้ป่วยไปหาหมอหรือส่งโรงพยาบาล พร้อมกับนำเห็ดที่เหลือจากกินไปด้วย เพื่อให้แพทย์ใช้ประกอบการวินิจฉัย รักษาตามอาการ
อ่านข่าว : เปิดเงื่อนไขรับบริการรักษาโรคไตฟรี ผู้ประกันตน ม.33-ม.39
แท็กที่เกี่ยวข้อง: