วันนี้ (22 พ.ค.2568) กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ข้อมูลล่าสุด ณ สัปดาห์ที่ 21 ของปี 2568 (วันที่ 18 - 22 พ.ค.) พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 21,132 คน ในจำนวนผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยนอก แต่มีผู้ที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล 1,128 คน จำนวนการเสียชีวิต 1 คน ยอดผู้ป่วยสะสม (ตั้งแต่ 1 ม.ค.68- ปัจจุบัน) อยู่ที่ 149,190 คน เสียชีวิตสะสม 31 คน
จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร จำนวน 3,477 รองลงมาเป็น ชลบุรี จำนวน 1,418 สมุทรปราการ จำนวน 1,024 คน ไม่ระบุจังหวัด 1,018 คน และนนทบุรี 980 คน ช่วงวัยที่ติดเชื้อมากที่สุดคือวัยทำงาน ช่วงอายุ 30-39 ปี เป็นอันดับ 1 ช่วงวัย 20-29 ปี เป็นอันดับ 2 และช่วงวัย 40-49 ปี เป็นอันดับ 4 ที่น่าห่วงคือกลุ่ม 60 ปีขึ้นไป ที่ติดมากเป็นอันดับ 3 และกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังอาการ

เชื้อโควิด-19 ที่พบในประเทศไทยขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ XEC ซึ่งผู้ที่เคยเป็นมาแล้วเป็นซ้ำได้อีก และส่วนใหญ่จำนวนมากไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อมีอาการน้อย แต่แพร่กระจายได้ จึงเป็นเหตุให้มีการแพร่กระจายได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว
อ่านข่าว : ใครป่วยช่วงนี้ ชวนเช็กอาการโควิด-19 พร้อมวิธีป้องกัน
ผู้ป่วยโควิดไม่รุนแรง แนะหาหมอออนไลน์ผ่าน 3 แอปฯ
นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แนะนำประชาชนที่ต้องการติดต่อรับการดูแลจากผู้ให้บริการ tele-medicine หรือบริการทางการแพทย์ทางไกล ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สามารถหาหมอออนไลน์ผ่าน 3 แอปพลิเคชันสุขภาพ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ดังนี้
1. แอปพลิเคชัน Saluber MD (ซาลูเบอร์ เอ็ม ดี) ดำเนินการโดยสุขสบายคลินิกเวชกรรม
2. แอปพลิเคชัน Clicknic (คลินิก) ดำเนินการโดยคลิกนิกเฮลท์คลินิกเวชกรรม
3. แอปพลิเคชัน Mordee (หมอดี) ดำเนินการโดยชีวีบริรักษ์ คลินิกเวชกรรม ร่วมกับ สปสช.
กรมการแพทย์ได้มีการปรับปรุงแนวทางการดูแลผู้ป่วยให้สอดคล้องกับองค์ความรู้ใหม่ ๆ และมีการประกาศแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย การดูแลรักษา และการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งกำหนดไว้ว่า กรณีผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือสบายดี ให้รักษาแบบผู้ป่วยนอก และไม่ให้ยาต้านไวรัส เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง ส่วนกรณีผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญให้ดูแลรักษาแบบผู้ป่วยนอก และดูแลตามอาการ ตามดุลยพินิจของแพทย์ และกรณีผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงหรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือ ผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลาง ยังไม่ต้องให้ oxygen
อ่านข่าว : โควิด-19 พลิกโลก สู่โรคอุบัติใหม่ที่พร้อมรับมือ

ภาพประกอบข่าว
ภาพประกอบข่าว
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ดังข้างต้น มีเป้าหมายเพื่อให้การใช้ยาเป็นไปอย่างเหมาะสม ปลอดภัย และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อประชาชน ในกรณีผู้ป่วยไม่แสดงอาการหรือมีอาการไม่รุนแรง จะไม่มีการจ่ายยาต้านไวรัส เพราะส่วนมากสามารถหายได้เอง ซึ่งแม้ไม่ได้รับยาต้านไวรัส ทุกขั้นตอนยังคงอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ผ่านระบบบริการแพทย์ทางไกล (Telemedicine)
สำหรับผู้ป่วยที่มี อาการรุนแรง หากแพทย์ประเมินแล้วว่า การรักษาผ่านระบบ Telemedicine ไม่เพียงพอ จะมีการแนะนำให้เข้ารับบริการที่โรงพยาบาล หรือเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยใน โดยในกรณีดังกล่าวจะได้รับการจ่ายยาต้านไวรัสทางการแพทย์อยู่แล้ว
อ่านข่าว : รู้เท่าทันปฏิชีวนะ ใช้ถูกชีวิตปลอดภัย ใช้มากไป "เชื้อดื้อยา" มาเยือน