แม้ในปัจจุบันการระบาดของโควิด-19 จะสามารถควบคุมการแพร่เชื้อได้ดีขึ้นจากการฉีดวัคซีน ซึ่งช่วยสร้างภูมิคุ้มกันและลดความรุนแรงของอาการจนกลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่เนื่องจากโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่มักมีการกลายพันธุ์ ทำให้เชื้อไวรัสสามารถปรับตัวหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกัน ส่งผลให้ยังคงมีการระบาดเป็นระยะ ย้อนดูข้อมูลองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ตั้งแต่โควิด-19 เริ่มการระบาดจนถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2568 มีรายงานผู้ป่วยและได้รับการยืนยันผลแล้วกว่า 777.5 ล้านคน ผู้เสียชีวิตกว่า 7 ล้านคน สำหรับประเทศไทยมีรายงานผู้ติดเชื้อ 4.8 ล้านราย เสียชีวิต 34,743 ราย และยังพบผู้ติดเชื้ออยู่จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งตลอดปี 2567 มีผู้ป่วย 769,200 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 222 ราย

โควิด-19 รอยแผลอันโหดร้าย
“เคยคิดสั้นฆ่าตัวตายมาหลายครั้ง ตั้งคำถามกับตัวเองทำไมต้องเป็นผู้โชคร้าย รู้สึกเสียใจ ร้องไห้ตลอด ที่ชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงไปจากหน้ามือเป็นหลังเท้า เงินเก็บเพื่อหวังสร้างครอบครัวหมดไปกับค่ารักษากว่า 1 ล้านบาท ขายรถยนต์ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต้องกู้เงินกลายเป็นหนี้สินมาถึงทุกวันนี้”
คำบอกเล่าของพี่ตู่ ชาว จ.ชลบุรี ผู้ได้รับผลกระทบจากการป่วยโควิด-19 เป็นผู้ติดเชื้อกลุ่มแรกคลัสเตอร์สนามมวยช่วงเดือนมีนาคม 2563 จากการดื่มเหล้าแก้วเดียวกันกับเพื่อนในวันนั้น กลายเป็นผู้พิการร่างกายในวันนี้
ย้อนกลับไปหลังจากติดเชื้อ พี่ตู่มีอาการหนักจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจและนอนในสภาพไร้สติกว่า 1 เดือน สาเหตุมาจากร่างกายไม่ตอบสนองต่อยา จนแพทย์ต้องแจ้งให้ญาติทำใจกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้น ต่อมาเคราะห์ซ้ำ เมื่อเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในสมองซีกขวา ส่งผลให้กล้ามเนื้อซีกซ้ายอ่อนแรงและพูดเสียงแหบ แม้แพทย์จะให้กลับบ้าน แต่พี่ตู่กลับไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ต้องจ้างพยาบาลพิเศษมาช่วยดูแล
ปัจจุบันพี่ตู่สามารถใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่เดินและวิ่งออกกำลังกายได้บ้าง ส่วนกล้ามเนื้อมัดเล็กยังใช้งานได้ไม่เต็มที่ จากเดิมที่เคยเป็นหัวหน้าแผนกรายได้เดือนละ 5 หมื่นกว่าบาท ตอนนี้กลับต้องทำงานเป็นพนักงานขับรถ และเมื่อรายได้โตไม่ทันค่าใช้จ่ายทำให้ประสบปัญหาทางการเงิน จนเกิดความขัดแย้งในครอบครัว ท้ายที่สุดต้องแยกทางกับภรรยา พี่ตู่ต้องทำหน้าที่ดูแลลูกสาววัย 4 ขวบเพียงลำพัง

เครื่องผลิตออกซิเจนกับปอดที่หายไป
เช่นเดียวกับ อดิเทพ ที่รับเชื้อโควิด-19 ช่วงพฤษภาคม 2564 แต่อาการกลับทรุดหนักจากภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดจนถูกส่งตัวรักษาต่อโรงพยาบาลศิริราช แพทย์ต้องใช้เครื่องช่วยพยุงการทำงานหัวใจและปอด (Extracorporeal Membrane Oxygenation : ECMO) โดยใช้การดึงเลือดออกจากตัวผู้ป่วยแล้วนำมาฟอกผ่านเครื่องที่ควบคุมอุณหภูมิและออกซิเจน ตัวเครื่องทำหน้าที่คล้ายปั๊มน้ำส่งคืนเลือดกลับเข้าไปในร่างกาย สามารถทำงานทดแทนปอดและหัวใจได้ในกรณีที่ปอดและหัวใจไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ
“โอกาสรอด 50:50 หนำซ้ำยังมีอาการแทรกซ้อนต้องปั๊มหัวใจยื้อชีวิต แพทย์ทำการเจาะคอต่อเครื่องช่วยหายใจที่เรียกว่า BiPAP เพื่อปรับความดันในอากาศระหว่างการหายใจเข้าและออก และต้องให้อาหารทางสายยาง ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงเป็นเจ้าชายนิทรานอนติดเตียงไปตลอดชีวิต”
อดิเทพใช้เวลารักษาตัวที่โรงพยาบาลถึง 8 เดือน และต้องพักฟื้นที่บ้านอีก 4 เดือน เนื่องจากยังมีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงและไม่สามารถเดินได้ในช่วงแรก นับจากวันนั้นถึงวันนี้ผ่านไปกว่า 3 ปี แต่ร่องรอยจากโควิด-19 ยังหลงเหลืออยู่ อดิเทพเล่าว่า ปอดของเขามีรอยแผลที่ส่งผลให้เกิดภาวะพังผืดในปอด ทำให้ประสิทธิภาพของปอดเหลือเพียง 51% ต้องใช้เครื่องผลิตออกซิเจนตลอด 24 ชั่วโมง และหากเคลื่อนไหวร่างกาย ระดับออกซิเจนในเลือดจะลดลงเหลือ 75% ซึ่งถือว่าอันตรายมาก เมื่อเทียบกับคนทั่วไปที่มีระดับออกซิเจนที่ 95%
“จากที่เคยมีร่างกายแข็งแรงและไม่มีโรคประจำตัว ตอนนี้แม้แต่เดินยังรู้สึกเหนื่อยหอบ และไม่สามารถเดินทางโดยเครื่องบินได้เนื่องจากระดับออกซิเจนในเลือดลดต่ำเกินไป แม้จะมีเครื่องผลิตออกซิเจนติดตัวก็ตามที อีกทั้งภูมิต้านทานในร่างกายก็ลดลง และต้องพบแพทย์ทุกเดือนเพื่อรับยาลดความดันเส้นเลือดแดงในปอดตีบ ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว นอกจากนี้ยังต้องเผชิญกับการสูญเสียครั้งใหญ่ เมื่อคุณแม่เสียชีวิตจากโควิด-19 ซึ่งทราบเรื่องหลังจากเวลาผ่านไป 8 เดือน ทำให้รู้สึกเสียใจอย่างมากที่แม้แต่การจัดงานให้ท่านก็ไม่สามารถทำได้” อดิเทพ กล่าว

คนนับล้านที่ได้รับผลกระทบหลังป่วยโควิด-19 โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) เผยแพร่งานวิจัยเมื่อปลายกุมภาพันธ์ 2568 โดยประมาณการทั่วโลกพบว่า 6 ใน 100 คน มีภาวะหลังโควิด-19 (Post Covid Condition : PCC) หรือเรียกอีกอย่างว่าภาวะโควิดระยะยาว อาการเหล่านี้อาจส่งผลต่อความสามารถในการทำงาน และอาจนำไปสู่การสูญเสีย รายได้ และคุณภาพชีวิตที่ลดลง
ข้อมูลกรมควบคุมโรคชี้ให้เห็นว่าในช่วง 20 ปี โรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และคร่าชีวิตประชากรโลกจำนวนมาก เริ่มจากโรคซาร์ส ที่ระบาดในปี 2546 ตามมาด้วยไข้หวัดนก , ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ A H1N1 , เมอร์ส , อีโบลา , ไข้ซิกา และโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากสัตว์สู่คน ปัจจัยจากการทำลายระบบนิเวศทางธรรมชาติ การรุกล้ำพื้นที่ที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงยุคโลกาภิวัตน์ ทำให้มีความเสี่ยงของการแพร่ระบาดระหว่างประเทศได้ง่ายขึ้น

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โควิด-19 ยังไม่จบ
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าแม้ผ่านมา 4-5 ปี ทุกอย่างดูเหมือนจะสงบลง แต่ความเป็นจริงโควิด-19 ยังมิได้หมดไปเพียงแต่กลายเป็นโรคประจำถิ่น จนสามารถอยู่ร่วมกันได้
สอดคล้องกับ Dr.Rick Brown เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิค ภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพ สำนักงาน WHO ประจำประเทศไทย สะท้อนว่าแม้ปัจจุบันการระบาดจะลดลง แต่ในกลุ่มเสี่ยงและคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนยังน่าห่วง ซึ่งยังพบผู้ป่วยหนักเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และมีผู้เสียชีวิตต่อเนื่อง ส่วนสิ่งที่น่าเป็นกังวลคือการเกิดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ระบาดรวดเร็วและรุนแรงกว่าเดิม
อ้างอิงจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐ (CDC) ให้ข้อมูลถึงวัคซีนโควิด-19 ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดความเสี่ยงของการเจ็บป่วยรุนแรง การตัดสินใจว่าควรฉีดหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนบุคคล แต่สำหรับคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ประโยชน์ยังคงมีมากกว่าความเสี่ยง
ล่าสุดองค์การอนามัยโลก (WHO) หน่วยงานหลักที่ดำเนินงานด้านสุขภาพโลกมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือ สนับสนุนให้คำแนะนำ ประสานงานด้านการสาธารณสุขเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมสุขภาพอนามัยของประชาชนทั่วโลก เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุ์ใหม่ที่น่าจับตามองและมาแรงในปี 2568 ได้แก่ LP.8.1 และ XEC

นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค
นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค
ความพร้อมของไทยรับมือโรคอุบัติใหม่
“แม้ช่วงแรกจะไม่มีข้อมูลความรู้มากพอ สิ่งที่ทำได้เวลานั้นพยายามควบคุมไม่ให้เกิดการระบาด ซึ่งไม่มีดีที่สุดในสถานการณ์ช่วงนั้น มีแต่คำว่าเต็มที่ และไม่มีใครบอกได้ว่าจะยืดเยื้อไปนานแค่ไหน นับเป็นวิกฤติครั้งใหญ่ระดับโลกในรอบศตวรรษที่สร้างความสูญเสียทั้งประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ และส่งผลกระทบระบบสังคม เศรษฐกิจในวงกว้าง”
นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่าการเตรียมความพร้อมด้านยาเวชภัณฑ์และวัคซีนของไทยจำเป็นต้องเชื่อมโยงกับนานาชาติ เนื่องจากข้อจำกัดในการผลิต สำหรับระดับภูมิภาคอาเซียนมีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิด โดยใช้กลไกความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูล การป้องกัน การพัฒนาระบบสุขภาพ และการเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรในแต่ละประเทศ
ขณะที่ ศ.นพ.ยง บอกว่าความพร้อมที่สำคัญอีกด้านคือบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องพัฒนาทักษะให้พร้อมรับมือกับโรคระบาด และคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที ซึ่งการเตรียมบุคลากรนั้นจำเป็นต้องเริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็ก
ด้วยความเป็นโลกาภิวัตน์ ประเทศไทยเชื่อมโยงกับนานาประเทศ ดังนั้นคำถามที่ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกที่เกิดโรคอุบัติใหม่ได้หรือไม่ ศ.นพ.ยง มองว่า ทุกประเทศมีโอกาสเท่าเทียมกัน เพราะปัจจัยเสี่ยงไม่ได้จำกัดอยู่ที่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่ขึ้นอยู่กับการรับมือ และความสามารถในการควบคุมโรคของแต่ละประเทศ

Dr.Rick Brown เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิค ภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพ สำนักงาน WHO ประจำประเทศไทย
Dr.Rick Brown เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิค ภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพ สำนักงาน WHO ประจำประเทศไทย
ระบบสาธารณสุขไทยในสายตาโลก
Dr.Rick Brown กล่าวว่า ไทยมีศักยภาพด้านสาธารณสุขที่แข็งแกร่งจากการเรียนรู้ในอดีต เห็นได้จากการทบทวนการดำเนินงานระหว่างปฏิบัติการสำหรับโควิด-19 ของประเทศเพื่อแนะนำให้ประเทศต่างๆ เป็นชาติแรกของโลก และมีการประเมินขีดความสามารถการป้องกัน ตรวจจับ และการตอบสนอง ต่อภัยคุกคามทางสุขภาพ
อีกทั้งไทยมีเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ครอบคลุมทั่วประเทศ ทั้งโครงการฝึกอบรมเน้นการพัฒนาทักษะด้านระบาดวิทยาภาคสนาม และระบบควบคุมโรคผ่านแดนที่ดีมาก รวมถึงความเชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วย การควบคุมการติดเชื้อ และห้องปฏิบัติการได้มาตรฐานสูง ทำให้ไทยสามารถรับมือกับโรคระบาดได้ดี
“ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการตรวจวิเคราะห์ทางพันธุกรรมที่ช่วยให้ตรวจเจอเชื้อโรคใหม่ได้เร็วขึ้น ระบบสาธารณสุขไทยมีการพัฒนาพร้อมรับมือโรคระบาดในอนาคต แม้ยังมีจุดต้องพัฒนา เช่น การเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังโรคจากสัตว์สู่คน การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการตรวจเชื้อโรคใหม่”

ส่องประเทศสมาชิกอาเซียนพร้อมหรือยัง?
ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสิงคโปร์ ที่ได้เรียนรู้จากบทเรียนการระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS) ในปี 2546 ซึ่งช่วยให้เตรียมพร้อมรับมือกับโรคระบาดในอนาคตได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามการระบาดของโควิด-19 เผยให้เห็นช่องโหว่ในการตอบสนองโดยเฉพาะการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสที่ใช้เวลานานถึง 3 วัน รัฐบาลสิงคโปร์จึงลงทุน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในโครงการวิจัยด้านการเตรียมรับมือและตอบสนองต่อโรคระบาด (PREPARE) เพื่อพัฒนาวิจัย การแบ่งปันข้อมูล และการปรับปรุงกฎระเบียบ
ซึ่งเป้าหมายในการเตรียมความพร้อมไม่เพียงแต่สำหรับการระบาดใหญ่ แต่ยังรวมถึงการรับมือกับการระบาดขนาดเล็ก การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ การพัฒนาห้องปฏิบัติการ ตลอดจนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระบบสาธารณสุข (อ้างอิงจากข้อมูล : ศูนย์โรคติดเชื้อแห่งชาติ (NCID) สิงคโปร์)
ขณะที่เวียดนามได้ประสบการณ์การรับมือจาก SARS และไข้หวัดนกตั้งแต่ปี 2546 เช่นกัน ข้อมูลจาก https://www.vietnam.vn/th/ ระบุว่าเวียดนามพัฒนาแนวทางการรับมือโรคอุบัติใหม่ผ่านการจัดตั้ง Vietnam One Health Partnership for Zoonoses (OHP) ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือของหลายหน่วยงานหลัก โดยใช้ 5 หลักการสำคัญ ได้แก่ การป้องกัน การตรวจจับ การแยกตัว การระบุตำแหน่ง และการรักษา
พร้อมพัฒนาเครือข่ายเฝ้าระวังโรคจากสัตว์สู่คน โดยเฉพาะในตลาดค้าสัตว์ปีกและปรับปรุงมาตรฐานสุขอนามัยในอุตสาหกรรม รวมถึงควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในมนุษย์และสัตว์เพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากองค์กรระดับโลก เช่น WHO, FAO และ USAID ในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการเพื่อค้นหาไวรัสสายพันธุ์ใหม่และวิจัยโรคอุบัติใหม่ รวมถึงเน้นการรักษาแบบทางไกลผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลเนื่องจากข้อจำกัดด้านบุคลากรของเวียดนามเอง
ถึงแม้จะมีการเตรียมพร้อมที่เข้มข้น แต่เวียดนามยังเผชิญกับอุปสรรคบางประการ เช่น การบูรณาการภาคสิ่งแวดล้อมที่ยังไม่ทั่วถึง และความต้องการเงินทุนระยะยาว

มองอนาคตหากโควิด-19 ไม่ใช่โรคระบาดสุดท้าย
เสียงสะท้อนผู้ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอันไม่อาจกลับมาเหมือนเดิมได้ “คิดว่าร่างกายแข็งแรงจนมองข้ามความร้ายแรงของโรคระบาดจึงทำให้มีสภาพเช่นวันนี้ อยากให้ทุกคนระมัดระวังในการดูแลสุขภาพ ไม่ประมาทการใช้ชีวิต รวมถึงคนที่มีอาการป่วยควรสังเกตอาการและไปพบแพทย์เพื่อลดการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น” พี่ตู่
“ต้องดูแลตัวเอง สุขภาพกาย สุขภาพใจ ออกกำลังกาย ป้องกันตัวเองให้พ้นจากเชื้อโรคต่างๆ เพราะไม่รู้ว่าโรคระบาดจะมาอีกเมื่อไหร่ หรืออาจมีโควิด 2025 ก็ได้” อดิเทพ
Dr.Rick Brown กล่าวว่า นำบทเรียนจากโควิด-19 มาพัฒนาและปรับปรุงหลายด้าน เช่น การตรวจจับโรคจากสัตว์สู่คน การบูรณาการระบบเฝ้าระวังเชื้อโรคทางเดินหายใจที่อาจก่อให้เกิดการระบาดใหญ่ โดยเฉพาะการผสานระบบเฝ้าระวังโควิด-19 กับระบบเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่ รวมถึงการประเมินความเสี่ยงอย่างเป็นระบบและเชื่อมโยงสู่การใช้มาตรการทางสังคม นอกจากนี้ห้องปฏิบัติการมีบทบาทสำคัญในการถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อระบุเชื้อโรคได้อย่างรวดเร็ว
เพราะโควิด-19 เป็นเหมือนสัญญาณเตือนและแบบฝึกหัดให้เราตระหนักถึงการเตรียมพร้อมรับมือกับโรคระบาดที่อาจร้ายแรงยิ่งกว่านี้ในอนาคต
เช่นเดียวกับ ศ.นพ.ยง ระบุว่า การถอดบทเรียนจากผลกระทบของโรคระบาดร้ายแรง ชี้ให้เห็นว่าการไม่ตื่นตระหนกเป็นสิ่งสำคัญ เพราะในช่วงการระบาดของโควิด-19 บทบาทของสื่อมวลชนและโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลมาก หากข้อมูลที่เผยแพร่ไม่ถูกต้องหรือทำให้เกิดความตื่นตระหนกเกินไป จะส่งผลให้การใช้ทรัพยากรไม่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การควบคุมการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายได้
“เมื่อไม่สามารถหลีกเลี่ยงโรคระบาดได้ สติและการเตรียมความพร้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่กระนั้นการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ประชาชน และสื่อมวลชนในการใช้ข้อมูลที่ถูกต้องในการตัดสินใจ จะช่วยควบคุมผลกระทบได้ แม้ในอนาคตจะมีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้น ประเทศไทยก็สามารถรับมือกับความท้าทายนี้ได้”
ด้าน นพ.ภาณุมาศ เสริมว่า ข่าวปลอม (Fake News) เป็นปัญหาสำคัญในช่วงโรคระบาด เพราะความตระหนกและตระหนักมักมาคู่กัน บางครั้งความตระหนกอาจช่วยให้ประชาชนรับรู้ข้อมูล แต่ก็อาจสร้างความกังวลกลัวเกินเหตุ กรมควบคุมโรคจึงดำเนินการโดยนำข้อมูลปัจจุบันที่ถูกต้องและเชื่อถือได้มาแจ้งกับประชาชน เพื่อจัดการสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ
โควิด-19 บทเรียนสำคัญที่เผยให้เห็นจุดแข็งจุดอ่อนของระบบสาธารณสุข ซึ่งช่วยเตรียมความพร้อมสำหรับโรคอุบัติใหม่ในอนาคต ในการรับมือวิกฤติครั้งนี้เปรียบเสมือนการซ้อมรบ หลังจากจบศึกแล้ว ทุกฝ่ายได้เรียนรู้เพื่อนำไปสู่การพัฒนา

โควิด-19 สร้างบทเรียนและความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้แก่โลกในหลายมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และวิถีชีวิต โดยทำให้เกิดการปรับตัวสู่ความปกติใหม่ (New Normal) ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทุกคนต้องยอมรับและนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน โรคติดต่อไม่สามารถสิ้นสุดได้ง่ายดาย แต่เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับมันอย่างมีสติ หากโควิด-19 ไม่ใช่โรคระบาดสุดท้าย โลกจึงต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ภายใต้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งประชาชน ชุมชน รัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข และในระดับนานาชาติ เพื่อให้สามารถรับมือและก้าวผ่านวิกฤติไปได้
อ่านข่าว :
ใครป่วยช่วงนี้ ชวนเช็กอาการโควิด-19 พร้อมวิธีป้องกัน
โควิด-19 ติดเชื้อพุ่ง 34,785 คน เสียชีวิต 3 คน กทม.ป่วยมากสุด
ครึ่งปี 68 ป่วยโควิดกว่า 41,000 คน กรมควบคุมโรคยันตัวเลขต่ำกว่าปีก่อน
จับตา! โควิดหลังสงกรานต์เสี่ยงพุ่งเทียบชัดปี 67 เตือนกลุ่มเสี่ยง