ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ต่อต้านชาวยิวระอุ! เหตุรุนแรงสหรัฐฯ เกือบหมื่นครั้งสูงสุดรอบ 46 ปี

ต่างประเทศ
23 พ.ค. 68
13:34
116
Logo Thai PBS
ต่อต้านชาวยิวระอุ! เหตุรุนแรงสหรัฐฯ เกือบหมื่นครั้งสูงสุดรอบ 46 ปี
อ่านให้ฟัง
06:39อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เหตุยิง จนท.สถานทูตอิสราเอลเสียชีวิต 2 คน กลางกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เรียกเสียงวิจารณ์ไปทั่วโลก ท่ามกลางการจับตามองถึงกระแสต่อต้านชาวยิวในสหรัฐฯ ที่รุนแรงและชัดเจนเพิ่มมากขึ้น นับตั้งแต่การสู้รบปะทุขึ้นในกาซาเมื่อปี 2566 สถานการณ์นี้น่ากังวลแค่ไหน ?

อัตราการเกิดอาชญากรรมจากความเกลียดชังที่พุ่งเป้าไปที่ชาวยิวในสหรัฐฯ เพิ่มสูงทำสถิติในรอบหลายสิบปี ขณะที่ชาวยิวส่วนใหญ่รู้สึกปลอดภัยน้อยลงด้วย

แม้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กระแสต่อต้านชาวยิวจะทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก ซึ่งรวมถึงในสหรัฐฯ แต่เหตุโจมตีเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กำลังกลายเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนอีกตัวอย่างหนึ่งของสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้หรือไม่

ผู้ต้องสงสัยตะโกนคำว่า "Free Palestine" เพื่อสนับสนุนการปลดปล่อยปาเลสไตน์ ขณะถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยควบคุมตัว หลังชายคนดังกล่าวยิงเจ้าหน้าที่สถานทูตอิสราเอล 2 คน เสียชีวิต บริเวณด้านนอกพิพิธภัณฑ์ชาวยิว

รัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอล ระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นผลโดยตรงจากการยั่วยุให้เกิดกระแสต่อต้านชาวยิวและอิสราเอลทั่วโลก โดยฝีมือของผู้นำและเจ้าหน้าที่ของหลายประเทศ ไปจนถึงองค์การระหว่างประเทศ โดยเฉพาะจากยุโรป

มองในด้านหนึ่ง นี่อาจเป็นการตอบโต้ของรัฐบาลอิสราเอล หลังถูกชาติตะวันตกกดดันอย่างหนักจากปฏิบัติการโจมตีในกาซา ซึ่งทำให้มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 53,000 คน ขณะที่ผู้นำอิสราเอลสั่งยกระดับการรักษาความปลอดภัยของสถานทูตและสถานกงสุลทั่วโลกทันทีที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น

ข้อมูลจากองค์กรที่ทำงานเพื่อต่อสู้กับกระแสต่อต้านชาวยิวในสหรัฐฯ ชี้ว่า เหตุต่อต้านชาวยิว ไม่ว่าจะเป็นการก่อกวน คุกคาม ทำลายทรัพย์สินและทำร้ายร่างกาย เพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2566 ซึ่งเป็นปีที่เกิดสงครามในกาซา ตัวเลขเหตุรุนแรงที่กระทำต่อชาวยิวในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 8,800 เหตุการณ์

ขณะที่เมื่อปีที่แล้ว เกิดเหตุต่อต้านชาวยิวมากกว่า 9,000 เหตุการณ์ สูงที่สุดนับตั้งแต่องค์กรนี้เริ่มเก็บข้อมูลเมื่อ 46 ปีที่แล้ว ซึ่งที่น่าตกใจอย่างมาก คือ ตัวเลขเหตุโจมตีในปัจจุบันเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 344 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่ถ้าย้อนข้อมูลไป 10 ปี จะพบว่า ตัวเลขเหตุต่อต้านชาวยิวในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 900 เลยทีเดียว

ข้อมูลดังกล่าวค่อนข้างสะท้อนชัดเจนว่า เหตุการณ์ 7 ต.ค.2566 มีผลต่อกระแสต่อต้านชาวยิวที่ถูกโหมกระพือให้รุนแรงมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนนำไปสู่เหตุรุนแรงหลายครั้ง ขณะที่ถ้ามองจากมุมของชาวยิวก็จะเห็นถึงกระแสความกังวลต่อประเด็นนี้ไปในทิศทางเดียวกัน

ผลสำรวจความคิดเห็นที่จัดทำโดย American Jewish Committee ซึ่งเป็นกลุ่มสนับสนุนชาวยิวในสหรัฐฯ เมื่อปลายปีที่แล้ว ชี้ว่า ชาวยิวกว่า 7 ใน 10 คน บอกว่า ในฐานะที่เป็นชาวยิวรู้สึกว่าปลอดภัยน้อยลง เพราะเหตุโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค.

โดยความหวาดกลัวต่อกระแสต่อต้านดังกล่าวทำให้ชาวยิวในสหรัฐฯ ร้อยละ 56 เลือกที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง และที่สำคัญ ชาวยิว 4 ใน 10 คน มักหลีกเลี่ยงการแสดงออกที่จะทำให้คนอื่นรู้ว่าตัวเองเป็นชาวยิว เพราะกลัวกระแสต่อต้าน ซึ่งอาจมาได้ในหลายรูปแบบ แต่ส่วนใหญ่มักเป็นการคุกคามในโลกออนไลน์

แม้ว่าเหตุต่อต้านชาวยิวจะพบได้ในทุกรัฐทั่วประเทศ แต่ความรุนแรงอาจจะแตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับขนาดชุมชนชาวยิวในรัฐนั้น ๆ อย่างรัฐที่พบเหตุต่อต้านชาวยิวมากที่สุดเมื่อปีที่แล้ว ได้แก่ นิวยอร์ก แคลิฟอร์เนีย นิวเจอร์ซีย์และเพนน์ซิลเวเนีย ซึ่งก็เป็นรัฐที่มีคนเชื้อสายยิวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

สัดส่วนเหตุการณ์ต่อจำนวนประชากร จะเห็นว่า กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สถานที่เกิดเหตุโจมตีในครั้งนี้ ขึ้นแท่นอันดับ 1 ทิ้งห่างรัฐอื่น ๆ โดยเมื่อปีที่แล้ว เกิดเหตุต่อต้านชาวยิว 151 เหตุการณ์ หรือคิดเป็นมากกว่า 23 เหตุการณ์ต่อประชากร 100,000 คน ตามมาด้วยนิวเจอร์ซีย์ นิวยอร์กและเวอร์มอนต์

จริง ๆ แล้ว คนหนุ่มสาวเผชิญกับกระแสต่อต้านชาวยิวมากกว่ากลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์และไลฟ์สไตล์ ซึ่งจุดนี้ย่อมกระทบไปถึงชีวิตในรั้วสถานศึกษาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยกลายเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวสนับสนุนปาเลสไตน์

โดยชาวยิวในสหรัฐฯ กว่า 1 ใน 3 มีประสบการณ์เจอกระแสต่อต้านอย่างน้อย 1 ครั้ง ในช่วงที่ยังเป็นนักเรียน-นักศึกษา และเกือบครึ่งหนึ่งรู้สึกไม่สบายใจและไม่ปลอดภัยในระหว่างที่อยู่ที่สถานศึกษา เพราะเป็นชาวยิว จึงมักจะหลีกเลี่ยงการแสดงออกว่าเป็นชาวยิว หรือแสดงความเห็นเกี่ยวกับอิสราเอล ขณะที่ร้อยละ 33 มองว่า กิจกรรมนักศึกษามีส่วนสนับสนุนกระแสต่อต้านชาวยิวด้วย

กระแสต่อต้านชาวยิวที่รุนแรงมากขึ้นในปัจจุบันเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข และไม่ควรปล่อยให้คนบางกลุ่มแอบอ้างกระแสดังกล่าว เพื่อใช้จำกัดการเคลื่อนไหวเพื่อแสดงออกทางการเมืองอย่างสันติ ต้องยอมรับว่า สถานการณ์และชะตากรรมของชาวปาเลสไตน์ในกาซาส่งผลสะเทือนไปทั่วโลกอย่างมากจริง ๆ

วิเคราะห์ : ทิพย์ตะวัน ธีรนัยพงศ์

อ่านข่าวอื่น : 

เตือนช่วงหน้าฝน พบผู้ป่วยกิน 6 เห็ดพิษ แนะวิธีสังเกต

สหรัฐฯ ตั้งข้อหาฆาตกรรมมือยิง จนท.สถานทูตอิสราเอล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง