วันนี้ (27 พ.ค.2568) ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวภายหลังประชุมติดตามและแก้ปัญหาสารพิษปนเปื้อนในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำโขง ว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ก่อนหน้านี้ได้มอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษ ตรวจสอบน้ำคุณภาพน้ำทุกสัปดาห์พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบถึงผลกระทบ
ส่วนการเจรจากับเหมืองแร่ต้นเหตุ ในประเทศเพื่อนบ้าน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนเนื่องจากต้องมีความมั่นใจว่า สาเหตุที่เกิดขึ้นเกิดจากสาเหตุอะไร
ขณะนี้เราได้ข้อมูลเพียงพอแล้วว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากการทำเหมืองแร่ทองคำ ในประเทศเพื่อนบ้าน และพร้อมแล้วที่จะไปเจรจากับฝ่ายเมียนมา
ผู้สื่อข่าวถามว่า ยืนยันได้อย่างไรว่าเป็นเหมืองทองหรือเหมืองแร่แรร์เอิร์ธ นายประเสริฐกล่าว ว่า ได้จากภาพถ่ายดาวเทียมจากจีสด้า ที่เก็บรวบรวมไว้ในระยะที่ผ่านมา ช่วงก่อนกับหลังผลต่างกัน สาเหตุที่ทำได้มั่นใจสาเหตุเกิดจากตรงนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข้อมูลของบริษัทหรือกลุ่มทุนที่ไปลงทุนหรือไม่ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่มี หรือมีข้อมูลถึงขนาดนั้น อย่างไรก็ตามการเจรจากับเมียนมา จะเป็นเรื่องแรกที่ต้องดำเนินการก่อน เพราะพื้นที่อยู่ในเขตประเทศเมียนมา ควรมีการเจรจากับรัฐบาลในระดับนโยบาย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้น ดูเหมือนว่าประเทศไทยตั้งรับอย่างเดียว นายประเสริฐกล่าวว่า ไม่ได้มีการตั้งรับอย่างเดียว ที่ผ่านมามีการทำงานเชิงรุก เช่น เสนอให้มีการขุดลอกแม่น้ำในฝั่งไทยทำไปแล้ว ในฝั่งเมียนมาเสนอให้ทำ โดยฝ่ายไทยสนับสนุนงบประมาณ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง เพราะการเจรจาในระดับนโยบาย ยังเป็นเรื่องสำคัญเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องระหว่างกัน โดยนำข้อมูลจากที่ฝ่ายเมียนมากับข้อมูลในฝ่ายไทยมาตัดสินใจร่วมกันในฐานะที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านด้วยกัน
เมื่อถามว่า ในพื้นที่เป็นของกลุ่มชาติพันธุ์ว้า มีเรื่องความเป็นสถานะของรัฐด้วย มีโอกาสจะไปพูดคุยได้หรือไม่ เพราะดูเหมือนว่ามีความพยายามเจรจาหลายครั้งแล้ว รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ก่อนหน้านี้ก็มีการเจรจาหลายระดับ ยังไม่พบอุปสรรค แต่ตนคิดว่า ถ้ามีการแจ้งไปทางการเมียนมา น่าจะไม่ขัดข้อง ที่ผ่านมาก็มีความยินดีเจรจาอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรอบเนื้อหาที่จะไปเจรจากับเมียนมาเป็นอย่างไร นายประเสริฐกล่าวว่า ต้นตอของปัญหา สรุปให้ตรงกับทางการเมียนมาก่อนว่า เกิดจากเหมืองแร่หรือไม่ ให้ทางการเมียนมายอมรับก่อน และกำหนดแนวทางแก้ไข ถ้าปัญหาที่เกิดขึ้นรุนแรง และมีระยะที่จะส่งผลต่อประเทศไทย มีความจำเป็นที่จะต้องขอความร่วมมือว่า ควรจะงดหรือยุติ หรือปรับปรุงในเรื่องของการทำเหมืองแร่หรือไม่อย่างไร ซึ่งก็เป็นหัวข้อในการเจรจา
ผู้สื่อข่าวถามรัฐบาลมีข้อมูลการทำเหมืองหรือไม่ รองนายกฯรัฐมนตรี ระบุว่า ข้อมูลที่ได้รับมีเหมืองแร่หลายแหล่ง ทางเมียนมายังเชื่อว่า การไหลเข้ามาในฝั่งไทย อาจจะมีแร่ที่มีค่าปนมาด้วยเหมือนกัน ตนยังเชื่อมั่นในการเจรจาที่จะยุติ และไปแก้ที่ต้นตอของปัญหา
ส่วนกรณีประเทศไทยจะแก้ปัญหาด้วยการสร้างฝาย มีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะแก้ปัญหาได้ หรืออาจทำให้เกิดการกระจายสารพิษมากขึ้น รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ข้อมูลจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระดับสารหนูช่วงรอยต่อชายแดนมีค่าสูง แต่หลังจากไหลมาถึงฝายเชียงราย เมื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำพบสารพิษลดต่ำ ซึ่งประเมินว่า ถ้ามีการสร้างฝายเก็บกักตะกอน น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า ซึ่งจะไปดูเรื่องของการลงทุนและระยะเวลา รวมถึงสำรวจความคุ้มค่าอีกครั้ง
ส่วนการแก้ปัญหาความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาค มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กรอบความร่วมมือมี แม่โขง -ล้านช้าง MRC ทหาร และกรอบอื่น ๆ ซึ่งในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม จะมีการเจรจาอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามที่ประชุมเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามกรอบที่ได้กำหนดไว้ แต่เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนมีความกระชับและรวดเร็วยิ่งขึ้น การเจรจาในระดับนโยบายรัฐกับรัฐเป็นเรื่องสำคัญที่ประชุมก็มอบหมายให้เป็นตัวเองเป็นตัวแทนในฐานะที่เป็นประธานอนุกรรมการฯ เป็นหัวหน้าคณะเจรจา
ตอนนี้ได้สั่งการกระทรวงการต่างประเทศ มีอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก เข้าร่วมประชุมด้วยและรับไปจะนัดหมายกำหนดหัวข้อประชุม และวันเวลาต่าง ๆ ย้ำว่า ฝ่ายไทยพร้อมแล้ว เจรจา เหลือเพียงแค่กระทรวงการต่างประเทศ ส่งสัญญาณบอกรัฐบาลเมียนมา ซึ่งก็ได้สั่งการไปแล้ว
อ่านข่าว : ชำแหละงบฯ "สำนักงานปลัด" ได้เพิ่ม 17 กระทรวง-ลดลง 3 กระทรวง
เทียบงบฯ “รายกระทรวง” ศธ.เพิ่มมากสุด 1.4 หมื่นล้าน “ยุติธรรม” 612 ล้านบาท
แท็กที่เกี่ยวข้อง: