ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คดีถอดถอน "นายกฯ แพทองธาร" 3 แนวทาง 2 ฉากทัศน์

การเมือง
13:04
2,416
คดีถอดถอน "นายกฯ แพทองธาร" 3 แนวทาง 2 ฉากทัศน์
อ่านให้ฟัง
09:02อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

วันนี้ (1 ก.ค.2568) คาดการณ์ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาคำร้องถอดถอนนายกฯ ออกมาเป็น 3 แนวทาง และเป็นที่มาของฉากทัศน์ทางการเมืองที่สืบเนื่องกับคำสั่งศาลฯ ด้วย 2 ฉากทัศน์ ซึ่งแต่ละฉากทัศน์จะต่างกันที่สถานการณ์การเมือง โดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาล

3 แนวทางกับฉากทัศน์ทางการเมืองที่ Worst Case คือ ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติรับคำร้องถอดถอนนายกรัฐมนตรี ตามที่ สว.ยื่นเรื่องไว้ และมีคำสั่งให้นายกรัฐมนตรี "แพทองธาร ชินวัตร" หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว และแม้นายกฯ จะปฏิเสธรายชื่อ "ครม.แพทองธาร 2" กรณีนั่งควบ "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม" จะไม่เกี่ยวกับแผนรองรับ แต่อีกมุมหนึ่งก็เป็นไปได้ว่าเกี่ยวข้องกัน

กรณีนายกรัฐมนตรี ควบ รมว.วัฒนธรรม ไม่ต่างอะไรกับกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควบ รมว.กลาโหม ในยุคที่ถูกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยชี้ขาดวาระการดำรงตำแหน่งเกิน 2 วาระ หรือ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งขณะนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวและไม่ได้เข้าทำเนียบ ขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า ทำหน้าที่นายกฯ แต่เข้ากระทรวงกลาโหม ด้วยบทบาท รมว.กลาโหม

เช่นเดียวกัน หากวันนี้ (1 ก.ค.) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องและสั่งนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ก็จะมีอีกตำแหน่งรองรับการทำงานใน ครม.อยู่ แม้นายกฯ จะบอกว่า "ไม่เกี่ยวกัน" ก็ตาม

สำหรับแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีคำร้องถอดถอนนายกรัฐมนตรี "แพทองธาร ชินวัตร" เหตุคลิปสนทนากับสมเด็จฮุน เซน ด้วยข้อกล่าวหาว่า ไม่ซื่อสัตย์สุจริต และ ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งวันนี้ศาลรัฐธรรมนูญนัดประชุมปรึกษาคดีและเป็นที่คาดการณ์กันถึง 3 ทางที่จะออกมา

1. ยกคำร้อง (จบเรื่อง)
2. รับคำร้อง (ไม่มีคำสั่งใดๆ)
3. รับคำร้อง (มีคำสั่งให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว)

Worst Case รับคำร้อง แล้วสั่งให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว พร้อมส่งคำชี้แจงใน 15 วัน คาดการณ์ว่า ทางหนึ่ง เทียบกับกรณีของอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน น่าจะนัดวินิจฉัยชี้ขาดได้ใน 30 วัน อีกทางหนึ่ง เทียบกับกรณีของอดีตนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็น่าจะนัดวินิจฉัยชี้ขาดอีก 3 เดือนข้างหน้า

แต่จะ 30 วันหรืออีก 3 เดือนข้างหน้า ปัจจัยในรัฐบาลหรือนอกสภาฯ ย่อมเกิดผลและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะสถานการณ์จาก 10 พรรคร่วมรัฐบาล

นี่จึงเป็นฉากทัศน์ทางการเมืองฉากหนึ่ง อย่างที่นายกฯ "แพทองธาร ชินวัตร" อ้างอิงไว้ และอาจเป็นไปตามคาดคือ รับคำร้อง สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว นายกฯ จะไม่ได้หายไปไหน ยังคงนั่งอยู่ในวง "ครม.แพทองธาร 2" ในฐานะ รมว.วัฒนธรรม แต่ฉากทัศน์นี้ตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่า 10 พรรคร่วมฯ แน่นปึ๊ก เป็นเอกภาพ ไม่แตกวงไปไหน

จะ 30 วันหรือ 3 เดือน ยังคง 256 เสียงในสภาฯ งานนี้ยังพอมีทางออก หาก Worst Case (นายกฯ ต้องพ้นจากตำแหน่ง) ตามสภาพบังคับของรัฐธรรมนูญ เหตุขาดคุณสมบัติ ไม่ซื่อสัตย์สุจริต และฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม (ครม.ก็ต้องพ้นทั้งคณะ)

รองนายกฯ ภูมิธรรม เวชยชัย ตาม ครม.แพทองธาร 2 น่าจะได้ทำหน้าที่รักษาการนายกฯ ครม.ก็ทำหน้าที่รักษาการ แต่กระบวนการของสภาฯ ก็เริ่มเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่ง "เพื่อไทย" ต้องเลือกแคนดิเดตของพรรค "ชัยเกษม นิติศิริ" คงไม่ข้ามไปชื่ออื่น

แต่ในฉากทัศน์เดียวกัน หาก 30 วันหรืออีก 3 เดือนข้างหน้า สมมุติฐานที่ว่าเปลี่ยนไป ในจังหวะที่จะเลือกนายกฯ คนใหม่ (เกิดคำถาม "เพื่อไทย" ยังคงมีความชอบธรรมไหม ปม ปัญหาต่างๆ ลุกลามไปอีก รวมทั้งการชุมนุมทางการเมืองก็กดดันพรรคร่วมฯ) อาการแบบนี้คิดว่าพรรคร่วมฯ จะเอาไง (ปมอยู่ที่รวมไทยสร้างชาติ)

แล้วหากเป็นจริงอย่างนั้น ลองโยกไป 88 เสียงในพรรคร่วมฯ ที่มีรวมไทยสร้างชาติเป็นหลัก โดยมี "เพื่อไทย-กล้าธรรม" ที่จะยังคงไม่เห็นดีเห็นงามในส่วนของที่จะโยกไป แต่ที่เห็นดีเห็นงามที่จะโยกไปแล้วไปรวม กับ "ภูมิใจไทย-พลังประชารัฐ" รวม 95 เสียงของพรรคฝ่ายค้านในสภา หากจะช่วงชิงจัดตั้งรัฐบาล เสนอชื่อนายกฯ ด้วย ภายใต้ข้อสังเกตว่าพรรคประชาชนและพรรคเป็นธรรมยังคงจุดยืนเดิมคือ "ยุบสภาฯ" เท่านั้น อาจเกิดเดทล็อกได้ ถ้า 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน เลือกไม่ได้..เสียงไม่พอ

ในขณะที่นายกฯ แพทองธาร พ้นไปแล้ว มีแต่นายกฯ รักษาการ กับ ครม.รักษาการ ("เพื่อไทย" จะวกกลับมาประกาศ "ยุบสภา" ชิงความได้เปรียบ ก็เป็นคำถามว่ามีอำนาจหรือไม่)

แม้ทางหนึ่ง "วิษณุ เครืองาม" อดีตรองนายกรัฐมนตรี พูดไว้เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2565 ว่า รักษาการนายกฯ มีอำนาจเหมือนนายกรัฐมนตรีทุกอย่าง แม้แต่การยุบสภาฯ ก็ประกาศได้ แต่อีกทางหนึ่ง นักกฎหมายอ้างอิงกันอยู่ว่า อำนาจยุบสภาเป็นอำนาจเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ รักษาการนายกรัฐมนตรีมีอำนาจเต็มตามกฎหมายการบริหารราชการแผ่นดินปี 2534 (แก้ไขเมื่อปี 2553) มาตรา 48 คืออำนาจการบริหารเท่านั้น

หาก 30 วันหรือ 3 เดือนข้างหน้า ในแบบ Worst Case นายกฯ แพทองธาร พ้นจากตำแหน่ง, ครม.พ้นทั้งคณะ, เลือกนายกฯ คนใหม่ไม่ได้ จะประกาศยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ก็มีข้อกังขา แล้วอะไรจะเกิดขึ้น เดดล็อกไหม สุญญากาศหรือไม่

จึงเป็นข้อสังเกตอีกว่า หากศาลฯ สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวขึ้นมาจริงๆ แล้วนายกฯ แพทองธาร เลือกที่จะลาออก "เพื่อไทยและ 9 พรรคร่วมฯ แพ็กกันเลือกนายกฯ คนใหม่ ชื่อ "ชัยเกษม นิติศิริ" เท่ากับว่า "เพื่อไทย" และรัฐบาลชัยเกษม 1 จะปิดทุกช่องทางอื่นที่จะเกิดขึ้น และยังพอมีเวลาที่จะผลักดันนโยบายธง เดินหน้าร่างกฎหมายสำคัญ แล้วค่อย ให้นายกฯ ชัยเกษม ประกาศยุบสภา ก็เป็นไปได้

แต่สภาวะการณ์ที่ว่านี้ นายกฯ แพทองธาร และครอบครัว "ชินวัตร" อาจไม่เลือก เพราะฉากทัศน์นี้จะเท่ากับปิดฉากครอบครัว "ชินวัตร" แล้วเข้าอีหรอบที่สังคมการเมืองวิเคราะห์ว่าจุดจบของนายกฯ ที่มาจากตระกูล "ชิน" ไม่ต่างอะไรกัน โดยเฉพาะอดีตนายกฯ ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ และมาถึงนายกฯ แพทองธาร

อ่านข่าว

1 ก.ค. ลุ้น ศาลรัฐธรรมนูญ รับ-ไม่รับคำร้องถอดถอนนายกฯ ปมคลิปเสียงคุย "ฮุนเซน"

โปรดเกล้าฯ ครม.แพทองธาร 2 นายกฯ ควบ รมว.วัฒนธรรม "ภูมิธรรม" มท.1 ถวายสัตย์ 3 ก.ค.

"สุริยะ" นั่งรักษาการนายกฯ หากศาล รธน.สั่ง "แพทองธาร" หยุดปฏิบัติหน้าที่