กฎหมายใหม่ของสิงคโปร์ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวานนี้ (1 ก.ค.2568) ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด นั่นก็คือปัญหาที่มิจฉาชีพใช้สารพัดวิธีในการล่อลวงเหยื่อ ให้เชื่ออย่างสนิทใจ ไม่ว่าจะด้วยสถานการณ์ใด ๆ และโอนเงินให้โดยดีด้วยลูกไม้ต่าง ๆ ที่ตัวเหยื่อเองจะไม่ตะขิดตะขวงใจ แถมพอคนใกล้ตัวหรือ เจ้าหน้าที่ออกมาเตือนภัย กลับไม่ยอมเชื่อเสียอีก
ทางการสิงคโปร์จึงได้ออกกฎหมายป้องกันการหลอกลวง ปี 2025 เพื่อแก้ปัญหานี้โดยตรง ด้วยการเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ยื่นมือเข้าไปควบคุมบัญชีธนาคารของเหยื่อเสียเลย
กฎหมายนี้ที่ผ่านสภาไปแล้วเมื่อต้นปีและมีผลบังคับใช้ 1 ก.ค.2568 เป็นวันแรก กฎหมายนี้ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่สั่งระงับการโอนเงินออกจากบัญชี ห้ามกดเอทีเอ็ม และห้ามกระทำการใด ๆ ที่เกี่ยวกับบัตรเครดิตหรือสินเชื่อในรูปแบบต่าง ๆ ที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับมิจฉาชีพได้ โดยเจ้าของบัญชีที่ตกเป็นเหยื่อนั้นจะสามารถกดหรือถอนเงินได้ในจำนวนที่เหมาะสมแก่การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันเท่านั้น โดยต้องอยู่ภายใต้ดุลพินิจของตำรวจ
กฎหมายนี้เปิดทางให้ตำรวจสั่งการธนาคารเจ้าของบัญชีให้ดำเนินการได้ หากสงสัยว่าบุคคลที่เป็นเจ้าของบัญชีนั้น ๆ น่าจะกำลังถูกหลอก ต่อให้เจ้าของบัญชีไม่เชื่อ ตำรวจก็ดำเนินการได้และสามารถควบคุมบัญชีนั้น ๆ ได้ครั้งละ 30 วัน สามารถต่ออายุเพื่อขยายเวลาการบังคับควบคุมบัญชีแบบนี้ได้สูงสุด 5 ครั้ง
แม้จะดูเป็นการป้องปรามในเชิงรุกที่ตอบโจทย์ได้ตรงจุด แต่กฎหมายใหม่นี้ก็เผชิญกระแสวิจารณ์ว่า อาจจะเปิดช่องให้เกิดการใช้อำนาจในทางมิชอบได้ แต่กระทรวงมหาดไทยสิงคโปร์ยืนยันว่า การเข้าคุมบัญชีประชาชนแบบนี้จะใช้เป็นวิธีสุดท้ายเมื่อเจ้าหน้าที่พยายามช่วยเหลือเหยื่อให้รู้ตัวด้วยวิธีการอื่น ๆ จนสุดหนทางหรือพูดง่าย ๆ ว่าช่วยจนไม่รู้ว่าจะช่วยยังไงได้อีกต่อไปแล้ว
มาตรการสุดขั้วของสิงคโปร์เกิดขึ้นจากปัญหาการหลอกลวงที่รุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนตลอดหลายปีที่ผ่านมา สถิติที่รวบรวมโดยสำนักงานตำรวจสิงคโปร์พบว่า คดีหลอกหลวงและอาชญากรรมไซเบอร์เพิ่มขึ้นจาก 17,000 กว่าคดีเมื่อปี 2563 ขยับขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี จนกลายเป็นกว่า 55,000 คดี เมื่อปีที่แล้ว หรือมากกว่า 3 เท่าตัวเมื่อเทียบกับในปี 2563
โดยมูลค่าความเสียหายจากการหลอกลวงปีที่แล้ว สูงถึง 1,100 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือกว่า 28,000 ล้านบาท ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์
รายงานคดีหลอกลวงและอาชญากรรมไซเบอร์ของตำรวจสิงคโปร์ชี้ว่า ยอดความเสียหายในภาพรวมเพิ่มสูงขึ้นจากคดีที่มิจฉาชีพหลอกลวงเงินเหยื่อได้ครั้งละมาก ๆ แม้ว่าจะมีจำนวนผู้เสียหายน้อยกว่าคดีที่ถูกหลอกเป็นเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตาม
ขณะที่อัตราส่วนอายุของเหยื่อ กว่าร้อยละ 70.9 เป็นเยาวชนและวัยผู้ใหญ่อายุไม่เกิน 50 ปี ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุ แม้ว่าจะไม่ใช่เหยื่อส่วนใหญ่ แต่ยอดความเสียหายในกลุ่มเหยื่อที่เป็นผู้สูงอายุเฉลี่ยต่อราย นับว่าสูงที่สุดในทุกช่วงอายุ ซึ่งกรณีหนึ่งที่สภาสิงคโปร์หยิบยกมาหนุนการผ่านกฎหมายที่ให้ตำรวจเข้าระงับการโอนเงินของประชาชนได้ คือคดีที่หญิงวัย 64 ปี ถูกหลอกให้รักและสูญเงินถึง 400,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือมากกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งไม่ใช่แค่คดีนี้คดีเดียว แต่ร้อยละ 86 ของคดีหลอกหลวง เหยื่อจะสูญเงินผ่านการโอนเงินให้มิจฉาชีพด้วยตัวเอง
ขณะที่ Global Anti-Scam Alliance เครือข่ายต่อต้านการหลอกลวงระดับโลก พบว่าการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารเป็นช่องทางที่เหยื่อในเอเชียสูญเงินมากที่สุด แม้ว่าจะพบการสูญเงินผ่านสกุลเงินดิจิทัลหรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น แต่ถ้าไปดูหลาย ๆ ประเทศในแถบอาเซียนแล้ว ไทยเราอยู่ในอันดับต้น ๆ ที่สูญเงินผ่านช่องทางธนาคาร ลดหลั่นกันไปกับเวียดนาม มาเลเซียและประเทศอื่น ๆ
แม้ว่าธนาคารส่วนมากในสิงคโปร์จะมีฟังก์ชันอายัดบัญชีด่วน ที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถอายัดบัญชีของตนเองได้ทันที เมื่อสงสัยว่าถูกมิจฉาชีพล้วงเงินในบัญชีหรือเกิดเหตุความไม่ปลอดภัยใด ๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่ากฎหมายใหม่ของสิงคโปร์ที่ออกมาแก้จุดอ่อนหรือจุดที่สร้างปัญหาของการที่เหยื่อไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังถูกหลอก อาจจะทำให้หลาย ๆ ประเทศหันมาสนใจแนวทางแก้ปัญหาที่สุดโต่งแบบนี้กันบ้างไม่มากก็น้อย
วิเคราะห์โดย : วินิจฐา จิตร์กรี
อ่านข่าวอื่น :
"สุริยะ" นำ 14 รมต.ใหม่ถวายสัตย์ 3 ก.ค. เซ็นตั้ง "ภูมิธรรม" รักษาการนายกฯ
"นพ.ตุลย์" ยื่น "ปธ.วุฒิ" ล่าชื่อ สว. ถอดถอน "แพทองธาร" พ้น "รมว.วัฒนธรรม"