วันนี้ (3 ก.ค.2568) นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาว่า ขณะนี้ความตึงเครียดลดลงในระดับหนึ่ง โดยไม่มีการปะทะทางทหาร แต่ยังมีการคงกำลังทหารและอาวุธบริเวณชายแดน รัฐบาลไทยต้องการให้ทั้ง 2 ฝ่ายลดกำลังลงสู่ระดับปกติเหมือนในปี 2567 เพื่อความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ และหลีกเลี่ยงผลกระทบจากความตึงเครียด
นายมาริษย้ำว่า กระทรวงการต่างประเทศยึดมั่นในช่องทางการทูตในการสื่อสารและเจรจากับกัมพูชา ไม่ตอบโต้ผ่านโซเชียลมีเดีย เนื่องจากไม่ใช่ช่องทางทางการและอาจนำไปสู่ความเข้าใจผิด การสื่อสารผ่านช่องทางที่ไม่เป็นทางการอาจก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ จึงต้องใช้ช่องทางทางการเท่านั้น หากมีประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทูต หน่วยงานอื่นจะเป็นผู้ดำเนินการ นายมาริษยังขอให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย ซึ่งอาจมีทั้งข้อมูลที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง
พร้อมปฏิเสธข้อกังวลที่ว่าฝ่ายไทยสื่อสารกับประชาคมโลกน้อยเกินไป โดยยืนยันว่ากระทรวงการต่างประเทศและโฆษกกระทรวงได้สื่อสารอย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางการทูตถึงจุดยืนของไทย ความประสงค์ และความถูกต้องตามพันธกรณีระหว่าง 2 ประเทศ ไทยเรียกร้องให้กัมพูชาให้ความสำคัญกับการเจรจาทวิภาคีโดยเร็ว เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างสันติ การใช้โซเชียลมีเดียเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ผู้ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต้องรับผิดชอบ

ย้ำสันติภาพ ใช้ JBC แก้ปัญหา ไม่ขึ้นศาลโลก
นายมาริษยังย้ำว่า การเจรจาเรื่องเส้นเขตแดนไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลา แต่ไทยยืนยันปกป้องอธิปไตยอย่างแน่นอน โดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ต้องการให้เกิดการสูญเสียใด ๆ และมุ่งให้ประชาชนชายแดนอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไทยไม่ยอมรับเขตอำนาจของศาลโลกในข้อพิพาทนี้ตั้งแต่ปี 2503 และไม่กังวลต่อการที่กัมพูชาพยายามนำเรื่องขึ้นสู่ศาลโลก เนื่องจากศาลไม่มีอำนาจพิจารณา
นายเบญจมินทร์ สุกาญจนัจที อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) เมื่อวันที่ 14-15 มิ.ย.2568 ประสบความสำเร็จในการวางกรอบการทำงานด้านเทคนิคเพื่อจัดทำหลักเขตแดน ทั้ง 2 ฝ่ายทราบตำแหน่งของหลักเขตแดน 73 หลักที่มีการดำเนินการมากว่า 100 ปี รวมถึงจุดที่เห็นพ้องและขัดแย้งกัน ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงใช้โดรนเพื่อจัดทำแผนที่ให้แม่นยำยิ่งขึ้น และงดเว้นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิประเทศ รวมถึงระงับข้อพิพาทอย่างสันติผ่านการเจรจาทวิภาคี

MOU43 มีผลแก้ปมชายแดน
นายเบญจมินทร์ย้ำว่า MOU43 เป็นกลไกทวิภาคีที่มีผลผูกพันทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ทำให้ไทยเสียดินแดน และเป็นกรอบสำหรับการเจรจาเพื่อจัดทำแผนที่ร่วม ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา ส่วนกระแสข่าวที่ระบุว่าไทยยอมรับแผนที่ 1:200,000 ของกัมพูชานั้นไม่เป็นความจริง และไม่มีประเด็นนี้ในการประชุม JBC ฝ่ายไทยมองว่าเป็นเทคนิคของอีกฝ่ายที่สื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจผิด
นายมาริษระบุว่า การที่ผู้นำกัมพูชาแสดงความเห็นผ่านโซเชียลมีเดียถึงการเปลี่ยนผู้นำรัฐบาลไทย เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของไทย ซึ่งขัดต่อกฎบัตรอาเซียน กฎบัตรสหประชาชาติ และกฎหมายระหว่างประเทศ การกระทำนี้ไม่เป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ทวิภาคี กระทรวงการต่างประเทศได้สื่อสารกับประชาคมโลกในช่องทางที่เหมาะสมถึงการกระทำที่ไม่ถูกต้องนี้ และยืนยันไม่ตอบโต้ผ่านโซเชียลมีเดียเพื่อรักษาการเจรจาในอนาคต
อ่านข่าวอื่น :
ผนึกกำลังเสริมความเข้มแข็ง สู่ผู้พิการ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ภาคประชาชน ยื่นหนังสือ "วิปรัฐบาล" ผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม