ปี 2025 ญี่ปุ่นมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวมากทำสถิติ เมื่อเดือน เม.ย.เพียงเดือนเดียวตัวเลขดังกล่าวพุ่งสูงแตะ 3.9 ล้านคน แต่ตัวเลขนี้กลับหดตัวลงในเดือนถัดมา นอกจากเป็นเพราะพ้นช่วงพีคของฤดูท่องเที่ยวไปแล้ว อีกสาเหตุอาจรวมถึงมังงะเรื่องหนึ่งที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า "The Future I saw" หรือ "อนาคตที่ฉันมองเห็น" เขียนขึ้นโดย "เรียว ทัตสึกิ" และเผยแพร่เป็นครั้งแรกในเดือน ก.ค.1999
มังงะเรื่องนี้ได้รับความสนใจและถูกยกให้เป็นหนังสือทำนายอนาคต หลังจากเนื้อหาในมังงะเตือนว่าจะเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ในเดือน มี.ค.2011 ซึ่งบังเอิญตรงกับเหตุแผ่นดินไหว ขนาด 9.0 และสึนามิในภูมิภาคโทโฮคุ เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2011 พอดี

ภาพจาก Atipa Ekjamnong
ภาพจาก Atipa Ekjamnong
ขณะที่มังงะฉบับสมบูรณ์ที่ตีพิมพ์ออกมาเมื่อปี 2021 ระบุว่า ในวันที่ 5 ก.ค.2025 จะเกิดรอยแยกขึ้นใต้พื้นทะเลบริเวณญี่ปุ่นกับฟิลิปปินส์ ส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์สูงกว่าสึนามิปี 2011 สามเท่า พัดถล่มญี่ปุ่นและประเทศใกล้เคียง ซึ่งเรื่องราวในหนังสือมังงะเรื่องนี้ถูกหยิบขึ้นมาพูดคุยจนกลายเป็นกระแสความกังวลในโลกออนไลน์
จุดที่ทำให้คนยิ่งกังวลมากขึ้นอีก อาจเป็นเพราะความประจวบเหมาะของเหตุการณ์ในญี่ปุ่นช่วงนี้ โดยสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ตรวจพบการเกิดแผ่นดินไหวเพิ่มขึ้นกว่าปกติเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา และนับตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน ญี่ปุ่นเผชิญเหตุแผ่นดินไหวแล้วไม่ต่ำกว่า 1,000 ครั้ง เกือบทั้งหมดเกิดขึ้นบริเวณหมู่เกาะ "โทคาระ" ทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งตัวเลขนี้ทำสถิติสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1995
แม้ว่าแผ่นดินไหวส่วนใหญ่จะมีความรุนแรงไม่มากนัก ซึ่งมีขนาด 5.0 ขึ้นไป เกิดขึ้นเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น รวมทั้งไม่มีรายงานความเสียหาย ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและไม่มีความเสี่ยงเกิดสึนามิ แต่ทางการขอให้ประชาชนเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเตรียมพร้อมอพยพ รวมทั้งยังตั้งศูนย์จัดการภัยพิบัติขึ้นที่สำนักนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น

แม้ว่าตัวนักเขียนมังงะเรื่องนี้จะออกมาปฏิเสธกระแสข่าวเรื่องทำนายอนาคต พร้อมทั้งระบุว่าตัวเธอไม่ได้เป็นนักพยากรณ์ แต่ข่าวลือที่พูดต่อๆ กันบนสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้คนจำนวนหนึ่งที่มีแผนจะไปเที่ยวญี่ปุ่นตัดสินใจพับแผนการเดินทาง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวเอเชีย
อย่างที่ "ฮ่องกง" ผู้บริหารบริษัท EGL Tours ออกมายอมรับว่า ข่าวลือเรื่องการทำนายภัยพิบัติที่แพร่สะพัดบนสื่อสังคมออนไลน์ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวฮ่องกงยกเลิกทัวร์ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับญี่ปุ่นลงครึ่งหนึ่ง จนทำให้บริษัทต้องออกโปรโมชันจูงใจให้คนซื้อทัวร์ญี่ปุ่น เช่น ให้ส่วนลด หรือมีประกันแผ่นดินไหวเพิ่ม เพื่อให้ลูกค้าเที่ยวญี่ปุ่นได้อย่างอุ่นใจ
ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับตัวเลขนักท่องเที่ยวจากฮ่องกงที่เดินทางเข้าญี่ปุ่น เมื่อเดือน พ.ค.2025 ซึ่งลดลง 11% จากเมื่อปี 2024 ขณะที่สายการบินต้นทุนต่ำในฮ่องกงบางสายการบินประกาศยกเลิกเที่ยวบินไปญี่ปุ่น หรือเตรียมระงับการให้บริการบางเส้นทาง เนื่องจากมีความต้องการลดลง
การเกิดแผ่นดินไหวในญี่ปุ่นถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งข้อมูลในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาพบว่าญี่ปุ่นเผชิญเหตุแผ่นดินไหวมากขึ้นกว่าปกติอย่างเห็นได้ชัด หากนับย้อนไป 1 สัปดาห์ ญี่ปุ่นเกิดเหตุแผ่นดินไหวแล้วมากกว่า 600 ครั้ง

ในจำนวนนี้มี 4 วันที่ตัวเลขแผ่นดินไหวทะลุ 100 ครั้งต่อวัน โดยบางครั้ง แผ่นดินไหวเกิดขึ้นห่างกันไม่ถึง 1 นาที ซึ่งจากการเก็บข้อมูลสถิติของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ชี้ว่า เหตุแผ่นดินไหวเล็กๆ ที่มีความรุนแรงไม่มากนัก มักจะเกิดขึ้นหลายๆ ครั้ง ตามหลังเหตุแผ่นดินไหวขนาด 5.0 ขึ้นไป
หัวหน้าฝ่ายสังเกตการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ตั้งโต๊แถลงข่าวเมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อกลบกระแสความกังวลของประชาชน โดยระบุว่า ข่าวลือเรื่องแผ่นดินไหวใหญ่ไม่ได้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มารองรับและเป็นเพียงเรื่องโกหก
พร้อมทั้งย้ำว่า เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันยังไม่สามารถคาดการณ์การเกิดแผ่นดินไหวได้ เพราะจะต้องรู้เงื่อนไขทั้งเรื่องเวลา สถานที่และความรุนแรง ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทางการญี่ปุ่นออกมาแถลงข่าวเพื่อเรียกความเชื่อมั่นในลักษณะนี้
เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา หัวหน้าสำนักงานอุตุนิยมวิทยาออกมาปฏิเสธข่าวลือด้วยตัวเอง ระบุว่าเข้าใจคนที่รู้สึกไม่สบายใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและได้รับอิทธิพลจากข่าวลวงจนหันไปหลงเชื่อสิ่งที่มองไม่เห็น แต่ย้ำว่าแผ่นดินไหวเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อและเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ในญี่ปุ่น
อ่านข่าว
สถานกงสุลใหญ่ ขอคนไทยในฟูกูโอกะติดตามข่าวใกล้ชิด หลังเกิดแผ่นดินไหวกว่า 1,000 ครั้ง
ญี่ปุ่นเฝ้าระวัง! แผ่นดินไหวหมู่เกาะโทคาระต่อเนื่องกว่า 470 ครั้ง