ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คดีสูญหาย (พริก) "กะเหรี่ยง" ชำแหละวิถีคน "หนองหญ้าปล้อง"

สังคม
11:33
195
คดีสูญหาย (พริก) "กะเหรี่ยง" ชำแหละวิถีคน "หนองหญ้าปล้อง"
The Last Karen (Chilli)...ไม่ใช่ พริกกะเหรี่ยงต้นสุดท้ายที่หายไปจากหนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี เท่านั้น แต่อาจหมายถึง รสชาติจัดจ้าน ความหอม เผ็ดขึ้นจมูก ทุกครั้งๆ เมื่อถูกผสมเครื่องแกง ที่สูญหายไป และอาจเหลือไว้เพียงความทรงจำ หากไร่หมุนเวียนไม่กลับคืนมา

หากถามว่า "พริกกะเหรี่ยง" ที่ขึ้นชื่อว่ามีรสชาติจัดจ้านที่สุด ... มาจากที่ไหน คำตอบแรก คือ พริกกะเหรี่ยงหนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี 

พริกกะเหรี่ยง หนองหญ้าปล้อง ไม่ได้ถูกปลูกขึ้นในไร่ทั่วไป มันเป็นพืชที่ปลูกอยู่บนภูเขา เติบโตขึ้นร่วมกับพืชอื่นๆ ในรูปแบบการทำไร่ของชาวกะเหรี่ยงที่เรียกกันว่า "ไร่หมุนเวียน"

"แต่ทุกวันนี้ (2568) พวกเราชาวกะเหรี่ยง หนองหญ้าปล้อง ไม่ได้ปลูกพริกกะเหรี่ยงกันแล้ว" .... ชายคนหนึ่ง บอกกับเรา

เมื่อ(พริก)กะเหรี่ยงถูก "ลัก" พาตัว

ชาวกะเหรี่ยง "โผล่ว" เขาเกิดที่ห้วยกระซู่ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี เช่นเดียวกับชุมชนชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมที่นี่ 3 ชุมชน คือ ชุมชนห้วยกระซู่ ชุมชนห้วยหินเพลิง และชุมชนสาริกา มีวิถีชีวิตอาศัยทำกินด้วยการเกษตรแบบ "ไร่หมุนเวียน" ในผืนป่าแก่งกระจานที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ตั้งแต่ก่อนที่ "แก่งกระจาน" จะถูกประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

"เราต้องปลูกพริกกะเหรี่ยงในไร่หมุนเวียนเท่านั้น ... จึงจะได้พริกกะเหรี่ยงของแท้"

ชายชาวกะเหรี่ยง เริ่มอธิบายว่า พริกกะเหรี่ยง เป็นหนึ่งในพืชที่ปลูกไว้ในแปลงเดียวกันกับข้าวไร่ และพืชอื่นๆ รวมกว่า 80 ชนิด ในวิถีการทำเกษตร กรรมแบบไร่หมุนเวียน มันเจริญงอกงามอยู่บนผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ เพราะเป็นแปลงเกษตรที่ไม่จำเป็นต้องใช้ทั้งปุ๋ยหรือสารเคมีกำจัดศัตรูพืชใดๆเลย

ไร่หมุนเวียนของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง โดยปกติแล้วจะทำอยู่ในพื้นที่ป่า แต่ละครอบครัวจะแบ่งไร่ของพวกเขาออกเป็น 7 แปลง โดยใน 1 ปี จะใช้พื้นที่ทำไร่เพียง 1 แปลงเท่านั้น เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ก็จะทิ้งแปลงนั้นไว้ให้ดินได้ฟื้นตัวไปตามธรรมชาติพร้อมกับซากของพืชไร่ที่เก็บเกี่ยวไป ... ในปีถัดไป พวกเขาก็จะเปลี่ยนไปทำในแปลงที่ 2 และวนเช่นนี้ไปเรื่อยๆจนครบ 7 แปลง

และเมื่อมาถึงปีที่ 8 ก็จะกลับไปทำไร่ในแปลงที่ 1 ใหม่ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นก็กลายเป็นป่าที่ฟื้นตัวเต็มที่แล้ว มีคุณภาพดินที่ดี จึงไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยหรือสารเคมีในไร่หมุนเวียน

หมุนเวียนเช่นนี้มาตลอดหลายชั่วอายุคน .... ผืนป่าที่มีชุมชนแบบนี้อาศัยอยู่จึงยังคงอุดมสมบูรณ์จนประกาศเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้ เช่น อุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

แต่เมื่อประกาศเป็นป่าอนุรักษ์แล้ว ... "คนไทย" ที่ถูกเรียกว่า "ชาติพันธุ์" เหล่านี้ กลับกลายเป็นคนที่ถูกตีตราให้มีสถานะใหม่ว่า "ผู้บุกรุกป่า"

แน่นอนว่า (พริก)กะเหรี่ยง ... กลายเป็นสิ่งแปลกปลอมในบริบทการตีความของคำว่า "อนุรักษ์" ตามกฎหมายไปในทันที

"ทำไร่หมุนเวียนไม่ได้ ก็ไม่มีพริกกะเหรี่ยง คนกะเหรี่ยงที่หนองหญ้าปล้องซึ่งเป็นต้นตำรับของพริกกะเหรี่ยงที่รสชาติจัดจ้านที่สุด ไม่เหลือใครได้ปลูกพริกกะเหรี่ยงแล้ว" รุ่ง ยืนยันเสียงหนักแน่น

(พริก) กะเหรี่ยง-ชาติพันธุ์ "ผู้ร้าย" ในตำราอนุรักษ์ของรัฐ

"กฎหมายใหม่ บีบบังคับให้พวกเราต้องเปลี่ยนไปทำเกษตรแบบเชิงเดี่ยว"... รุ่ง เล่าสาเหตุที่พวกเขาจำเป็นต้องตัดใจจากพริกกะเหรี่ยง ข้าวไร่ และสายพันธุ์พืชที่หลากหลายอื่นๆ เพราะนโยบายและกฎหมายการจัดการป่าไม้ที่ดิน ไม่เคยยอมรับการมีอยู่ของไร่หมุนเวียน

นโยบายเพิ่มพื้นที่ป่า เกิดขึ้นมาตลอดตั้งแต่หมดยุคการให้สัมปทานป่าไม้ เพื่อทำไม้ในเชิงพาณิชย์ ในปี 2532 หลังเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ช่วงปลายปี 2531 ... และแม้ว่า ต้นเหตุของภัยพิบัติครั้งนั้นจะมาจากนโยบายของรัฐเอง แต่ความพยายามของรัฐในการเพิ่มพื้นที่ป่าหลังจากนั้น กลายเป็นการเอา "คน" ออกจาก "ป่า" โดย เฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยและดูแลรักษาป่ามาตลอด

รุ่ง เล่าว่า หลายพื้นที่มีความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้ารัฐกับพี่น้องชาติพันธุ์เรามาเป็นช่วงๆ และที่แก่งกระจานก็เช่นกัน ชาวบ้านมีบทเรียนมาแล้วที่บ้านบางกลอย ก่อนนี้มีนโยบายอพยพคนกะเหรี่ยงออกจากป่าเพื่อจัดสรรที่อยู่ให้ใหม่แต่ไม่มีที่ดินให้ทำกิน จึงเกิดความขัดแย้งมาตลอด เพราะชาวบ้านเมื่อไม่ที่ทำกินทำไร่หมุนเวียนไม่ได้ จึงต้องกลับเข้าไปอยู่อาศัยในป่าเหมือนเดิม เนื่องจากวิถีของเราคือการอนุรักษ์ ไม่ใช่การทำลายป่า

ในระยะหลัง เจ้าหน้าที่มีนโยบายใหม่ จากการขับไล่ เขาเปลี่ยนเป็นให้พวกเราลงชื่อเข้าร่วมโครงการเพื่อรับสิทธิทำกินในพื้นที่อุทยาน ... แต่สิทธินี้ มีเงื่อนไขหลัก คือ ห้ามทำไร่หมุนเวียน

โครงการที่ รุ่ง กล่าว คือ พระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์การอยู่อาศัยหรือทำกินในโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ (หากชุมชนใดอาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ก็จะใช้อีกฉบับหนึ่งคือ พระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า) ซึ่งแม้จะบอกว่า ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อุทยานฯ หรือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า สามารถเข้าร่วมโครงการเพื่อรับสิทธิในที่ดินทำกินได้ แต่ก็มีการกำหนดหลักเกณฑ์ ดังนี้

  • ได้ที่ดินทำกินครอบครัวละไม่เกิน 20 ไร่
  • มิได้มีสิทธิในที่ดินนั้น มีระยะเวลาบังคับใช้ครั้งละไม่เกิน 20 ปี (ได้สิทธิ 20 ปี)
  • การลงชื่อเข้าร่วมโครงการ เท่ากับยอมรับว่าอยู่อาศัยในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยได้รับการอนุญาตในรูปแบบการผ่อนผันจากหน่วยงานรัฐหรืออาจบอกได้ว่าเสียสิทธิอันชอบธรรมในฐานะชุมชนดั้งเดิมที่อยู่มาก่อนประกาศเขตป่าอนุรักษ์ไปเลย
  • จะต้องไม่ละทิ้งการทำประโยชน์หรือไม่อยู่อาศัยติดต่อกันเกิน 1 ปี โดยไม่มีเหตุอันควร

"จะต้องไม่ละทิ้งการทำประโยชน์หรือไม่อยู่อาศัยติดต่อกันเกิน 1 ปี โดยไม่มีเหตุอันควร ... แปลง่ายๆ ว่า เราได้สิทธิทำแปลงเดียว แปลงเกษตรที่ทำในปีแรก จะต้องทำต่อเนื่องไปทุกปี ถ้าพักแปลงนั้นไว้เพื่อให้ฟื้นตัวเองแบบไร่หมุนเวียนก็จะถูกยึดคืนเลย เพราะถือทำผิดหลักเกณฑ์ของเขา"

"พูดง่ายๆ คือ ห้ามทำไร่หมุนเวียน ... ต้องเปลี่ยนไปทำเกษตรเชิงเดี่ยวแบบคนพื้นราบ" คำอธิบายของ รุ่ง สะท้อนให้เห็นว่าวิถีเกษตรแบบไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงและอีกหลายชาติพันธุ์ มีสถานะเป็นความผิดในตำราวิชาอนุรักษ์ของหน่วยงานที่ทำงานด้านป่าไม้ที่ดินเสมอมา

กล้าพูดเลยว่า พริกกะเหรี่ยง หนองหญ้าปล้องของแท้ไม่มีแล้ว เพราะคนกะเหรี่ยงที่นี่ปลุกพริกกะเหรี่ยงไม่ได้มาหลายปีแล้ว แม้เรายังพอมีเมล็ดพันธุ์เหลืออยู่ แต่ไม่มีพื้นที่ให้ปลูกแล้ว

"พวกเราไปทำไร่หมุนเวียน หรือแค่มีร่องรอยทำไร่หมุนเวียนก็ถูกจับกุมดำเนินคดี จนไม่มีใครกล้าไปทำ"

"พริกกะเหรี่ยงแบบดั้งเดิม เปลี่ยนไปปลูกในรูปแบบเกษตรเชิงเดี่ยวไม่ได้ เคยมีคนลองปลูกแล้วหลายแปลง ก็หงิกงอเสียหายหมด มันต้องปลูกในไร่หมุนเวียน ต้องอาศัยความสมบูรณ์ของแร่ธาตุในดินตามธรรมชาติ ต้องมีต้นไม้อื่นแซม ต้องมีซากพืชที่ทับถมกัน .... ไม่ใช่แค่พริกกะเหรี่ยง แต่พืชเกือบทุกชนิดที่งอกงามในไร่หมุนเวียน ไม่สามารถเติบโตได้ดีแบบเดียวกันเลยเมื่อเปลี่ยนไปปลูกในแบบเกษตรเชิงเดี่ยว"

ชาวกะเหรี่ยง 3 ชุมชนในพื้นที่ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี มีทั้งหมดจำนวน 25 ครอบครัว แม้จะกันพื้นที่ไว้สำหรับทำไร่หมุนเวียนทั้งหมดประมาณ 700-800 ไร่ แต่เนื่องจากเป็นไร่หมุนเวียน ทำให้เมื่อพวกเขาลงมือทำไร่หมุนเวียนจริง ๆในแต่ละปี จะใช้พื้นที่ไม่ถึง 10% ของที่กันไว้ และเคยมีผลสำรวจมาแล้วว่า ทั้งหมดรวมกัน จะใช้พื้นที่ทำไร่เพียงประมาณ 70 ไร่ต่อปี เท่านั้น

แต่ ... ถ้าทั้ง 25 ครอบครัว ลงชื่อเข้าร่วมโครงการเพื่อรับสิทธิของกรมอุทยาน พวกเขาจะได้สิทธิครอบครัวละ 20 ไร่ รวมทั้งหมด 25 ครอบครัว มีค่าเท่ากับต้องใช้ที่ดินทำกินปีละ 500 ไร่ และยังต้องทำตามเงื่อนไขคือต้องทำต่อเนื่องติดต่อกันทุกปี

"ที่ดินทั้ง 500 ไร่ จะเต็มไปด้วย ปุ๋ยเคมี และยากำจัดศัตรูพืช เนื่องจากต้องเปลี่ยนไปปลูกพืชเชิงเดี่ยวแทน ... จึงไม่เข้าใจว่า เงื่อนไขที่หน่วยงานรัฐตั้งมา จะช่วยการอนุรักษ์ป่าได้ดีกว่าไร่หมุนเวียนอย่างไร"

"500 ไร่ต่อปี ที่เต็มไปด้วยสารเคมีในดิน จะอนุรักษ์ได้ดีกว่า 70 ไร่ต่อปี ที่ปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเองได้อย่างไร"

รุ่ง ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อคิดแบบนี้ จึงอดสงสัยไม่ได้ว่า โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์ป่าจริงๆ หรือต้องการบีบบังคับกดดันให้คนต้องหนีออกจากป่าไปเอง

(พริก)กะเหรี่ยงถูกบังคับสูญหาย-(หนี้)กะเหรี่ยงงอกเงย

"ยิ่งทำ ยิ่งจน ยิ่งจม ได้ไม่เท่าเสีย"

ชายชาวกะเหรี่ยงจากป่าแก่งกระจาน ใช้ข้อความนี้เป็นคำตอบเมื่อถูกถามว่า เขาได้เคยลองเปลี่ยนจากการทำไร่หมุนเวียนไปเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวบ้างหรือไม่

"แปลงไร่หมุนเวียนที่ทำกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นพ่อ เข้าไปทำไม่ได้แล้ว ... บ้านเราเคยลองทำเกษตรเชิงเดี่ยว แบบคนพื้นราบอยู่ 2-3 ปี ลองปลูกข้าวโพด ฟักทอง พริกหอม ข้าว ... ผลที่ได้คือ มีหนี้สินเพิ่มขึ้น เพราะต้นทุนสูงขึ้น ต้องใช้ปุ๋ย ใช้ยา เมื่อปลูกในแปลงเดิมซ้ำๆ หลายปี ดินยิ่งแย่ ก็ต้องใช้ปุ๋ยใช้ยาเพิ่มขึ้น ต้นทุนก็สูง... การจะปลูกเชิงเดี่ยวให้มีกำไร ต้องปลูกในปริมาณมากๆ ต้องมีที่ดินเยอะๆเพื่อให้พักแปลงได้จึงจะคุ้ม"

ในปี 2568 รุ่ง จึงเป็นชาวกะเหรี่ยงที่ไม่ได้ทำไร่หมุนเวียนอีกแล้ว เนื่องจากไม่สามารถเข้าไปในที่ดินแปลงนั้นได้ และไม่เพาะปลูกอะไรเลย เพราะไม่ต้องการเพิ่มยอดหนี้ที่ต้องผ่อนชำระให้กับธนาคารมากไปกว่านี้ และอาชีพเดียวที่เหลืออยู่คือ การเลี้ยงวัว

ชาวกะเหรี่ยงหนองหญ้าปล้อง ในยุคที่ยังทำไร่หมุนเวียน ไม่มีใครเป็นหนี้ ธกส.เลย ... แต่ปัจจุบัน คนกะเหรี่ยงหนองหญ้าปล้อง 90% กลายเป็นลูกหนี้ ธกส.หมดแล้ว เพราะต้องกู้เงินมาลงทุนกับต้นทุนการเพาะปลูกที่สูงขึ้น

"ปัญหาใหญ่ที่ตามมาคือ หลายคนมีหนี้นอกระบบไปด้วย เมื่อขายผลผลิตขาดทุน ก็ต้องไปหาแหล่งเงินอื่นมาจ่ายหนี้ ธกส.ให้ตรงเวลา เพื่อไม่ให้เสียเครดิตในการขอกู้รอบต่อไป"

"ป่าหมด-พริกกะเหรี่ยงหาย" หนี้ท่วม

นี่กลายเป็นคำจำกัดความชีวิตของชาวกะเหรี่ยงหนองหญ้าปล้องในปัจจุบัน ....วันที่หน่วยงานรัฐ ใช้ "กฎหมายอนุรักษ์" มาบีบคั้นให้ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงจากการทำไร่หมุนเวียน ไปเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวแทน

มาถึงบรรทัดนี้ พอจะมองเห็นเบาะแส ผู้ต้องสงสัยที่ลักพาตัว (พริก) กะเหรี่ยง ให้หายไปจากพื้นที่บ้านหนองหญ้าปล้องแล้วหรือยัง ??

รายงานโดย: สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา สื่อมวลชนอิสระ

อ่านข่าว : ป.ป.ช. ประกาศเพิ่มตำแหน่งเจ้าพนักงานของรัฐ ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน-หนี้สิน

2 นายแพทย์ใหญ่โยงคดีชั้น 14 ได้เลื่อนลำดับอาวุโสของ ตร.

"ภูมิธรรม" ปัดยุบสภา ไม่ทราบถอนร่างเอนเตอร์เทนเมนต์ฯ พรุ่งนี้หรือไม่