วันนี้ (8 ก.ค.2568) Reuters รายงาน จีนออกคำเตือนถึงสหรัฐฯ อย่ากลับมาใช้ภาษีนำเข้าสินค้าจีนตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2568 ซึ่งจะจุดชนวนความตึงเครียดทางการค้าอีกครั้ง พร้อมขู่ตอบโต้ ประเทศใดที่ร่วมมือกับสหรัฐฯ เพื่อตัดจีนออกจากห่วงโซ่อุปทาน
คำเตือนนี้มีขึ้นหลังจากทรัมป์ประกาศเมื่อวันที่ 7 ก.ค. ว่าจะเพิ่มภาษีนำเข้าจากหลายประเทศ รวมถึงจีน ซึ่งเผชิญภาษีสูงถึง 100 % ในระยะแรก โดยจีนมีเวลาถึงวันที่ 12 ส.ค.2568 เพื่อเจรจากับทำเนียบขาวเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีเพิ่มเติมจากช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.ที่ผ่านมา
หนังสือพิมพ์พีเพิลส์เดลีของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เผยแพร่บทความระบุว่า การเจรจาและความร่วมมือคือหนทางเดียวที่ถูกต้อง พร้อมประณามนโยบายภาษีของทรัมป์ว่าเป็น "การกลั่นแกล้ง" และยืนยันว่าจีนจะปกป้องผลประโยชน์ของตนอย่างเด็ดเดี่ยว ปัจจุบัน สหรัฐฯ เก็บภาษีสินค้าจีนเฉลี่ยร้อยละ 51.1 ส่วนจีนเก็บภาษีสินค้าสหรัฐฯ เฉลี่ยร้อยละ 32.6 ครอบคลุมการค้าทั้งหมด ตามข้อมูลจากสถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ
บทความยังวิจารณ์ประเทศในภูมิภาคที่ทำข้อตกลงลดภาษีกับสหรัฐฯ โดยตัดจีนออก เช่น เวียดนามที่เพิ่งลดภาษีจากร้อยละ 46 เหลือร้อยละ 20 แต่สินค้าที่ผ่านการถ่ายลำจากจีน ยังถูกเก็บภาษีร้อยละ 40 จีนย้ำว่าจะ "ไม่ยอมรับ" และจะตอบโต้อย่างหนัก หากชาติใดใช้ผลประโยชน์ของจีนเป็นเครื่องต่อรองกับสหรัฐฯ ทั้งนี้ ในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา สหรัฐฯ และจีนตกลงกรอบการค้า "พักรบชั่วคราว" แต่ความไม่ชัดเจนของรายละเอียดทำให้พ่อค้าและนักลงทุนจับตาว่าข้อตกลงนี้จะยั่งยืนหรือล่มสลาย
เกาหลีใต้ลุยเจรจาสหรัฐฯ หวังภาษีลดจาก 25 % ก่อนเดดไลน์
ทางด้านเกาหลีใต้ มองว่าการเลื่อนกำหนดจากเดิมวันที่ 9 ก.ค.เป็น 1 ส.ค. เป็นโอกาสให้เจรจาเพิ่มเติม รัฐบาลเกาหลีใต้ ภายใต้ ปธน.ลี แจ-มยอง ระบุผ่านกระทรวงอุตสาหกรรมว่า จะเร่งเจรจาเพื่อหาข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน
เกาหลีใต้ตั้งเป้าลดช่องว่างทางการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งในปี 2567 มีมูลค่า 55,600 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จากปีก่อน โดยเฉพาะจากยอดส่งออกรถยนต์ ทรัมป์ระบุในจดหมายถึงลีว่า ความสัมพันธ์ทางการค้า 2 ชาติ "ขาดสมดุล" และเชิญชวนให้เกาหลีใต้เสนอแนวทางเปิดตลาด รวมถึงลดกำแพงภาษีและไม่ใช่ภาษี โดยสินค้าสหรัฐฯ จะได้รับการยกเว้นภาษี
เกาหลีใต้ ซึ่งมีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2550 และปรับปรุงในปี 2561 สมัยทรัมป์ชุดแรก มีอัตราภาษีเกือบเป็นศูนย์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ มาร์โก รูบิโอ ย้ำว่ายังมีเวลาเจรจาก่อนวันที่ 1 ส.ค. และที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ วี ซัง-ลัก ได้พบกับรูบิโอเพื่อยืนยันว่าการประชุมสุดยอดระหว่างลีและทรัมป์จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือ นักวิเคราะห์มองว่าเกาหลีใต้ต้องการข้อตกลงที่ไม่เสียเปรียบเมื่อเทียบกับญี่ปุ่น ไต้หวัน หรือจีน ประชาชนคาดหวังให้ลีเจรจาอย่างเข้มแข็ง ดัชนีหุ้น KOSPI ปรับขึ้นร้อยละ 1.6 ในเช้าวันนี้จากความหวังในข้อตกลง
ญี่ปุ่นไม่ยอมง่าย! นายกฯ สั่งเจรจาเข้ม
วันนี้ (8 ก.ค.2568) NHK รายงานว่า ญี่ปุ่นเผชิญแรงกดดันจากจดหมายของทรัมป์ที่ระบุว่าจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าญี่ปุ่นร้อยละ 25 ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2568 หากไม่บรรลุข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐฯ นายกฯ ชิเงรุ อิชิบะ ตอบโต้ด้วยการเรียกประชุมคณะทำงานทันทีในวันนี้ และย้ำว่ารัฐบาลจะไม่ยอมจำนนง่าย ๆ พร้อมปกป้องผลประโยชน์ชาติและลดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและการจ้างงาน
อิชิบะระบุว่า ญี่ปุ่นตั้งเป้าบรรลุข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย โดยมองว่าการเลื่อนกำหนดเป็นโอกาสให้เจรจาต่อ รวมถึงประเด็นภาษีรถยนต์ ญี่ปุ่น ซึ่งส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ มูลค่า 148,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2567 และเป็นผู้ส่งออกอันดับ 5 กังวลว่าภาษีใหม่จะกระทบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งหุ้นบริษัท โตโยต้า นิสสัน และฮอนด้า ร่วงทันทีร้อยละ 4-7 วานนี้
รัฐบาลญี่ปุ่นยังต้องวิเคราะห์ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ซึ่งอาจทำให้สินค้าจีนราคาถูกทะลักเข้าตลาดญี่ปุ่น นักวิเคราะห์แนะว่าญี่ปุ่นอาจเสนอลงทุนในโครงการท่อก๊าซธรรมชาติในอลาสกา หรือลดกำแพงการค้าแบบไม่ใช่ภาษี เพื่อแลกกับการยกเว้นภาษี
อ่านข่าว :
หุ้นสหรัฐฯ ร่วงหนักสุดรอบ 3 สัปดาห์ รับ "ทรัมป์" ประกาศภาษีใหม่
"ทรัมป์" เพิ่มแรงกดดันโลกปิดดีลกำแพงภาษี