เข้ายื่นเรื่องร้องให้สอบจริยธรรมแล้ว สำหรับ น.ส.ณัฐสินี (สงวนนามสกุล) ผู้เสียหายวัย 39 ปี ที่ถูก สว.คนหนึ่ง ล่วงละเมิดทางเพศ พร้อมเปิดเผยข้อมูลเบื้องต้น กรณีได้เข้าแจ้งความเอาผิดสมาชิกวุฒิสภา (สว.) คนหนึ่ง ฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปี โดยใช้กำลังประทุษร้าย ลงวันที่ 8 พ.ค. 2568 ที่สน.เตาปูน
ถือเป็นเรื่องล่าสุดที่สะเทือนต่อภาพพจน์และความน่าเชื่อถือของ สว.อย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะนอกจากเป็นคดีอาญา ข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ สำหรับผู้เสียหายที่มีตำแหน่งเป็นปรึกษา คณะอนุกรรมาธิการฯ ของวุฒิสภาแล้ว ยังถูกร้องให้สอบจริยธรรมด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่นักการเมืองปัจจุบัน หวั่นเกรงที่สุด และเป็นหัวใจสำคัญตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ใช้อยู่ขณะนี้ด้วย
แม้ในถ้อยแถลง จะยอมรับว่า เคยคบหากับ สว.คนดังกล่าวมาก่อน แต่ถือเป็นเรื่องในอดีตแล้ว ในวันเกิดเหตุ ก็แค่ส่งข้อความอวยพรวันเกิดให้ อย่างที่ได้ทำกับคนที่รู้จัก รวมทั้ง สว.คนอื่น ๆ และการไปพบกันที่บริเวณบรรทัดทอง ใจกลางกรุงเทพฯ ก็แค่กินขนม ไม่ได้กินร่วมกันแต่อย่างใด จากนั้นได้ให้ สว.คนดังกล่าวไปส่งที่บ้าน
แต่กลับถูกพูดจาแทะโลม ขอมีเพศสัมพันธ์ แต่ผู้เสียหายไม่ยินยอม ทำให้ สว.คนดังกล่าว ขับรถพาออกจากบ้านผู้เสียหาย โดยไม่ลงจากรถไปที่คอนโดฯ ย่านบางซื่อ ก่อนจะพยายามล่วงละเมิดทางเพศ 7 แต่ผู้เสียหายไม่ยินยอม ร้องไห้ และยกมือไหว้ ให้หยุดการกระทำดังกล่าว กระทั่ง สว.คนนั้นยอมหยุด และพาผู้เสียหายส่งกลับบ้าน แต่การกระทำดังกล่าว ถือได้ว่า มากเพียงพอเข้าข่ายทำผิดกฎหมาย สำหรับแจ้งความดำเนินคดีได้แล้ว
น.ส.ณัฐสินี ยืนยันในการแถลงข่าวที่ สภาฯ ว่า ยังไม่ได้รับการติดต่อใด ๆ จาก สว.คนดังกล่าว และยืนยันจะไม่มีการเจรจาไกล่เกลี่ยยอมความ
ความจริงผู้เสียหาย เมื่อตรวจสอบจากโปรไฟล์ ถือว่า เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถไม่ธรรมดา เป็นนักออกแบบและเจ้าของร่วม ในกิจการแบรนด์ดัง ที่มีทั้งเสื้อผ้า เครื่องประดับ และเครื่องหนัง ระดับแถวหน้าคนหนึ่งของแฟชั่นไทยปัจจุบัน โดยเธอทำหน้าที่ออกแบบเครื่องประดับ ด้วยเป็นสิ่งที่ชื่นชอบ และมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเครื่องประดับเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ที่น่าสนใจ คือ สว.รายดังกล่าว ที่น่าจะเป็นคนรู้ใจกันมาก่อน จะรับมือหรือหาทางออกเรื่องนี้อย่างไร รวมทั้งข้ออ้าง หรือเหตุผลในกรณีที่เกิดขึ้นอย่างไร เพราะจะมีความสำคัญในแง่คดีอาญา ที่อาจโดนหลายกระทง
แม้อาจสามารถตกลงเจรจากันได้ แต่ยังจะโดนร้องเรื่อง “จริยธรรมนักการเมือง” ที่เชื่อว่าอาจเป็นการตรวจสอบภายในของวุฒิสภา เหมือนกับกรณี นายกิตติศักดิ์ รัตคนวราหะ อดีต สว. ปมถูกร้องทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล กรณีวัดบางคลาน จ.พิจิตร แต่สุดท้ายรอด เพราะเสียงโหวตมีไม่ถึงครึ่งหนึ่ง
หรือกรณีนายธานี อ่อนละเอียด อดีต ส.ว. ที่ถูกร้องสอบจริยธรรม กรณี สว.ชื่อดัง กรณีคบหาและสนับสนุนตำรวจหญิง ยศสิบตำรวจโทหญิงคนหนึ่ง ที่โดนข้อหาทำร้ายร่างกายทหารหญิงที่เป็นทหารรับใช้ในบ้าน ทั้งเรื่องมีชื่อไปปฏิบัติหน้าที่ที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อหวังอายุราชการแบบทวีคูณ แต่เจ้าตัวยังคงอยู่ที่จ.ราชบุรี
และได้เป็นที่ปรึกษาและร่วมคณะกิจกรรมของกรรมาธิการ วุฒิสภา โดยเจ้าตัวยอมรับมีความสัมพันธ์จริง แต่เลิกรากันไปแล้ว และในที่สุด วุฒิสภามีมติโดยเสียงข้างมาก ไม่ผิดจริยธรรมเช่นกัน
ต่างจากปมร้องเรียนผิดจริยธรรมนักการเมือง ที่มีการร้องผ่าน ป.ป.ช. และต่อไปถึงศาลฎีกา ซึ่งที่ผ่านมา สส.หลายคน อาทิ น.ส.พรรณิการ์ วานิช เมื่อครั้งเป็น สส.พรรคอนาคตใหม่ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ เมื่อครั้งเป็น สส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ หรือแม้แต่นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ เมื่อครั้งเป็น สส.ปราจีนบุรี พรรคภูมิใจไทย และเป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยศึกษาฯ รวมทั้งอีกหลายคน ถูกคำพิพากษา ตัดสิทธิ์ทางการเมืองมาแล้ว
แต่อย่างน้อย จากหลายกรณี รวมทั้งเรื่องล่วงละเมิดทางเพศ จะเป็นเครื่องย้ำเตือนสำหรับนักการเมือง สส.และสว.รุ่นใหม่ๆ พึงต้องตระหนัก และระมัดระวังเรื่องความประพฤติ และไม่ทำผิดหรือฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง
เริ่มต้นจากมีหิริโอตัปปะ หรือความละอายต่อการทำบาป เป็นลำดับแรก
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส
อ่านข่าว : สาวร้องสอบจริยธรรม "สว." อ้างถูกล่วงละเมิด
ไทยเสนอ "ชุดไทย" เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ "ยูเนสโก" ในปี 2569
เด้ง "ไชยวัฒน์-นฤชา" นั่งผู้ตรวจ โยกผู้ว่าฯเชียงใหม่-เพชรบุรี ขึ้้นแทน