"พระสงฆ์" หรือ "พระภิกษุ" หมายถึงผู้ที่สละการครองเรือนและทรัพย์สิน ออกบวชและถือวัตรปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า เพื่อให้ตนและผู้อื่นรู้แจ้งในธรรม คำว่า "สงฆ์" มาจากภาษาบาลี แปลว่าหมู่หรือคณะ
ส่วน "ภิกษุ" มาจากภาษาบาลี แปลว่าผู้ขอ หมายถึงผู้ที่อุทิศตนบำเพ็ญธรรมและขอภัตตาหารจากผู้อื่น คำว่า "พระ" แปลว่าประเสริฐ
ข้อมูลจากเว็บไซต์ Luxury Society Asia พระสงฆ์ถือเป็นหนึ่งใน "รัตนะทั้งสาม" อันได้แก่ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้พระพุทธศาสนาปรากฏ ดำเนินอยู่ และดำรงอยู่ได้จนถึงปัจจุบันและในอนาคต บทบาทสำคัญของพระสงฆ์คือการเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ที่ต้องถือวัตรปฏิบัติ 227 ข้อตามพระธรรมวินัย นอกจากนี้ ยังต้องศึกษาพระธรรมคำสอนให้รู้แจ้งและเผยแพร่แก่ปุถุชน เพื่อให้ผู้อื่นเข้าถึงพระธรรมนั้นด้วย
พระสงฆ์สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่
- สมมติสงฆ์ คือ พระสงฆ์ทั่วไปตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ที่ได้รับการอุปสมบทตามพุทธานุญาต และปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ แต่ยังไม่ได้บรรลุโลกุตตรธรรมหรือเป็นพระอรหันต์
- พระอริยสงฆ์ คือ หมู่ภิกษุผู้ที่ได้ฟังธรรมคำสอนจากพระพุทธเจ้าโดยตรงและได้รู้แจ้งตามธรรมนั้น จนบรรลุโลกุตตรธรรมเป็นพระอรหันต์ ประกอบด้วยคู่แห่งบุรุษ 4 คู่ ตามมรรคและผล ได้แก่ พระโสดาบัน, พระสกทาคามี, พระอนาคามี และ พระอรหันต์

ภาพประกอบข่าว
ภาพประกอบข่าว
"อลัชชี" ผู้ไม่ละอายที่ทำลายศาสนา
พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล ให้ความหมายของคำว่า "อลัชชี" ว่าผู้ไม่มีความละอายหรือผู้หน้าด้าน คำนี้โดยมากจะใช้กับพระภิกษุที่จงใจประพฤติผิดศีลผิดพระวินัย ละเมิดพุทธบัญญัติ หรือทำผิดแล้วไม่แก้ไข ในพระวินัยระบุว่าการต้องอาบัติด้วยความไม่ละอายนี้ถือว่าเลวที่สุด และก็คือ พระอลัชชีหรืออลัชชีภิกษุนั่นเอง พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า
ภิกษุแกล้งต้องอาบัติ ปกปิดอาบัติ และถึงความลำเอียงด้วยอคติ ภิกษุเช่นนี้ เราเรียกว่า อลัชชีบุคคล
อลัชชีภิกษุ แม้จะมีความรู้หรือดูเรียบร้อย แต่หากเห็นแก่ลาภยศ ก็อาจจงใจกล่าวให้ผิดแบบแผน แสดงวาทะนอกธรรมนอกวินัย ซึ่งย่อมสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงทั้งแก่ตนเองและแก่พระศาสนา และอาจนำไปสู่ความร้าวฉานหรือการแตกแยกของสงฆ์ได้ ตัวอย่างการกระทำของอลัชชีที่ทำให้ศาสนาเสื่อมเสีย ได้แก่ พระสงฆ์ที่เสพเมถุน ดื่มสุราเมรัย หรือค้าสัตว์ผิดกฎหมาย การที่พระภิกษุสามเณรประพฤติย่อหย่อน ล่วงละเมิดพระวินัยอย่างโจ่งแจ้งโดยไม่กลัวบาปกรรม ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้พระพุทธศาสนามีแนวโน้มเสื่อมถอยลง
ตรงกันข้ามกับอลัชชี คือ "ลัชชีภิกษุ" ผู้มีความละอาย (หิริ) และความเกรงกลัวต่อบาป (โอตตัปปะ) ลัชชีภิกษุจะเป็นผู้ใฝ่ศึกษา แม้ชีวิตจะแลกด้วยความตายก็ไม่มีความจงใจกล่าวให้ผิดแบบแผน ด้วยความเคารพในพระธรรมวินัย แม้ลัชชีภิกษุจะไม่มีความสามารถในการแสดงธรรม แต่หากมีปฏิปทาตรงตามพระธรรมวินัย ก็ถือได้ว่าเป็นผู้รักษาสืบทอดพระศาสนา ควรแก่การสักการะบูชา และเป็นเนื้อนาบุญ
ชาวพุทธควรเข้าใจว่า การแสดงความเคารพต่อพระที่ประพฤติตัวไม่ดี เช่น เดินไม่สำรวม พูดจาไม่เพราะ เสียงดังโวยวาย ถือเป็นการเข้าใจผิดอย่างมหันต์ และไม่ควรแสดงความเคารพ เพราะนอกจากจะไม่ได้บุญแล้ว ยังเป็นบาปและเป็นการช่วยทำลายพระพุทธศาสนาทางตรง
"สมี" เมื่อปาราชิกขาดจากความเป็นพระ
สมี (สะ-หมี) เป็นคำที่ใช้เรียกอดีตพระภิกษุที่ถูกให้สึกจากผ้าเหลือง เนื่องจากละเมิดศีลและทำผิดถึงขั้นปาราชิก หมายความว่าบุคคลผู้นั้นจะไม่มีสิทธิบวชอีกตลอดชีวิต เพราะการกระทำผิดขั้นปาราชิกถือเป็นความผิดร้ายแรงในพุทธศาสนา
"ปาราชิก" แปลว่ายังผู้ต้องพ่าย หมายถึง ผู้ที่พ่ายแพ้ในตัวเอง ไม่สามารถปฏิบัติตามพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้ให้ได้ อาบัติปาราชิกมี 4 ข้อ และอยู่ในศีล 227 ข้อ อาบัติเหล่านี้เป็นอาบัติหนักที่เรียกว่า "อเตกิจฉา" คือ ไม่สามารถแก้ไขได้เลย
ปาราชิก 4 ข้อ ได้แก่
- เสพเมถุน การร่วมสัมพันธ์ทางเพศกับมนุษย์ อมนุษย์ หรือสัตว์เดรัจฉาน แม้แต่ซากศพก็ไม่ละเว้น
- ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน (ขโมย) การขโมยทรัพย์สินที่มีราคาตั้งแต่ 5 มาสกขึ้นไป (เทียบเท่า 1 บาท)
- จงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต (ฆ่าคน) การแสวงหาหรือใช้เครื่องมือเพื่อฆ่าคน หรือจ้างวานฆ่าคน หรือพูดพรรณนาคุณแห่งความตายให้คนยินดีที่จะตาย โดยมีเจตนาหวังให้ตาย ไม่เว้นแม้แต่การทำแท้ง
- กล่าวอวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีในตน การกล่าวอวดความสามารถพิเศษหรือการบรรลุธรรม (เช่น ฌาน, มรรค, ผล, นิพพาน) ที่ไม่มีอยู่ในตนเอง เว้นแต่เข้าใจผิดไปเอง

ภาพประกอบข่าว
ภาพประกอบข่าว
หากพระภิกษุต้องอาบัติปาราชิกข้อใดข้อหนึ่ง จะถือว่าขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที แม้จะไม่กล่าวลาสิกขาบทก็ตาม เมื่อขาดจากความเป็นพระแล้ว ก็จะไม่ใช่พระภิกษุอีกต่อไป และไม่สามารถอยู่ร่วมกับภิกษุอื่นหรือคณะสงฆ์ได้เลย ผู้ที่ต้องอาบัติปาราชิกจะไม่สามารถกลับเข้ามาบวชใหม่ได้ตลอดชีวิต
หากบวชเข้ามาได้ ก็ไม่ถือว่าเป็นพระภิกษุที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย เป็นพระแต่ยังคงครองผ้าเหลืองจะกลายเป็น อลัชชี
ดอกรัก พยัคศรี นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ระบุว่า คำว่า "สมี" ไม่ได้มีอยู่ในพระไตรปิฎก ในภาษาบาลีและสันสกฤต คำว่า "สมี" หรือ "ศมี" มีความหมายเหมือนกับ "สามี" คือเจ้าของ เดิมคำว่าสามีใช้เรียกพระภิกษุรูปสำคัญหรือผู้เป็นใหญ่ เช่น พระเถรศรีศรัทธา แต่สมีในความหมายปัจจุบัน เป็นคำย่อมาจาก "กมฺมสฺสามี" หรือ "กมฺมสามี" ซึ่งแปลว่า "เจ้าของกรรม" หมายถึงอดีตพระภิกษุผู้กระทำผิดศีลและต้องชดใช้กรรม การมีสมีใหม่ ๆ เกิดขึ้นเรื่อย ๆ ถือเป็นสัญญาณของความเสื่อมทรามของพระพุทธศาสนา
คำที่ต่างจากคำว่า "สมี" คือ "ทิด" ใช้เรียกผู้ที่สึกออกมาโดยไม่ได้ประพฤติผิด คำว่าทิดกร่อนมาจากคำว่า "บัณฑิต" ซึ่งหมายถึงผู้มีความรู้ เพราะระหว่างที่บวชได้เล่าเรียนหรือปฏิบัติพระธรรมวินัย
"พระวินัย" รากฐานธำรงพระศาสนา
พระวินัย เป็นกฎเกณฑ์และข้อวัตรปฏิบัติสำหรับพระภิกษุสงฆ์ ถือเป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่งในการธำรงรักษาพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงปกครองสงฆ์ด้วยเครื่องมือคือ "ศีล" โดยแบ่งเป็น จาริตตศีล-สิ่งที่ควรทำ และ วาริตตศีล-สิ่งที่ไม่ควรทำ พระวินัยมีคุณค่าและเป็นกฎเกณฑ์ทางสังคมในหลายประการ เช่น เป็นอายุของพระพุทธศาสนา ร้อยเรียงลักษณะนิสัยพฤติกรรมของคนไว้ในกรอบเดียวกัน
พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ก่อนปรินิพพานว่า
ธรรมและวินัยที่แสดงไว้ บัญญัติไว้ จักเป็นศาสดาของพวกเธอ เมื่อเราล่วงลับไป
ซึ่งเน้นย้ำถึงความสำคัญของธรรมและวินัยที่เป็นหลักในการดำเนินชีวิตและเป็นเครื่องมือในการป้องปรามความผิด สังคมที่ไม่มีธรรมและวินัยย่อมเสื่อมถอย

ภาพประกอบข่าว
ภาพประกอบข่าว
บทบาท "ชาวพุทธ" ธำรงไว้พระศาสนา
ในสถานการณ์ปัจจุบันที่พบเห็นปรากฏการณ์พระสงฆ์ประพฤติตนไม่เหมาะสมมากขึ้น ชาวพุทธทุกคนมีหน้าที่สำคัญในการช่วยกันจรรโลงพระพุทธศาสนา การศึกษาคำสอนและนำมาปฏิบัติ พร้อมกับการขจัดพวกศรัทธาแอบแฝงให้หมดไปจากพระพุทธศาสนา จึงจะเรียกได้ว่าเป็นพุทธที่แท้จริง
การทำความเข้าใจความหมายของคำว่า พระสงฆ์, ภิกษุ, อลัชชี, สมี อย่างถ่องแท้ จะช่วยให้สามารถแยกแยะพระที่ดีออกจากผู้ที่ประพฤติไม่เหมาะสมได้ เมื่อพบเห็นพระที่ประพฤติตัวไม่ดี ไม่จำเป็นต้องแสดงความเคารพหรือเกรงใจ การไม่สนับสนุนพระที่ละเมิดพระวินัย จะช่วยป้องกันไม่ให้พระที่ไม่ดี กล้าออกมาแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ พุทธศาสนิกชนต้องช่วยกันป้องกันภัยต่าง ๆ ที่จะก่อให้เกิดความเสียหาย และนำเสนอเรื่องราวตามความเป็นจริง เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีต่อพระพุทธศาสนาให้ปรากฏ
ที่มาข้อมูล :
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล, Luxury Society Asia, Wikipedia
อ่านข่าวอื่น :