วันนี้ (11 ก.ค.2568) กรณีเพจเฟซบุ๊ก "ฉุกเฉินการแพทย์" โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า ได้รับแจ้งจากประชาชนว่าพบ มังกรทะเลสีน้ำเงิน หรือทากทะเลสีน้ำเงิน หรือ Blue Dragon Sea Slug บริเวณหาดกะรน จ.ภูเก็ต ซึ่งก่อนหน้านี้เคยพบที่ชายฝั่งภูเก็ต ในช่วงเดือน ส.ค.2566
ทากทะเลสีน้ำเงิน จัดอยู่ในประเภทสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง โดยลำตัวจะโตยาวสุดแค่ 1-1.5 นิ้ว อาศัยอยู่ในทะเลบริเวณกลางน้ำ กินแมงกะพรุนที่มีพิษร้ายแรงเป็นอาหาร และจะนำเข็มพิษของแมงกะพรุนมาไว้ในตัวเพื่อป้องกันตัวเอง
ห้ามจับเด็ดขาด ถึงแม้ขนาดเล็กและสีสันสวยงาม แต่พิษของมันทำให้เกิดอาการระคายเคืองอย่างรุนแรงหากสัมผัสกับผิวหนัง มีฤทธิ์คล้ายกับแมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส หากโดนพิษอาจมีอาการปวดแสบปวดร้อน คลื่นไส้ อาเจียน หรือปวดศีรษะอย่างหนัก และผู้ที่แพ้พิษ อาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ก่อนหน้านี้ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thon Thamrongnawasawat" ว่า แม้มังกรทะเลสีน้ำเงิน จะมีขนาดเล็กและสีสวย แต่เป็นทากทะเลและเป็นญาติของหอยฝาเดียว บางชนิดสามารถกินสัตว์ที่มีเข็มพิษแล้วดึงเอาเซลล์เข็มพิษมาไว้ในตัวเพื่อป้องกันตัวเอง
นักดำน้ำบางคนอาจพบทากพวกนี้กำลังกินไฮดรอยด์ (ขนนกทะเล) โดยมีเข็มพิษอยู่ปลายเนื้อเยื่อที่ยื่นออกมาคล้าย “หนาม” ตามลำตัว สามารถดึงเข็มพิษจากสัตว์อื่นมาใช้ได้
ผศ.ธรณ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า กลุ่มสัตว์กินเข็มพิษมีหลายตัวและหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือทากทะเลสีน้ำเงิน ลักษณะจะลอยอยู่บนผิวน้ำเพราะกินอากาศเข้าไป และกินอาหารหลักเป็น Portuguese man o' war หรือเรือรบโปรตุเกส ซึ่งมีพิษร้ายแรง
ทากตัวนี้จะลอยไปเกาะบนแมงกะพรุน ค่อย ๆ กินไปเรื่อย ๆ และกระเปาะเข็มพิษก็จะเคลื่อนไปตามเนื้อเยื่อและไปอยู่บริเวณส่วนปลายแหลมบนตัวของทากดังกล่าว ซึ่งจะใช้ป้องกันตัวเท่านั้น ไม่ได้ใช้เพื่อการล่า หรือทำร้าย ตราบใดที่ไม่สัมผัสโดยตรง ก็จะไม่ยิงเข็มพิษออกมา
ผศ.ธรณ์ กล่าวว่า ปกติแล้วทากทะเลสีน้ำเงินอยู่กลางมหาสมุทร แต่อาจพบในช่วงหน้ามรสุม เพราะคลื่นลมแรงพัดมาที่ฝั่งเดียวกับที่ จ.ภูเก็ต
อย่างไรก็ตาม ทากทะเลสีน้ำเงินอยู่บนฝั่งได้ไม่นาน เมื่อถูกคลื่นกระแทกและอากาศออกหมดตัวจะแฟ่บ แต่อาจพบแมงกะพรุนเรือรบโปรตุเกสลอยน้ำด้วย เพราะทั้งคู่สัมพันธ์กัน
ผศ.ธรณ์ เตือนนักท่องเที่ยว ว่า หากสัมผัสมังกรทะเลสีน้ำเงินแล้ว จะใช้หลักการเดียวกับการโดนแมงกะพรุน ซึ่งแพทย์แนะนำให้ใช้ราดน้ำส้มสายชูปริมาณมาก
ทากมีพิษ เพราะเข็มพิษแมงกะพรุนอยู่กับเธอ ไม่ควรจับ แตะ โดน เห็นสีสวย ๆ อย่าคิดจับไปเลี้ยง
ด้านเพจขยะมรสุม ระบุว่า จุดที่พบมังกรทะเลสีน้ำเงิน เป็นจุดเดียวกับที่เคยพบก่อนหน้านี้ พร้อมเตือนประชาชน หากพบเห็นให้แจ้งไลฟ์การ์ด บริเวณหาดกะรน หาดกะตะหาดป่าตอง หรือหาดอื่น ๆ เพื่อให้ช่วยกันเก็บตัวอย่าง ทั้งแมงกระพรุนเหรียญ มังกรทะเลสีน้ำเงิน และแมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกส หรือแจ้งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) หรือเพจขยะมรสุม
อ่านข่าว : สถานีวิจัยสัตว์ป่าฯ ยัน "รอยเท้าหมี" เข้าพื้นที่เกษตรใกล้ป่าทับลาน
สถานีวิจัยสัตว์ป่าฯ ยัน "รอยเท้าหมี" เข้าพื้นที่เกษตรใกล้ป่าทับลาน
แท็กที่เกี่ยวข้อง: