“ทับละมุ” ฐานส่งกำลังบำรุงให้เรือรบ ในฝั่งทะเลอันดามัน หรือ “ฐานทัพเรือพังงา” ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา กลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง ท่ามกลางคลื่นข่าว "ฐานทัพเรือดังกล่าว" จะถูกใช้เพื่อต่อรองให้ “ไทย” รอดพ้น มาตรการกำแพงภาษีทรัมป์ 36% ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ หลังวันที่ 1 ส.ค.นี้ ทั้งๆ ที่เป็นที่ตั้งสำคัญทางยุทธศาสตร์
และหากรัฐบาลไทย อนุมัติให้ฐานทัพเรือสหรัฐฯ เข้ามาใช้ พื้นที่นอกจากจะทำให้สหรัฐฯ สามารถเพิ่มอำนาจทางทะเล เพื่อใช้ถ่วงดุลอิทธิพลของจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก แล้ว แต่ปัญหาความมั่นคง ซึ่งเป็นผลกระทบที่จะเกิดกับไทยในระยะยาว อาจยากจะประเมินได้
ฐานทัพเรือพังงา (Phang-nga Naval Base) เป็นฐานทัพเรือของกองทัพเรือไทย ขึ้นตรงต่อทัพเรือภาคที่ 3 จัด ตั้งขึ้นเมื่อปี 2519 โดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และรักษาการผู้บัญชาการทหารเรือ ในขณะนั้น อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่มีความชัดเจนว่า จะมีการเสนอใช้ท่าเรือพังงา เป็นฐานทัพเรือสหรัฐฯในไทย ได้หรือไม่

แม้ที่ผ่านมา จะมีข้อตกลงระหว่างไทยกับกองทัพเรือมิตรประเทศ ไม่ใช่เฉพาะสหรัฐฯ ประเทศเดียวในเรื่องของการส่งกำลังบำรุง แต่ทุกประเทศที่มีข้อตกลงระหว่างกันสามารถขอใช้สถานที่เพื่อลงจอดที่ฐานทัพเรือพังงา และรับการส่งกำลังบำรุง เติมน้ำมัน หรือพักเรือได้ เช่นเดียวกับการขอใช้ฐานทัพเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสงขลา หรือแม้แต่สนามบินอู่ตะเภา
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นยุคที่ “บารัก โอบามา” และ “โจ ไบเดน” เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่างเคยเล็งพื้นที่อันดามันของไทยตาเป็นมัน เหตุเพราะต้องการขยายฐานทัพเรือฝั่งทะเลอันดามัน-มหาสมุทรอินเดีย ให้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกสหรัฐฯ เพื่อหวังปิดล้อมจีน ทั้งด้านการทหาร และการค้า
หากสหรัฐฯ เขามาใช้พื้นที่ “ทับละมุ” เพื่อเข้ามาตั้งฐานทัพ สิ่งที่จะได้รับไม่ใช่แค่การปิดช่องแคบมะละกา แต่ยังสามารถสกัดเส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้าและน้ำมันไปประเทศจีนด้วย ที่สำคัญในแง่ยุทธศาสตร์การสู้รบของทั้ง 2 อภิมหาอำนาจ โดยไทยอาจถูกใช้พื้นเป็นฐานในการยิงขีปนาวุธไปจีนได้เช่นกัน

ส่วนในแง่มุมด้านการค้าจะเห็นได้ว่า ในปัจจุบันไทยยังไม่มีท่าเรือน้ำลึกทางด้านฝั่งทะเลตะวันตก การขนส่งสินค้าต้องใช้วิธีส่งออกจากท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือกรุงเทพ ก่อนจะอ้อมเข้าไปที่แหลมมลายู ทั้งนี้ปัจจุบันสหรัฐฯ ตั้งฐานทัพอยู่ 3 ประเทศหลัก คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์
ดังนั้น หากสหรัฐฯ เข้ามาควบคุมพื้นที่ บริเวณฐานทัพเรือทับละมุได้จริง ก็จะสกัดสินค้าที่ต้องการส่งขึ้นไปทางเหนือของอินโดจีนและจีนได้ด้วย ขณะที่ไทยจะเสียประโยชน์ทั้งด้านการค้าและความมั่นคงทางทะเล รวมทั้งการเป็นโครงข่ายโลจิสติกส์ของประเทศในแถบนี้
จตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์รายการประเทศไทยต้องมาก่อน เมื่อ 14 ก.ค.2568 ระบุว่า มรสุมใหญ่ที่รัฐบาลวางแผนนำไทยไปเสี่ยงกับสงครามนิวเคลียร์ของประเทศมหาอำนาจ โดยนำฐานทัพเรือสหรัฐที่เกาะพังงา ไปเจรจาต่อรองให้ไทยรอดพ้นกับกำแพงกับภาษีทรัมป์ 36%
แม้นายภูมิธรรม เวชยชัย รมว.มหาดไทย และอดีต รมว.กลาโหม จะออกมาปฏิเสธในภายหลังว่าไม่เกี่ยวกับภาษีทรัมป์ แต่การให้มีฐานทัพเรือสหรัฐฯ ในไทยไม่ต่างจากชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน โดยไม่เข็ดหลาบกับอดีตที่ไทยเคยเป็นฐานทัพอากาศให้สหรัฐฯ ขนระเบิดไปถล่มลาว เขมร ตั้งแต่สงครามเวียดนามมาแล้ว ดังนั้น รัฐบาลไม่ควรเอาประเทศไทยไปเสี่ยงด้วย

ถ้าไทยเอาการตั้งฐานทัพเรือสหรัฐฯ ไปใช้ในการต่อรองภาษีทรัมป์ บอกได้ว่า ไม่มีวันจะคุ้มค่ากับความหายนะของชาติ และถ้าทางการไทยได้ตัดสินใจเอาเรื่องนี้ไปแลก เกิดเรื่องกันอย่างแน่นอน ไม่ต้องรอถึงเดือนสิงหาคม ตัดสินใจกรกฎาก็ไปกรกฎากัน
จตุพร ย้ำว่า ฐานทัพเรือสหรัฐฯ ที่พังงา เป็นยุทธภูมิต้องการดักและควบคุมการเดินเรือช่องแคบมะละกา แม้สงครามต่าง ๆ ไทยไม่ได้เกี่ยวข้อง แต่มหาอำนาจทั้งหลายล้วนมีอาวุธหนักคือ ระเบิดนิวเคลียร์ทั้งสิ้น ถ้ารัฐบาลเปิดประตูให้ไทยกลายเป็นสมรภูมิสงคราม หัวจรวดนิวเคลียร์จะพุ่งถล่มประเทศที่มีฐานทัพ ทำให้ไทยยิ่งเสี่ยงถูกทำลาย
นายจตุพร ระบุว่า การเจรจาภาษีทรัมป์ที่ไทยยากจะยุติด้วยอัตราภาษีต่ำกว่า 36% นั้น ส่วนหนึ่งของปัญหามาจากไทยส่ง 40 ชาวอุยกูร์ให้จีน ทำให้สหรัฐฯ ตรึงภาษีอยู่ที่เดิม คือ 36% มากกว่าเวียดนามที่ได้ 20% และเก็บมาเลเซีย 25% อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญเช่นกัน เกิดจากรายสินค้าประเภทเดียวกันที่ไทยสวมสิทธิ์ให้ประเทศอื่นส่งผ่าน ทั้งที่สินค้าจากแหล่งผลิตจากไทยจริง ๆ ได้รับผลกระทบเพียง 5.5 หมื่นล้านเท่านั้น
ไทยต้องเจรจาด้วยการนำสินค้าส่งออกและนำเข้าสินค้าอื่นๆ มาต่อรอง ถ้าการเจรจาต่อรองจบลงด้วยการยกฐานทัพเรือที่พังงาให้สหรัฐฯ แล้ว จำปากผมไว้เลย แผ่นดินลุกเป็นไฟ และเราคาดไม่ถึงว่าเรื่องนี้จะถูกหยิบยกมาใช้กับสงครามภาษีทรัมป์

จตุพร กล่าวอีกช่วงหนึ่งว่า ปรากฏการณ์ “ทักษิณ ชินวัตร” หรือ สทร.เข้าประชุมเรื่องภาษีทรัมป์ที่บ้านพิษณุโลก ถ้าผู้ใดเอาประเทศไทยไปแลก ต้องเกิดเรื่องและเรานัดหมายกันล่วงหน้าได้เลย เพราะจะพาคนไทยเกือบ 70 ล้าน ไปสุ่มเสี่ยงสงคราม ที่ไม่ใช่สงครามของเราไม่ และเราจะมีสภาพเหมือนสงครามยูเครน หรือฉนวนกาซา ที่เขามาถล่มกันในประเทศไทย ดังนั้นจะหาเรื่องทำไม
“ถ้ามีการตั้งฐานทัพเรือสหรัฐฯ นักท่องเที่ยวคงไม่ไปที่พังงา แหล่งท่องเที่ยวกระบี่ พังงา ภูเก็ต สตูลและระนอง คงหมดเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยว และไม่ว่าเรื่องนี้จะเกี่ยวหรือก็ตาม แต่ถ้าหากตั้งฐานทัพเรือสหรัฐฯ ที่พังงา อย่างไรตาม มีเรื่องแน่” จตุพร ทิ้งท้าย
ท่ามกลางมรสุมรุมเร้าทุกด้าน ต้องจับตาว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทย จะกล้าเสี่ยงโยนไฟใส่บ้านตัวเอง เพื่อแลกกับมาตรการกำแพงภาษีทรัมป์ หรือไม่
อ่านข่าว :
พาณิชย์ ยันไม่มีดีลตั้งฐานทัพ เน้นเจรจาการค้าลดภาษีเพียงเดียว
ย้ำชัดไม่มีดีล “สหรัฐฯ” ตั้งฐานทัพพังงา บทเรียนไล่ “จีไอ” ไม่อยากให้มีภาค 2
ทัพเรือไทยยืนยัน สหรัฐฯ ไม่มีข้อเสนอตั้งฐานทัพที่ทับละมุ จ.พังงา