ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ย้ำชัดไม่มีดีล “สหรัฐฯ” ตั้งฐานทัพพังงา บทเรียนไล่ “จีไอ” ไม่อยากให้มีภาค 2

การเมือง
15:38
119
ย้ำชัดไม่มีดีล “สหรัฐฯ” ตั้งฐานทัพพังงา บทเรียนไล่ “จีไอ” ไม่อยากให้มีภาค 2
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ยืนยันปฏิเสธเป็นวันที่ 2 ต่อเนื่องกัน ว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเจรจากำแพงภาษี 36 % นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะอดีตรัฐมนตรีกลาโหม ระบุว่า เป็นแผนเดิมของกองทัพเรือ อยู่แล้ว สำหรับการพัฒนาฐานทัพเรือพังงา หรือทับละมุ เป็นแผนการพัฒนากองทัพเรือกับสหรัฐฯ

ขณะเดียวกัน ไม่มีคำยืนยันใด ๆ จากกองทัพเรือ นอกจากย้ำว่า กองทัพเรือมีแผนการพัฒนาฐานทัพเรือแห่งนี้อยู่แล้ว แต่ติดขัดเรื่องงบประมาณ และยังไม่มีการยืนยันจากทางรัฐบาลมายังกองทัพเรือ ถึงขั้นที่สหรัฐฯ จะมาร่วมพัฒนาและสนับสนุนด้านงบประมาณหรือไม่

เรื่องสหรัฐฯ ขอใช้ฐานทับละมุ ถูกสอดแทรกขึ้นมาโดยการเปิดประเด็นจากนักวิชาการและกูรูทางการเมืองอย่างน้อย 2 คน รวมทั้งสื่ออาวุโสด้านต่างประเทศบางคน ที่แสดงความกังขา และเรียกร้องให้รัฐบาลชี้แจงและให้ความชัดเจนในเรื่องนี้ หลังจากทางสหรัฐฯ ยังคงยืนกรานจัดเก็บภาษีนำเข้าจากไทย 36 % สูงกว่าเวียดนาม และมาเลเซีย ที่สหรัฐคิด 20 % และ 25 % ตามลำดับ อันจะส่งผลถึงการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนด้วยกันเอง

ไม่เพียงเป็นประเด็นเฉพาะช่วงนี้ ย้อนกลับไปหลังการเลือกตั้ง สส. ปี 2566 พรรคก้าวไกลได้สส.เข้าสภาฯ มากเป็นอันดับ 1 ก็เคยมีข่าวเรื่องสหรัฐฯ จะขอตั้งฐานทัพในประเทศไทย ถูกจุดพลุจากคนระดับ สว. และมีเสียงขานรับ ต่อต้านการแทรกแซงของสหรัฐมาแล้วครั้งหนึ่ง

ครั้งนี้ นายทหารด้านความมั่นคง อย่าง เสธ.โหน่ง พล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. แสดงความเห็นว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ถึงขั้นจะอนุญาตให้สหรัฐเข้ามาตั้งฐานทัพที่ทับละมุ

แต่อาจเป็นไปได้ ที่ต้องการใช้บริการฐานทัพดังกล่าว เพื่ออำนวยความสะดวก สำหรับหยุดพักหรือเพื่อจอดเรือ โดยมีอุปกรณ์เครืองมือรองรับที่ทันสมัย ทางฝั่งทะเลอันดามัน โดยที่ยังเป็นฐานทัพของไทย เหมือนกรณีฐานทัพเรือในกัมพูชา ที่เรือรบสหรัฐฯ ไปจอดเทียบท่าสำคัญในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งอาจสะท้อนนัย ต้องการหาพันธมิตรในภูมิภาคนี้

เพราะการอนุญาตให้ตั้งฐานทัพเหมือนในอดีต ถือเป็นเรื่องใหญ่และมีความสำคัญ ในยุคสมัยที่ประเทศมหาอำนาจ พยายามขยายบทบาทและให้ความสำคัญกับจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ๆ รวมทั้งภูมิภาคอาเซียนของสหรัฐกับจีน

ซึ่งปัจจุบันจีนเป็นฝ่ายที่กุมความเปรียบ และมีพันธมิตรกระจายไปทั่ว ผ่านโครงการต่าง ๆ รวมทั้งรถไฟฟ้าความเร็วสูง คุนหมิง-สิงคโปร์ และยังจะเป็นทางเชื่อมต่อ “อินโด-แปซิฟิก” ผ่านโครงการแลนด์บริดจ์ของไทย

ฉะนั้น หากสหรัฐฯ เคลื่อนไหว ถึงขั้นจะตั้งฐานทัพในไทยที่ทับละมุ เชื่อว่าจะมีปฏิกริยาความเคลื่อนไหวไม่เห็นด้วย และเลี่ยงไม่พ้น จะมีล็อบบี้อย่างรุนแรงจากจีน

ในสถานภาพที่ต้องระมัดระวังระยะห่างเช่นนี้ ทำให้เชื่อว่าไทยจะยังไม่ผลีผลาม หรือตัดสินใจเอนเอียงไปยังด้านใดด้านหนึ่ง จึงได้เห็นนายภูมิธรรมออกมาตอกย้ำ และปฏิเสธข่าวอีกครั้ง เรื่องสหรัฐฯ จะเข้ามาตั้งฐานทัพในไทยที่ทับละมุ ซึ่งเป็นจุดภูมิรัฐศาสตร์สำคัญ และฐานทัพเรือทับละมุ จ.พังงา อยู่ในจุดเริ่มต้นที่จะเข้าสู่โครงการแลนด์บริดจ์โดยตรง

ประกอบกับไทย เคยมีบทเรียนสำคัญจากการยินยอมให้สหรัฐฯ เข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย เมื่อครั้งสงครามอินโดจีน สมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม หลังทำรัฐประหารรัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์ เกรงว่าขั้วอำนาจของตนยังไม่เข้มแข็งพอ จึงใช้นโยบายการต่างประเทศช่วยสนับสนุน อ้างเรื่องลัทธิคอมมิวนิสต์ ปลุกผีว่าจะเป็นตัวทำลายชาติบ้านเมือง จึงนำประเทศไทยไปผูกพันกับสหรัฐอย่างเหนียวแน่น ขณะที่สหรัฐฯ ซึ่งกำลังหาพันธมิตรเพื่อรับมือระบอบคอมมิวนิวสต์ขณะนั้น ได้อัดฉีดเงินทุนสนับสนุนทั้งด้านเศรษฐกิจและการทหาร

ฐานทัพสหรัฐฯ ในไทย 8 แห่ง ประกอบด้วย 1.ฐานทัพอากาศดอนเมือง 2.ฐานทัพอากาศตาคลี จ.นครสวรรค์ 3.ฐานทัพอากาศโคราช 4.ฐานทัพเรือนครพนม 5.ฐานทัพอากาศน้ำพอง จ.ขอนแก่น 6.ฐานทัพอากาศอุดรฯ 7.ฐานทัพอากาศอุบลฯ และ 8.สนามบินทหารเรืออู่ตะเภา

ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ มากมาย รวมทั้งการได้รับสิทธิเหนือคนไทยเจ้าของประเทศ ไม่เพียงเฉพาะในฐานทัพ แต่ยังรวมถึงพื้นที่ภายนอก ทหารสหรัฐฯ แสดงตนเป็นใหญ่ กร่าง รังแก ข่มขืน และลงโทษคนไทยโดยไม่คำนึงกฎหมายและเรื่องสิทธิมนุษยชน

นำไปสู่การลุกฮือต่อต้าน ทั้งจากประชาชนและนักศึกษา ที่เพิ่งรวมพลังโค่นล้มทรราชย์ ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 การขับไล่จักรวรรดินิยมอเมริกา จึงเป็นเป้าหมายต่อไปของพลังคนหนุ่มสาวในยุคนั้น

เกิดการรวมตัวประท้วงขับไล่ เรียกร้องรัฐบาลให้ยกเลิกการให้สหรัฐฯ ตั้งฐานทัพในประเทศ เกิดเพลงเพื่อชีวิตที่เป็นเพลงธงนำต่อต้าน อย่างเซิ้งอีสานของวงคาราวาน และเพลงโคราชขับไล่ไอ้กัน เป็นต้น ขณะเดียวกัน มีการออกหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คหลายเล่ม ตีแผ่พฤติการณ์สหรัฐฯ ที่ซุกซ่อนอยู่เบื้องหลัง เช่น โฉมหน้าจักรวรรดินิยม และ อเมริกันอันธพาลโลก เป็นต้น

การลุกฮือต่อต้านเกิดขึ้นต่อเนื่อง กระทั่ง 21 มีนาคม 2519 หลังจากรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ยืดเส้นตายให้สหรัฐฯ ถอนทหารออกจากประเทศไทยไปอีก 4 เดือน มีการเดินขบวนครั้งใหญ่ของนักศึกษาและประชาชนที่เห็นว่ารัฐบาลไทยขาดความจริงใจ เริ่มจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปยังสถานทูตสหรัฐฯ ที่ถนนวิทยุ และได้เหตุการณ์รุนแรงขึ้น เมื่อคนร้ายโยนระเบิดใส่ขบวน บริเวณหน้าโรงภาพยนตร์สยาม มีผู้เสียชีวิต 4 คน

แต่ขบวนของนักศึกษาและประชาชน ยังเคลื่อนต่อไปจนถึงหน้าสถานทูตสหรัฐฯ และประกาศเจตนารมณ์ 20 มีนาคม ขับไล่ทหารและฐานทัพสหรัฐฯ กระทั่งในที่สุด การรวมพลังขับไล่ก็บรรลุผล หลังจาก พ.ศ.2519 สหรัฐถอนทหารและฐานทัพทั้งหมดออกไปจากประเทศไทย

แต่ได้ทิ้งมรดก ร่องรอย บาดแผล ความเจ็บปวดต่าง ๆ ทั้งร่างกายและจิตใจ ไว้ให้กับคนไทยจำนวนไม่น้อย ได้จดจำมาจนถึงทุกวันนี้

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส

อ่านข่าว : "ภูมิธรรม" โต้ไม่เคยคุยสหรัฐฯ ใช้ฐานทัพเรือแลกดีลภาษี

ทัพเรือไทยยืนยัน สหรัฐฯ ไม่มีข้อเสนอตั้งฐานทัพที่ทับละมุ จ.พังงา

"ปณิธาน" ชี้ กลาโหม ต้องแจงปมสหรัฐฯ ขอตั้งฐานทัพ