จากกรณีทหารไทยเหยียบทุ่นระเบิดที่บริเวณช่องบก จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ทำให้ช่วงที่ผ่านมา ได้ยินชื่อของอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคลหรือที่รู้จักกันในชื่ออนุสัญญาออตตาวาอยู่บ่อยครั้ง
แต่นอกจากปัญหาในแถบเพื่อนบ้านของไทยแล้ว ดูเหมือนอนุสัญญานี้กำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญในเวทีโลกด้วย
โดยเฉพาะในยุโรปตะวันออก บรรดาประเทศที่มีพรมแดนติดกับรัสเซียเดินหน้าถอนตัวกันเกือบหมด เพราะหวั่นเกรงภัยคุกคามและข้อจำกัดที่อาจส่งผลต่อการปกป้องประเทศ
เกือบ 30 ปี นับตั้งแต่นานาประเทศเริ่มลงนามในอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคลหรืออนุสัญญาออตตาวา เมื่อปี 1997 ยังไม่เคยมีชาติใดถอนตัวจากการเป็นประเทศภาคีจนกระทั่งในปีนี้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสงครามและความขัดแย้งเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทำให้การจัดการกับอาวุธร้ายแรงที่ยังหลงเหลืออยู่ในหลายประเทศและก่อให้เกิดอันตรายแก่พลเรือนทั่วไปกำลังถดถอยลงทุกขณะ
ชื่อเต็มๆ ของกฎหมายระหว่างประเทศฉบับนี้คืออนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต โอนและทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ซึ่งเปิดให้ลงนามที่กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา เมื่อปี 1997 ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 1999

เป้าหมายคือการยุติความทุกข์ทรมานและความสูญเสียจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคลทั่วโลก โดยจนถึงปัจจุบันมีประเทศภาคี 165 ประเทศ รวมประเทศที่ตอนนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการถอนตัวด้วย โดยที่ชาติมหาอำนาจซึ่งมีอาวุธร้ายแรงในมือปริมาณมหาศาลอย่างสหรัฐฯ จีน รัสเซีย ไม่เคยร่วมลงนามแต่อย่างใด
ภายใต้อนุสัญญานี้ ประเทศภาคีจะต้องไม่ใช้ สะสม ผลิต และถ่ายโอนทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในทุกกรณี โดยต้องทำลายทุ่นระเบิดในคลังภายใน 4 ปี หลังเข้าร่วม รวมถึงกำจัดทุ่นระเบิดในพื้นที่เสี่ยงภายใน 10 ปี นอกจากนี้ยังต้องมีบทบาทช่วยเหลือเหยื่อทุ่นระเบิดให้เข้าถึงการรักษาและฟื้นฟูด้วย
ข้อมูลจากคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศหรือไอซีอาร์ซี ชี้ว่ากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา อนุสัญญานี้ผลักดันให้เกิดการทำลายทุ่นระเบิดไปแล้วกว่า 55 ล้านลูก จำนวนประเทศผลิตทุ่นระเบิดลดจาก 50 ประเทศเหลือไม่ถึง 10 ประเทศ พร้อมมีระบบช่วยเหลือเหยื่อทุ่นระเบิดและทำให้พื้นที่เสี่ยงหลายแห่งปลอดภัยขึ้น แต่ก็ยังคงประสบปัญหาจากทุ่นระเบิดที่หลงเหลือจากสงคราม รวมถึงแนวโน้มสถานการณ์ในยูเครนที่จุดกระแสการนำทุ่นระเบิดกลับมาใช้
จากสงครามในยูเครนที่ยืดเยื้อมานานกว่า 3 ปีและยังไม่มีวี่แววจะยุติ ประเทศยุโรปที่มีพรมแดนติดกับรัสเซียซึ่งกังวลเรื่องเสถียรภาพและความมั่นคงของตัวเองต่างพากันตบเท้าประกาศถอนตัวจากการเป็นภาคีอนุสัญญาออตตาวากันเกือบหมดแล้ว

เริ่มจากกลุ่มประเทศบอลติก ได้แก่ ลิทัวเนีย ลัตเวีย เอสโตเนีย ตามด้วยโปแลนด์ที่เริ่มกระบวนการถอนตัวไปแล้ว และล่าสุดประธานาธิบดีฟินแลนด์เพิ่งจะลงนามเดินหน้าการถอนตัวไปเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมานี้
เมื่อยื่นเรื่องต่อองค์การสหประชาชาติแล้ว กระบวนการถอนตัวจะใช้เวลา 6 เดือน เท่ากับตอนนี้ประเทศที่มีพรมแดนติดกับรัสเซียจะเหลือก็แต่นอร์เวย์ที่ประกาศชัดเจนว่าจะไม่ถอนตัว
สำหรับคู่ขัดแย้งของรัสเซียอย่างยูเครนเอง ประธานาธิบดีก็ไฟเขียวให้ถอนตัวจากอนุสัญญาออตตาวาเช่นกัน แต่ยังอยู่ในระหว่างรอการอนุมัติจากสภา เพื่อแจ้งเรื่องกับยูเอ็นต่อไป
กรณีของยูเครนจะต่างจากชาติอื่นตรงที่อนุสัญญาออตตาวากำหนดไว้ว่าสำหรับประเทศที่อยู่ในภาวะสงคราม การถอนตัวจะยังไม่มีผลจนกว่าความขัดแย้งทางอาวุธจะสิ้นสุดลง ซึ่งประธานาธิบดียูเครน ตระหนักดีถึงข้อจำกัดนี้
แต่เหตุผลของการถอนตัวก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับประเทศอื่นๆ คือเรื่องความมั่นคง ซึ่งทุกประเทศมองว่าการถอนตัวจากอนุสัญญาออตตาวาเป็นการส่งสัญญาณความพร้อมว่าจะมีการใช้มาตรการที่จำเป็นทุกอย่างเพื่อปกป้องดินแดนและเสรีภาพ หรือพูดง่ายๆ อีกอย่างคือแต่ละประเทศต่างต้องการเลี่ยงสภาวะที่รัสเซียจะได้เปรียบมากกว่า เพราะไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญานี้และสามารถใช้ทุ่นระเบิดได้อย่างเต็มที่

สำหรับไทยแล้ว เราร่วมลงนามในอนุสัญญาออตตาวาเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.1997 พร้อมกันกับกัมพูชา โดยในเวลาต่อมาไทยให้สัตยาบันเมื่อปลายปี 1998 ก่อนกัมพูชาที่ให้สัตยาบันต่อมาให้อีก 1 ปี ให้หลัง ซึ่งอนุสัญญานี้มีผลบังคับใช้ในสองประเทศเมื่อปี 1999 และปี 2000 ตามลำดับ
ที่ผ่านมาไทยมีบทบาทสำคัญในการทำลายทุ่นระเบิดและร่วมป้องกันลดการใช้ทุ่นระเบิดบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาด้วย
ขณะที่กัมพูชาเองก็เป็นภาคีที่สำคัญในภูมิภาค โดยมีบทบาทการกำจัดทุ่นระเบิดหลังสงครามกลางเมือง พร้อมทั้งได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศจำนวนมาก
เมื่อมีการละเมิดอนุสัญญา กลไกที่ทำได้คือการร้องเรียนผ่านรัฐภาคีและเวทีระหว่างประเทศ เช่น การประชุมยูเอ็น หรือในที่ประชุมประจำปีของรัฐภาคี หากตรวจสอบพบการละเมิดจริง อาจมีมาตรการกดดันทางการเมืองตามมา
โดยเมื่อวานนี้ไทยได้ออกแถลงการณ์ประณามการใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลของกัมพูชาอย่างรุนแรง พร้อมทั้งระบุว่าจะดำเนินการตามกระบวนการภายใต้อนุสัญญาและเรียกร้องให้กัมพูชาความร่วมมือเก็บกู้ทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมตามแนวชายแดนตามข้อตกลงของสองฝ่ายต่อไป
ที่น่ากังวลคือการละเมิดอนุสัญญานี้ไม่เพียงแต่จะเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคง แต่ในอดีตผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดถึงร้อยละ 84 เป็นพลเรือน และ 1 ใน 3 เป็นเด็กที่ต้องเผชิญชะตากรรมอันน่าเศร้า ตอกย้ำให้เห็นว่าอาวุธเหล่านี้สร้างความเสียหายโดยไม่เลือกหน้าและเป็นที่มาของความพยายามกวาดล้างอาวุธชนิดนี้ให้หมดไปจากโลก ซึ่งดูแล้วความก้าวหน้าที่ได้มาในช่วงหลายทศวรรษก่อนหน้านี้อาจจะกำลังถดถอยลงไปเรื่อยๆ
สถานะภาคีอนุสัญญาอาจเป็นบททดสอบของรัฐต่างๆ ว่าจะเลือกให้น้ำหนักไปที่มนุษยธรรมหรือความมั่นคงของตัวเองมากกว่ากัน
อ่านข่าว :
ปม “กับระเบิด” ไปไกลถึงยูเอ็น 2 พ่อใหญ่ 2 ประเทศผลัดกันลากไส้
ทบ.เผยพบทุ่นระเบิดใหม่อีก 2 ทุ่น จ่อเชิญผู้ช่วยทูตทหารรับทราบข้อเท็จจริง
"พล.อ.ณัฐพล" ยันปมทุ่นระเบิดใหม่ หลักฐานชัดฟ้อง "กัมพูชา" ละเมิดออตตาวา