วันนี้ (23 ก.ค.2568) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า วันที่ 25 ส.ค.นี้เป็นต้นไป จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนใช้สิทธิรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ผ่านแอปพลิเคชัน "ทางรัฐ"
เงื่อนไขต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย พร้อมระบุเลขบัตรประชาชน 13 หลัก, บัตรเครดิต, บัตรเดบิต และบัตรโดยสาร Rabbit Card ที่ลงทะเบียนใช้งานกับระบบรถไฟฟ้า หากไม่ลงทะเบียนจะต้องจ่ายค่าโดยสารในอัตราปกติ
รมว.คมนาคม ยืนยันว่า ระบบจะไม่ล่ม เนื่องจากจะใช้รูปแบบคล้ายกับการเปิดให้ลงทะเบียนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่มีผู้ลงทะเบียนกว่า 18 ล้านคน แต่ระบบสามารถรองรับได้และสามารถลงทะเบียนได้ตลอด ไม่มีกำหนดเวลา ซึ่งจะเริ่มมาตรการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2568 ครอบคลุมโครงข่ายเส้นทางรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมฯ และปริมณฑล จำนวน 8 สาย รวม 13 เส้นทาง รวมทั้งสิ้น 194 สถานี คาดว่าเมื่อเปิดใช้มาตรการดังกล่าวแล้วจะทำให้อัตราผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 20
อย่างไรก็ตาม การใช้บริการมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ในระยะแรกจะใช้รูปแบบบัตร Rabbit Card สามารถใช้บริการได้ 4 สาย คือ สายสีเขียว, สีทอง, เหลือง, ชมพู ขณะที่บัตร EMV Contactless (Visa/Mastercard) ตามเงื่อนไขธนาคารที่เข้าร่วมให้บริการที่กำหนด สามารถใช้บริการได้กับ 6 สาย คือ สายสีแดง, สีน้ำเงิน, ม่วง, ชมพู, เหลือง, แอร์พอร์ต เรล ลิงค์ (ARL)

เบื้องต้น หากผู้ใช้บริการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าข้ามสายจะต้องถือบัตร 2 ใบ แต่ชำระค่าโดยสารเพียง 20 บาทตลอดสายเท่านั้น ส่วนในระยะต่อไปจะนำเทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมเข้ามาใช้ในการพัฒนาระบบ เช่น การสแกนจ่ายด้วย QR CODE สแกนจ่ายค่าโดยสาร เพื่อเพิ่มความสะดวกต่อการใช้งาน
ส่วนกรณีที่ กทม.ระบุว่าเงินชดเชยรถไฟฟ้าสายสีเขียว วงเงิน 2,525 ล้านบาท น้อยกว่าความเป็นจริงนั้น นายสุริยะ กล่าวว่า มติ ครม.วงเงิน 2,525 ล้านบาทยังเป็นตัวเลขประมาณการ ซึ่งชี้แจง กทม.ไปแล้วว่าการชดเชยสายสีเขียว คือ เคยมีรายได้เท่าไหร่ก็จะต้องได้ตามนั้น หากเก็บที่ราคา 20 บาทตลอดสายแล้วรายได้ลดลง จะมีการชดเชยส่วนที่หายไป เป็นการชดเชยตามจริง
นอกจากนี้ เส้นทางที่เป็นสัมปทานทั้ง BEM และ BTS แต่ละสัญญามีรายละเอียดการแบ่งรายได้ตามอัตราการเติบโตของผู้โดยสารแต่ละปี ซึ่งมีการคาดการณ์ว่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะทำให้ผู้โดยสารเติบโตมากกว่าปกติและจะมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงให้ไปดูค่าเฉลี่ยการเติบโตของผู้โดยสารย้อนหลัง 5 ปี แล้วนำมาเฉลี่ยเป็นเกณฑ์ซึ่งเติบโตประมาณร้อยละ 2-3
หากผู้โดยสารเติบโตมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ จะต้องมีการแบ่งรายได้ส่วนนี้ให้รัฐ โดยเอกชนจะใช้วิธีการบริจาคเข้ากองทุนตั๋วร่วมฯ เพื่อไม่ต้องแก้ไขสัญญา ซึ่งจะมีการหารือถึงตัวเลขส่วนแบ่งรายได้อีกครั้ง
อ่านข่าว
เช็กเงื่อนไข-ลงทะเบียน รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย