ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชยพล-วิโรจน์ซัดศาลทหาร "คดีน้องเมย" สะท้อนความอยุติธรรม

การเมือง
13:02
418
ชยพล-วิโรจน์ซัดศาลทหาร "คดีน้องเมย" สะท้อนความอยุติธรรม
อ่านให้ฟัง
05:36อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กมธ.ทหารและพรรคประชาชนชงร่างแก้กฎหมายศาลทหาร เปิดทางผู้เสียหายเป็นโจทก์ได้ "ชยพล" ชี้คดีน้องเมยสะท้อนความอยุติธรรม เรียกร้องกองทัพใช้มาตรฐานเข้มงวด "วิโรจน์" จี้นายกฯ ลงนาม OPCAT อนุญาตสุ่มตรวจการซ้อมทรมานในกองทัพ เพื่อความโปร่งใสและยุติธรรม

วันนี้ (23 ก.ค.2568) นายชยพล สท้อนดี สส.พรรคประชาชน และกรรมาธิการการทหาร (กมธ.ทหาร) แถลงข่าวถึงคำพิพากษาศาลฎีกาคดีนักเรียนเตรียมทหาร "น้องเมย" เสียชีวิตจากการถูกรุ่นพี่สั่งธำรงวินัย โดยแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียหาย แม้คดีจะสิ้นสุด แต่คำตัดสินยังทำให้สังคมตั้งคำถามถึงความยุติธรรมและการคงอยู่ของศาลทหาร ซึ่งมีอำนาจพิจารณาคดีบุคลากรทหาร แต่ผลลัพธ์มักทำให้ประชาชนที่เป็นคู่ขัดแย้งรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม

นายชยพล ซึ่งเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมทหาร กล่าวว่า คดีนี้มีช่องว่างและข้อสงสัยมากมาย โดยเฉพาะวิธีลงโทษที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน เช่น การสั่งให้หัวปักลงตะแกรงน้ำ หรือลงโทษนอกเวลานอน พร้อมตั้งคำถามถึงผู้บังคับบัญชาที่รับผิดชอบดูแลนักเรียนเตรียมทหาร ซึ่งไม่สามารถอ้างว่าไม่รู้หรือไม่เกี่ยวข้องเมื่อมีการกระทำนอกกฎระเบียบ

กองทัพต้องตระหนักว่ามาตรฐานไม่ได้มีไว้แค่เขียนในกระดาษ ต้องบังคับใช้อย่างเข้มงวด ทุกครั้งที่มีการสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นพลทหารหรือนักเรียนเตรียมทหาร กองทัพมักอ้างว่ามีระเบียบห้ามละเมิด แต่สุดท้ายยังเกิดเหตุซ้ำ ๆ โดยไม่มีผู้รับผิดชอบอย่างแท้จริง 

เขายังวิจารณ์ระบบศาลทหารว่าเป็นพื้นที่ของทหารเอง ทำให้เกิดวัฒนธรรม ตรวจสอบกันเอง ย้ายกันเอง จบกันเอง โดยไม่มีการเรียนรู้หรือแก้ไขอย่างจริงจัง พร้อมตั้งคำถามว่าการให้ผู้กระทำผิดที่ทำให้เกิดความสูญเสียกลับไปรับราชการต่อนั้นเหมาะสมหรือไม่

ทางด้าน นายเอกราช อุดมอำนวย สส.กทม. พรรคประชาชน และ กมธ.ทหาร กล่าวว่า สังคมตั้งคำถามถึงความไม่เป็นธรรมในศาลทหาร โดยเฉพาะโทษที่ไม่สอดคล้องกับการกระทำ และกระบวนการที่ครอบครัวผู้เสียหายไม่มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม ปัญหานี้เกิดจากพระธรรมนูญศาลทหารที่ไม่ให้สิทธิ์ประชาชนผู้เสียหายฟ้องคดีได้โดยตรง ต้องผ่านอัยการทหาร ซึ่งมีระบบคัดกรองจำกัดสิทธิ์แม้แต่การเป็นโจทก์ร่วม

กมธ.ทหารและพรรคประชาชนจึงผลักดันร่างแก้ไขกฎหมายต่อสภาฯ เพื่อให้ผู้เสียหายสามารถเป็นโจทก์ในศาลทหารได้ และเรียกร้องให้ยกเลิกศาลทหารในยามปกติ โดยให้คดีทุจริตและประพฤติมิชอบขึ้นศาลพลเรือน

นายเอกราชยังอ้างถึง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ที่กำหนดว่าการซ้อมหรือธำรงวินัยจนเสียชีวิตในค่ายทหารถือเป็นการทรมาน ต้องขึ้นศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งให้โทษสูงถึง 20 ปีสำหรับผู้กระทำผิดหลัก เช่น กรณีพลทหารวรปรัชญ์ที่ศาลพิพากษาจำคุกครูฝึก 20 ปี เขาย้ำว่าโทษทางอาญาไม่ใช่การแก้แค้น แต่ต้องสอดคล้องกับความผิดและผลกระทบ พร้อมเตือนว่ากองทัพพยายามดึงคดีจากศาลอาญาทุจริตกลับไปศาลทหาร เช่น กรณีคดีในเชียงรายที่จำเลยโต้แย้งเขตอำนาจศาล

ส่วน นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.พรรคประชาชนและ ประธาน กมธ.ทหาร กล่าวว่า ครอบครัวน้องเมยพยายามรื้อฟื้นคดี โดย กมธ.จะรวบรวมหลักฐานส่งกระทรวงยุติธรรมเพื่อหาทางรื้อคดี แม้คำพิพากษาจะถึงชั้นฎีกาศาลทหารแล้ว ซึ่งตัดสินจำคุกผู้กระทำผิด 4 เดือน 16 วัน ปรับ 15,000 บาท รอลงอาญา 2 ปี และยังให้รับราชการต่อ (หนึ่งนายเป็นทหาร อีกนายเป็นตำรวจ) ประธาน กมธ.ทหาร แสดงความกังวลว่าจะกลายเป็นแบบอย่างให้เกิดวัฒนธรรมลอยนวลในกองทัพ และตั้งคำถามว่ากองทัพจะยอมให้ผู้ที่ทำร้ายเพื่อนทหารจนเสียชีวิตเป็นทหารต่อไปหรือ 

นายวิโรจน์ยังระบุว่า การทำร้ายในค่ายทหารหลายกรณีไม่ใช่การธำรงวินัย แต่เกิดจากการที่ทหารบางนายไม่ยอมร่วมขบวนการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ จึงถูกกลั่นแกล้งจนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ซึ่งเข้าข่ายการทรมาน จึงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ลงนามในพิธีสารเลือกรับอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (OPCAT) เพื่อให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและอนุกรรมการสหประชาชาติสุ่มตรวจค่ายทหารโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า รวมถึงผลักดันให้คดีทุจริตของทหารขึ้นศาลพลเรือน เพื่อหยุดวัฒนธรรมลอยนวลและสร้างความยุติธรรม

อ่านข่าวอื่น : 

"ทรัมป์" เก็บภาษีฟิลิปปินส์ 19% แลกเปิดเสรีการค้า

ทรัมป์ปิดดีลญี่ปุ่น ภาษี 15% เปิดตลาดรถ-ข้าว จ้างงานแสนตำแหน่ง