จากกรณีอื้อฉาวของ "สีกากอล์ฟ" ที่มีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับพระสงฆ์ระดับสูงหลายรูป ได้กลายเป็นประเด็นที่สังคมตั้งคำถามถึงความเสื่อมถอยของวงการสงฆ์ในประเทศไทย ทำให้เกิดคำถามถึงปัญหานี้ในหลากหลายมิติ รายการตอบโจทย์ เจาะพฤติการณ์ "สีกากอล์ฟ" นารีพิฆาตสงฆ์ วิกฤตวงการผ้าเลือง กับ Thai PBS ได้สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ 2 ท่าน รศ.ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และ รศ.ดร.ฐนันด์ศักดิ์ บวรนันทกุล อดีตประธานหลักสูตรอาชญาวิทยาฯ ม.มหิดล
ความเสื่อมถอยของวงการสงฆ์ ปัญหาเชิงระบบที่ต้องแก้ไข
รศ.ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ มองว่าเหตุการณ์นี้ตามหลักพระวินัยแล้วถือเป็นเรื่องปกติ ตราบใดที่พระยังไม่ใช่เป็นพระอริยบุคคล โอกาสที่ท่านจะพลาดท่า จากการผิดพระวินัยมีได้อยู่แล้ว แต่ที่น่าตกใจคือ ครั้งนี้มีพระระดับผู้ใหญ่ที่มีตำแหน่งทางวิชาการสูงเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก
รศ.ดนัย ได้กล่าวถึงระบบการตรวจสอบ ถ้าเอาหลักประกันคุณภาพทั่วไปมาจับ มี Input (การเข้ามาบวช) Process (กระบวนการขัดเกลา) Output (ผลลัพธ์)
ตอนนี้ผลลัพธ์ที่ออกมาเหมือนกับว่าคณะสงฆ์ส่วนนึงก็มีปัญหามากพอสมควร ขณะที่ผู้เข้ามาบวชเราไม่รู้ว่ามาดีมาร้าย แต่ผลลัพธ์ออกมาก็มีปัญหา จึงต้องกลับมาดูที่กระบวนการว่าระหว่างทางนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง ถ้ามาไล่ตั้งแต่กระบวนการคัดเลือก การกลั่นกรอง ในการเข้ามาก็ไม่มี ส่วนนึงต้องยอมรับว่าการเข้ามาบวชน้อยลงเรื่อย ๆ บางทีพระเณรก็มาจากชาวเขา ชาวไร่ ชาวนา หรือบางทีหลวงปู่ หลวงตาคือ คนแก่ในหมู่บ้าน ไม่มีทางออกก็บวชเป็นพระประจำหมู่บ้าน
ซึ่งพอ Input (การเข้ามาบวช) อย่างนี้ถ้าไม่มี Process (กระบวนการ) ที่ดีในขบวนการขัดเกลา รวมถึงกระบวนการตรวจสอบ เช่น มีการศึกษาเล่าเรียนไหม มีการสอนการปฏิบัติธรรมไหม แต่ในความเป็นจริง คือ พอมาบวชก็ไม่มีกระบวนการเรียนการสอนอะไร ที่เข้าไปวางรากฐานหรือการปฏิบัติผลลัพธ์ จึงออกมาก็อย่างที่เราเห็น รศ.ดนัย กล่าว
รศ.ดนัย อธิบายถึงหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์ มีหน้าที่อย่างไร ในการรับประกันคุณภาพพระสงฆ์ ว่า คำว่าอุปัชฌาย์ อุ-ปัด แปลว่า ใกล้ ชายะ แปลว่า เพ่ง ปัชฌาย์ คือคนที่ไปเพ่งใกล้ ๆ พูดง่าย ๆ คือ ไปจับผิด เพื่อไปสอนลูกศิษย์ให้มีคุณภาพ ซึ่งพระที่บวชใหม่ จะเรียกว่า "พระนวกะ"
โดยปกติพระอุปัชฌาย์ จะต้องดูแล 5 ปี เมื่อพ้น 5 ปี จะเรียกภาษาบาลีว่า นิสัยมุตตกะ พ้นจากการถือนิสัยแล้วคือ อุปัชฌาย์เพ่งเล็งจนขัดเกลาจนดีแล้ว
อ.ดนัย กล่าวเพิ่มว่า แต่ในทางปฏิบัติ ปัจจุบันพระอุปัชฌาย์เองอาจจะไม่มีเวลาดูแล และการเป็นพระอุปัชฌาย์ก็มีเงื่อนไข ขั้นตอนเยอะ เพราะฉะนั้นอุปัชฌาย์เป็นสิ่งขาดแคลน พอจะบวชก็มีเจ้าคณะตำบลมารวมกันทีบวชทีนึง ในภาษาพระเรียกกันว่า อุปัชฌาย์เป็ดอุปัชฌาย์ไก่ คือ ไข่เราก็ไม่ได้ดูแล ฉะนั้นระบบการตรวจสอบจะขึ้นอยู่กับเจ้าอาวาส ซึ่งถ้าท่านเจ้าอาวาสหรืออาจารย์แต่ละท่านเคี่ยวเข็ญดูแล ปัญหาก็อาจจะลดลงได้พอสมควร แต่ว่าในเชิงปฏิบัติตอนนี้ เหมือนเป็นสังคมฆราวาส คือ พระสงฆ์เป็นระบบต่างคนต่างอยู่
นักวิชาการเจาะพฤติการณ์ "สีกา"
ประเด็นพระที่บวชเรียนมานาน สามารถต้านทานไหวหรือไม่ และสีกาที่อยากจะมีความสัมพันธ์กับพระพวกเขามีความคิดหรือมีความสนใจอะไรเป็นพิเศษ ?
รศ.ดร.ฐนันด์ศักดิ์ บวรนันทกุล อธิบายว่า "พระกับชุมชน" ตามหลักแล้วไม่ได้แยกกันโดยพื้นฐาน เพราะฉะนั้นการที่ไม่ได้แยกกัน ถ้ามีโอกาสหรือความใกล้ชิด ในลักษณะที่อาจนำไปสู่สิ่งที่มันไม่ดี ดูจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มองในแง่ของการกระทำความผิด อาจจะเรียกว่า "แผนประทุษกรรม" เป็นลักษณะของการจงใจหรือเจตนาได้ เพราะเท่าที่ดูมีหลายเหตุการณ์ที่อาจจะมองได้ว่าเป็นการวางแผน การไตร่ตรอง การถ่ายรูปไว้จำนวนมาก ซึ่งโดยทั่วไปไม่ควรจะมีเหตุการณ์แบบนี้ รวมถึงพฤติกรรมในเรื่องของการรับเงินมาแล้วก็โอนกลับ
อ.ธนันศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แล้วที่บอกว่ามีเงินตอบแทนค่อนข้างเยอะ แต่สุดท้ายเหลือในบัญชี 8,000 แสดงว่าตัวผู้กระทำค่อนข้างที่จะรู้พอสมควร ซึ่งปัจจุบันคนที่กระทำที่เป็นผู้หญิง แล้วลงมือกระทำความผิด ตามหลักมีไม่เยอะ ที่บอกว่ามีไม่เยอะ เพราะว่าส่วนใหญ่ก็อาจจะเกิดจากความแค้น อาจจะเกิดจากการถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวแล้วตอบโต้ อาจจะเรื่องความกดดัน และแสวงหาผลประโยชน์ โดยใช้ตัวเองเป็นจุดหมายในการดำเนินการอันนี้ก็ถือว่าเข้าข่าย
อ.ธนันศักดิ์ อธิบายว่า มีทฤษฎีในการกระทำความผิดอันนึง ซึ่งอาจารย์มองแล้วว่าเข้าข่าย คือ "ทฤษฎีโอกาสในการกระทำความผิด" ถ้าในทางของการกระทำความผิดบางทีเรียกว่า "ทฤษฎีสามเหลี่ยมอาชญากรรม" เงื่อนไขในการกระทำความผิด มี 3 ส่วน
- ส่วน 1 เป็นผู้กระทำซึ่งผู้กระทำมีเจตนาหรือจงใจ วางแผน รวมทั้งชั่งน้ำหนักด้วยว่าจะได้อะไรจากการลงมือ อันนี้เข้าข่ายจากพฤติกรรม
- ส่วนที่ 2 มีเหยื่อที่เหมาะสมหรือมีเป้าหมาย คือการที่เหยื่อเป็นพระผู้ใหญ่ มีเงินทอง หรือไม่มีเงินแต่มีบารมี บางทีก็ได้ยินว่าพระฝากเด็กเข้าโรงเรียน ฝากในตำแหน่ง เคยมีเหตุการณ์เหล่านี้ โดยเฉพาะเป็นพระผู้ใหญ่
อ.ธนันศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เคยมีงานวิจัยจากนักศึกษา ซึ่งเป็นพระที่มาเรียนในหลักสูตร เมื่อหลายปีมาแล้ว ทำวิจัยเรื่องนี้โดยเฉพาะเกี่ยวกับนารีพิฆาต พระสงฆ์ ซึ่งท่านบอกว่าจุดอ่อนคือ เรื่องเซ็กส์ของพระสงฆ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยนั้นขนาดว่ายังไม่เจริญเท่านี้ ท่านพบว่าพระสงฆ์ดูภาพยนต์ลามกในเวลาว่างค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นพฤติกรรมแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นพระระดับไหน กลายเป็นจุดอ่อนในกรณีที่ถ้าตกเป็นเหยื่อแล้ว ถ้าถูกแบล็กเมล การจะต้องหลุดจากตำแหน่ง
- ส่วนที่ 3 การขาดในเรื่องของใช้คำว่า "ผู้ปกป้องที่มีประสิทธิภาพ" ปกติผู้ปกป้องพระนั้นมีโดยทางอ้อม เช่น ชาวบ้านคอยเฝ้ามอง ถ้าเป็นในวัดเองก็อาจจะมีพระผู้ใหญ่ อันนี้หมายความว่าถ้าพระเด็กมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หรืออาจจะมีกฎข้อห้ามของวัดพื้นที่ตรงนี้ห้ามผู้หญิงเข้ามีกล้องวงจรปิด แต่พฤติกรรมที่เกิดของสีกากอล์ฟบอกได้ว่าเป็นการวางแผน แล้วก็อย่างที่บอกมีเจตนาเพราะมีการล่อพระออกจากเขตปลอดภัย ไปออกข้างนอก แล้วเป็นเหตุที่ไม่มีใครเฝ้ามอง อันนี้ 3 เงื่อนไข อ.ธนันศักดิ์ ว่าเป็นสาเหตุที่เกิด
อาจารย์ธนันศักดิ์ ระบุว่า
แล้วก็ส่วนตัวของสีกากอล์ฟเอง ผมมองว่าจริง ๆ แล้ว โดยพื้นฐาน ซึ่งโตมาในลักษณะที่เราอาจจะใช้คำพูดว่าตกหล่นการเรียนรู้ในเรื่องของความเป็นคนดี หรือ ตกหล่นในเรื่องของการเรียนรู้ในเรื่องของการยับยั้งชั่งใจอะไรประมาณนั้น
การอยู่ใกล้ชิดพระสงฆ์กับสีกา และ การใช้เทคโนโลยีในยุคดิจิทัล
ที่ผ่านมาหลายวัดก็มีสีกาอยู่ในวัดเยอะ เนื่องจากเดี๋ยวนี้เด็กช่วยงานน้อยลง บางวัดก็มีแม่ชีบ้างหรือสีกาบ้าง ดูแลกุฏิวัด ขณะเดียวกันก็มีผู้หญิงบางคนที่ศรัทธาในตัวพระก็จะเห็นเข้าไปอยู่ใกล้ ๆ ในแบบนี้กันอยู่เยอะ เรื่องต่าง ๆ แบบนี้ น่ากังวลหรือไม่
รศ.ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ ระบุว่า ในพระวินัยมีบัญญัติสิกขาบทไว้เยอะ ไม่ว่าจะเป็นห้ามนั่งในที่ลับตา ห้ามสนทนากันในที่รับหู ตอนนี้เนื่องจากเป็นเรื่องสีกา แต่จริง ๆ เด็กวัดผู้ชาย กับ พระที่เป็น LGBTQ+ จริง ๆ อาจเป็นปัญหาเช่นเดียวกัน สุดท้ายแล้วก็อยู่ที่ว่าพระท่านจะรักษาพระวินัย มีสติครองตนมากน้อยแค่ไหน แต่ในกรณีของผู้หญิง ถ้าเราจะโฟกัสเรื่องก่อนที่พุทธเจ้าจะปรินิพพานท่านก็เคยพูดกับพระอานนท์ เพราะพระอานนท์ท่านก็กังวลเรื่องนี้เช่นกัน
รศ.ดนัย ได้ยกตัวอย่างคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เคยตรัสกับพระอานนท์ถึงวิธีปฏิบัติต่อสตรีว่า "อย่าพูดด้วย" และ "พูดแต่เท่าที่จำเป็น" ซึ่งในปัจจุบันพระวินัยมีข้อห้ามเรื่องห้ามนั่งในที่ลับตาและสนทนาในที่ลับหู อันนี้มีอยู่แล้วมีในพระวินัย ภาษาไทยเรียกว่า "อนิยต" แต่ด้วยเทคโนโลยีอย่างโทรศัพท์มือถือและโซเชียลมีเดีย ทุกคนสามารถมีพื้นที่ส่วนตัว ไม่ว่าจะเปิดกล้องกันในที่ลับ จีบกัน หรือคุยแช็ต ซึ่งก็ใช้เซ็กซ์โฟนหรืออะไรก็แล้วแต่ ตอนนี้ต้องยอมว่าเทคโนโลยี กลายเป็นช่องทางใหม่ที่เปิดโอกาสให้พระสงฆ์ทำผิดได้ง่ายขึ้น
พอเพียงหรือยัง ? พระธรรมวินัยและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
กับข้อคำถามถึงความเพียงพอของพระธรรมวินัยและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รศ.ดนัย ในฐานะนักอนุรักษ์นิยมยังเชื่อว่า เพียงพอแล้ว การไปลงโทษเพิ่มเติม เห็นด้วยในกรณีว่าถ้ามันผิดกฎหมายอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาญาหรือแพ่ง ก็ดำเนินคดีไปตามนั้น แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องมาบัญญัติโทษเพิ่มเติม ในกรณีของพื้นที่ของศาสนา เพราะว่าศาสนาไม่ใช่รัฐศาสนา ถ้าเป็นประเทศที่ใช้กฎศาสนาอย่างเช่น กฎหมายชะรีอะห์ของอิสลาม อันนี้เข้าใจได้
แต่ปัจจุบัน ถ้าย้อนกลับไปพุทธกาล สมัยพุทธกาลก็มีพระที่ประพฤติผิด ไม่ดี ไม่งาม มากมายมหาศาล อันนี้พูดตามหลักการบางท่านประพฤติผิดแล้วลาสิกขาไปตั้งตัวเป็นคนดี ก็ยังมีโอกาสที่จะบรรลุธรรมได้ ฉะนั้นถ้าเราไปทำแบบนี้ ส่วนนึงก็น่าคิดว่าจำนวนพระสงฆ์ ถ้ามองในแง่ปริมาณที่อาจจะมีมาน้อยอยู่แล้ว พอมีกฎเกณฑ์ที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ คณะสงฆ์ต้องคิดว่าจะมีผลต่อจำนวนของพระสงฆ์ที่จะมาบวชลดลงด้วยหรือเปล่า
รศ.ดนัย ระบุเสริมว่า ตามพระธรรมวินัยต้องเป็นตามที่เรียนไป คือ ตนเป็นอนุรักษ์นิยม พระพุทธเจ้าตรัสว่า
พระศาสนาเราไม่จำเป็นต้องไปบัญญัติ สิ่งที่พระองค์ไม่บัญญัติ แล้วอย่าไปเพิกถอนสิ่งที่พระองค์บัญญัติไว้ดีแล้ว แต่ปัญหาของเราตอนนี้ เราไปบัญญัติสิ่งที่พระองค์ไม่บัญญัติเยอะเลย
ถามว่าแก้ปัญหาได้ไหมก็แก้ไม่ได้ แล้วสิ่งที่พระองค์บัญญัติไว้ดีแล้วหลายเรื่องเราก็ไปตัดถอนออก อาจารย์มองแบบ Conservative (อนุรักษ์นิยม) ถ้ากลับมาตั้งมั่นพระธรรมวินัย สามารถเอาอยู่ ต้องแก้ตั้งแต่อุปัชฌาย์ ระบบการศึกษาที่วัด รวมไปถึงบทลงโทษของตามวินัย ซึ่งมีกฎเกณฑ์อยู่แล้ว
นอกเหนือจากพระธรรมวินัย พระปกครองที่มหาเถรสมาคม ในระดับปกครองที่อยู่ในราชอาณาจักรที่จะต้องดูแลศาสนจักร ตรงนี้ต้องดำเนินการมากกว่านี้ไหม ซึ่ง รศ.ดนัย ระบุว่า หน่วยงานเหล่านี้ควรจะมีหน้าที่ควบคุมการประพฤติพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์ อย่าใส่เกียร์ว่าง พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ได้พูดชัดเจนว่า ขอความร่วมมือสำนักพุทธไปหลายครั้งแล้วล้มเหลวตลอด
บทบาทของคณะสงฆ์และแนวทางแก้ไข
รศ.ฐนันศักดิ์ ได้อธิบายว่า สิ่งแรกในแง่สังคมวิทยาคือ สมัยก่อนพระเป็นสถาบันที่มีบทบาท ในเรื่องของการศึกษา แต่ปรากฏว่าในปัจจุบันบทบาทตรงนั้นเข้าสู่ระบบ พอเข้าสู่ระบบบทบาทของพระที่มีอยู่ อาจารย์มองว่าหายไปค่อนข้างเยอะ
พระสงฆ์จำนวนมากมีเวลาว่างหลังจากทำกิจวัตรประจำวันของสงฆ์แล้ว เพราะฉะนั้นจะมีเวลาว่างโอกาสที่ท่านจะไปใช้โซเชียลมีเดีย ส่วนตัวอาจารย์เคยพบเจอ ตอนที่สมัยมีพระมาเรียน ปรากฏว่าเวลาที่ ญาติโยม บุคลากร มีปัญหาเรื่องคอมพิวเตอร์ คนที่แก้ปัญหากลับไม่ใช่ช่างเทคนิคแต่เป็นพระ ปรากฏว่าพระที่สนใจเรื่องคอมพิวเตอร์ เรื่องอะไรต่าง ๆ ท่านก็ไปศึกษาแล้วก็ทุ่มเทแล้วก็เก่ง
บทบาทของพระสงฆ์ คือเราไม่ได้ให้บทบาทอะไรในแง่สังคม นอกจากมีพระบางรูปที่ออกมาในรูปของเป็นพระนักพัฒนา เป็นรูปของพระที่สังคมสงเคราะห์ นอกจากนี้แล้วคือ ไม่มีการเชื่อมต่อ ในเรื่องของประเทศไทยที่เรามีสังคมผู้สูงอายุกับสถาบันของวัด ซึ่งอันนี้อาจารย์คิดว่าถ้าสามารถเชื่อมกันได้ ผู้สูงอายุเอาเวลาเข้าวัด ก็อาจจะเป็นกลุ่มนึงที่ช่วยสอดส่อง
ในขณะเดียวกันเห็นว่าหายไปจริง ๆ คือ ภาพของเด็กวัด ก่อนหน้ามีปัญหาเรื่องเด็กวัด ที่เข้าไปอยู่ในวัดมีจำนวนไม่น้อยที่ไปเสพยาไปมั่วสุม อันนั้นก็เคยเป็นปัญหาแต่ปัจจุบันหายไป แล้วก็การปฏิบัติอย่างที่บอกว่าโอกาสที่ผู้หญิงจะเข้าไปปรนนิบัติ ถวายประเคนอาหาร หรือ ไปช่วยดูแลอะไรต่าง ๆ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าถึงค่อนข้างมาก และไม่ได้มีการจำกัดที่ชัดเจน
แต่ถ้าพูดถึงโดยทั่วไป ถือว่าถ้ายังไม่มีเจตนามากระทำความผิด ถือว่าวัดยังเป็นพื้นที่ปลอดภัยระหว่างสีกา หมายความว่าหลายที่ เวลาเข้าวัด ชาวบ้านเขาเฝ้ามองอยู่ หรือพระผู้ใหญ่คอยมองมีการสอดส่อง แต่เมื่อใดก็ตามที่ดึงพระออกไปในสังคม ไปค้างข้างนอกหรือไปอะไรต่าง ๆ ไปกิจนิมนต์เดี่ยว โอกาสที่จะเกิดก็มีค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นอาจารย์ฐนันด์ศักดิ์ เลยมองว่าจริง ๆ มี 2 เงื่อนไขใหญ่
- เงื่อนไขที่ 1 คือ ควรมีบทบาท หมายถึงตัวของคณะสงฆ์ ควรจะเพิ่มบทบาทของพระ ในแง่ของประเด็นไหนบ้าง เช่น การพัฒนา การสังคมสงเคราะห์ หรืออะไรก็แล้วแต่ควรเพิ่มมากขึ้น หรือการให้ความรู้ฝึกอบรมกับผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันมองว่ามันยังไม่มีการเชื่อมต่อ เพราะฉะนั้นถ้าตรงนี้จะมีกลไกที่ควบคุมกันเองด้วยส่วนนึง
- เงื่อนไขที่ 2 คือ ในเรื่องของโซเชียลมีเดียหรือในเรื่องของตัวมือถือกับการเสพของพระ อาจารย์มองว่าเป็นเรื่องที่อาจจะต้องควบคุมมากพอสมควร เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้พระเข้าถึง ในบางเรื่องที่ไม่สมควรได้ จะเป็นเหมือนที่ อ.ดนัย คือการเพิ่มพื้นที่ส่วนตัว ทำให้พระปลดปล่อยอะไรที่มันไม่ดีแล้วอาจจะมีจุดอ่อน เช่น เรื่องการมีเพศสัมพันธ์
รศ.ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ เพิ่มเติมว่า การที่พระสงฆ์บางรูปมีเพียงกิจวัตรประจำวันแล้วใช้เวลาที่เหลือไปกับการดูหนังฟังเพลงในกุฏินั้น จะแก้ไขได้อย่างไร ซึ่ง รศ.ดนัย เสนอว่า บางวัดก็จะมีเกณฑ์ว่าพระลูกวัด ต้องเรียนบาลีให้ได้ นี่คือระบบตรวจสอบอย่างหนึ่ง ถ้าตรวจสอบเรียนไม่ได้ ก็อาจอยู่วัดนี้ไม่ได้
ดังนั้นเจ้าอาวาสต้องมีมาตรการ ต้องมีเกณฑ์ ในการประเมินคุณภาพพระ หากปล่อยฉันท์ไปเรื่อย ๆ ไม่ได้ อาจจะต้องมีเกณฑ์ ตั้งกฎขึ้นมา เช่น ต่อไปนี้พระอาจจะต้องมี KPI ในการประเมินคุณภาพว่าท่านเรียนทางโลกได้แค่ไหน เรียนทางธรรมได้แค่ไหน ปฏิบัติธรรมได้มากน้อยแค่ไหน หรือช่วยเหลือสังคมได้แค่ไหน ต้องมีตัว KPI ชัดเจนแล้วต่อไปนี้
เมื่อถูกถามว่าแนวทางดังกล่าวจะทำให้คนบวชน้อยลงหรือไม่ รศ.ดนัย ได้ตอบกลับอย่างชัดเจนว่า
อันนี้ก็ต้องกลับมาว่าจะเอาปริมาณหรือคุณภาพ ถ้าจะให้พระสงฆ์กลับมามีคุณภาพเหมือนเดิมเป็นที่กราบไหว้บูชาได้อย่างตามอุดมคติ ต้องคัดคนคุณภาพเข้ามาหรือคนไม่มีคุณภาพก็ตามกระบวนการในพระธรรมวินัย ต้องทำให้คนเหล่านั้นมีคุณภาพขึ้นมาให้ได้
แหล่งข้อมูล : เจาะพฤติการณ์ "สีกากอล์ฟ" นารีพิฆาตสงฆ์ วิกฤตวงการผ้าเหลือง ตอบโจทย์
เรียบเรียง : ศศิมาภรณ์ สุขประสิทธิ์ นักศึกษาฝึกงาน โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อ่านข่าว : ตร.เร่งสอบเงินที่ "หลวงพ่อพัฒน์" บริจาค 30 ล้าน ไม่เข้าบัญชี "วัดนครสวรรค์"