ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิด "ปฏิบัติการจักรพงษ์ภูวนารถ" โล่เหล็กปกป้องอธิปไตยไทย

สังคม
20:28
9,596
เปิด "ปฏิบัติการจักรพงษ์ภูวนารถ" โล่เหล็กปกป้องอธิปไตยไทย
เหตุทหารไทยเหยียบทุ่นระเบิดช่องอานม้า ผบ.ทบ. สั่งด่วนเตรียม "ปฏิบัติการจักรพงษ์ภูวนารถ" แผนยุทธศาสตร์อันเกรียงไกรที่เคยพิชิตศึกเขาพระวิหาร 2554 จนกองทัพกัมพูชาพ่ายยับ ยืนยันความพร้อม แสนยานุภาพอันยิ่งใหญ่ของกองทัพไทย ปกป้องอธิปไตย ชาติ ความสงบสุขประชาชน

วันนี้ (23 ก.ค.2568) จากกรณีทหารลาดตระเวนของกองพันทหารราบที่ 14 ต้องประสบเหตุเหยียบทุ่นระเบิดในพื้นที่ห้วยบอน ช่องอานม้า จ.อุบลราชธานี ส่งผลให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผบ.ทบ. ออกคำสั่งอันหนักแน่นและเด็ดขาด ไปยังกองทัพภาคที่ 1 และกองทัพภาคที่ 2 ซึ่งดูแลพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ให้เตรียมความพร้อม "ปฏิบัติการจักรพงษ์ภูวนารถ" (Chakraphong Phuwanaat Plan) เพื่อใช้ตอบโต้สถานการณ์ที่อาจทวีความรุนแรงขึ้นอย่างไม่คาดคิด

ในวันที่ 24 ก.ค.2568 นี้ ผบ.ทบ. พร้อมด้วย พล.ท.ชัยพฤกษ์ ด้วงประพัฒน์ รองเสนาธิการทหารบก, พล.ท.บุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2 และ พล.ต.ธีรนันท์ นันทขว้าง ผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองทางทหาร จะลงพื้นที่ช่องอานม้าด้วยตนเอง เพื่อประเมินสถานการณ์และบัญชาการอย่างใกล้ชิด อันสะท้อนถึงความเป็นผู้นำที่ไม่เคยทอดทิ้งกำลังพลและพร้อมเผชิญหน้าทุกภัยคุกคาม

"ปฏิบัติการจักรพงษ์ภูวนารถ" ยุทธศาสตร์ที่เคยสยบกัมพูชา

"ปฏิบัติการจักรพงษ์ภูวนารถ" ไม่ใช่เพียงแผนการทางทหารที่เพิ่งถูกคิดค้นขึ้น แต่เป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกรังสรรค์ขึ้นอย่างละเอียดรอบคอบ เปี่ยมด้วย ภูมิปัญญาทางทหารอันลึกซึ้ง และพิสูจน์แล้วถึงประสิทธิภาพอันเหนือชั้น แผนการนี้ถูกคิดค้นและเขียนขึ้นโดย พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ หรือ "บิ๊กแก้ว" อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดไทย เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมยุทธการทหารบก พล.อ.เฉลิมพล ได้รับการยอมรับในฐานะนายทหารม้า ผู้เติบโตในสายหน่วยรบและสายอำนวยการ ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการวางแผนยุทธการต่าง ๆ

ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ปฏิบัติการนี้ได้สร้างคุณูปการอันมหาศาลให้กับกองทัพไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเหตุการณ์ความขัดแย้งบริเวณเขาพระวิหารเมื่อปี 2554 

ปฏิบัติการจักรพงษ์ภูวนารถ ได้นำไปสู่การตอบโต้ที่เด็ดขาด รุนแรง และไร้ความปรานี จนกองทัพกัมพูชาประสบความพ่ายแพ้ย่อยยับ ราบเป็นหน้ากลอง และต้องยุติการเผชิญหน้ากับกองทัพไทยไปเกือบ 10 ปี

ชัยชนะครั้งนั้นไม่ได้เป็นเพียงการปกป้องอธิปไตย แต่ยังเป็นการ ตอกย้ำถึงแสนยานุภาพอันน่าเกรงขามของกองทัพไทย ที่สามารถสยบภัยคุกคามได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด 

จากพระราชโอรสผู้เปี่ยมวิสัยทัศน์สู่ผู้สร้างรากฐานความยิ่งใหญ่ 

ข้อมูลจาก พระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ และ วารสาร ข่าวทหารอากาศ Air Force การที่แผนยุทธศาสตร์สำคัญนี้ได้รับพระนาม "จักรพงษ์ภูวนาถ" มาจากพระนามของ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 43 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และทรงเป็นพระอนุชาธิราชในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6)

พระองค์ทรงได้รับการศึกษาด้านการทหารในประเทศรัสเซีย และได้แสดงพระปรีชาสามารถโดดเด่นจนได้รับเกียรติจารึกพระนามบนแผ่นหินอ่อนในโรงเรียนนายร้อยมหาดเล็ก จากการสอบได้เป็นอันดับ 1 เมื่อเสด็จกลับประเทศไทย พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง เช่น เสนาธิการทหารบก และทรงเป็นผู้ริเริ่มและวางรากฐานการศึกษาด้านการทหารผ่านการจัดตั้ง โรงเรียนเสนาธิการทหารบก

จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

ที่สำคัญที่สุดคือ พระกรณียกิจด้านการบิน พระองค์ทรงตระหนักถึงความสำคัญของกำลังทางอากาศในการป้องกันประเทศ หลังได้ทอดพระเนตรการแสดงการบินครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2453 ทรงริเริ่มจัดตั้งแผนกการบินในกองทัพบกในปี พ.ศ. 2454 โดยส่งนายทหาร 3 นาย อันได้แก่

  1. นายพันตรี หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ ผู้บังคับกองพันพิเศษ กองพลที่ 5
  2. นายร้อยเอก หลวงอาวุธสิขิกร ผู้รั้งผู้บังคับกองพันพิเศษ กองพลที่ 9
  3. นายร้อยโท ทิพย์ เกตุทัต ผู้บังคับกองร้อยที่ 2 โรงเรียนนายร้อยชั้น 75 มัธยม

ไปศึกษาวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งต่อมาทั้ง 3 ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็น "บุพการีทหารอากาศ" ต่อมาได้พัฒนาเป็นกองบินทหารบกในปี พ.ศ.2457 และเติบโตเป็นกองทัพอากาศในปัจจุบัน

ด้วยคุณูปการอันใหญ่หลวงนี้ กองทัพอากาศไทยจึงได้ยกย่องถวายพระเกียรติพระองค์ไว้ว่าเป็น "พระบิดาแห่งกองทัพอากาศไทย" ดังนั้น การตั้งชื่อแผนยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นการปกป้องอธิปไตยตามพระนามของพระองค์ จึงเป็นการเชิดชูพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลและพระปรีชาสามารถในการทหาร

"ปฏิบัติการจักรพงษ์ภูวนาถ" เป็นมากกว่าแผนการทางทหาร แต่คือพิมพ์เขียวทางยุทธศาสตร์ที่หยั่งรากลึกในประวัติศาสตร์และวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของผู้นำในอดีต เช่นเดียวกับ หมากรุกที่ต้องมีแผนการที่คิดมาอย่างดีเพื่อปกป้องราชาและอาณาจักร แผนนี้ก็เป็นกลยุทธ์สำคัญที่ถูกออกแบบมาเพื่อปกป้องประเทศไทยจากภัยคุกคามทุกรูปแบบ ด้วยความพร้อมที่จะถูกนำมาใช้เพื่อรักษาความมั่นคงและอธิปไตยของชาติอยู่เสมอ

ที่มา : เอกสาร Naming Practice of Royal Thai Army Camps in Context of Political Symbolism Wanwichit Boonprong 2013, พระดำริในการจัดการศึกษาฝ่ายทหารของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานาถ โดย ปียนาถ บุนนาค ภาคีสมาชิก สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ราชบัณฑิตยสถาน, วารสารข่าวทหารอากาศ Air Force ปีที่ 79 ฉบับที่ 6 เดือน มิ.ย.62, Wikipedia

อ่านข่าวเพิ่ม :

ภูมิธรรมสั่งหนัก! เรียกทูตไทยกลับ-ขับทูตกัมพูชา ปมระเบิดช่องอานม้า

กองทัพบก "ประณามกัมพูชา" วางทุ่นระเบิดชายแดนช่องอานม้า

ผบ.ทบ.สั่งทัพภาค 1-2 ลุย "แผนจักรพงษ์ภูวนารถ" ตอบโต้กัมพูชา

ด่วน! ทหารไทยเหยียบกับระเบิด มทภ.2 สั่งปิด 4 ด่าน 2 ปราสาทชายแดน