ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ลำดับเหตุการณ์นำมาสู่การปะทะระหว่าง "ไทย-กัมพูชา"

การเมือง
14:41
25,722
ลำดับเหตุการณ์นำมาสู่การปะทะระหว่าง "ไทย-กัมพูชา"
อ่านให้ฟัง
09:28อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สถานการณ์ชายแดน "ไทย-กัมพูชา" กลับมาอยู่ในจุดที่น่ากังวลอีกครั้ง หลังจากทหารไทยเหยียบกับระเบิดที่กัมพูชาวางไว้ 2 ครั้งในเวลาไล่เลี่ยกัน จนนำมาสู่การปะทะบริเวณแนวชายแดนระหว่าง 2 ประเทศ

กรณีทหารไทยได้รับบาดเจ็บจากการเหยียบกับระเบิดที่ฝ่ายกัมพูชานำมาวางไว้ ทั้งในพื้นที่ชายแดนช่องบก จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ทหารนายหนึ่งข้อเท้าขาด และถัดมาอีก 1 สัปดาห์เกิดเหตุการณ์ซ้ำที่ช่องอานม้า จ.อุบลราชธานี ทหาร 5 นายบาดเจ็บจากระเบิดและมีทหาร 1 นายต้องสูญเสียขาขวา นำมาสู่มาตรการตอบโต้ทางทหาร ลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับกัมพูชา และลุกลามถึงขั้นปะทะกัน

ช่วงเย็นวันที่ 23 ก.ค.2568 เวลา 16.55 น. ชุดลาดตระเวนของไทยเหยียบทุ่นระเบิดบริเวณห้วยบอน ช่องอานม้า อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ส่งผลให้ทหารไทยบาดเจ็บ 5 นาย โดยมีอาการสาหัส 1 นาย กำลังพลทั้งหมดถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลค่ายสรรพสิทธิประสงค์

เวลา 18.20 น. พล.ท.บุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2 ยกระดับมาตรการตอบโต้ด้วยการปิดด่าน 4 แห่ง คือ ช่องอานม้า, ช่องสะงำ, ช่องจอม และช่องสายตะกู พร้อมปิดสถานที่ท่องเที่ยว 2 แห่งคือ ปราสาทตาเมือนธม และปราสาทตาควาย ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค.เป็นต้นไป

เวลา 18.40 น. "กองทัพบก" ออกแถลงการณ์ประณามกัมพูชาอย่างรุนแรง จากการลอบวางทุ่นระเบิดในพื้นที่ชายแดนช่องอานม้า จ.อุบลราชธานี ชี้เป็นการกระทำไร้มนุษยธรรม ละเมิดต่อหลักมนุษยธรรมสากลและข้อตกลงระหว่างประเทศ เรียกร้องให้ฝ่ายกัมพูชาแสดงความรับผิดชอบ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบก สั่งการกองทัพภาคที่ 1 และกองทัพภาคที่ 2 ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา เตรียมใช้แผน "จักรพงษ์ภูวนาถ" ซึ่งเคยใช้ในปฏิบัติการเขาพระวิหาร เมื่อปี 2554 มาแก้ปัญหาพื้นที่ชายแดน

เวลา 19.20 น. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี สั่งลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-กัมพูชา พร้อมเรียกทูตไทยกลับและขับทูตกัมพูชากลับประเทศ พร้อมสั่งกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ยื่นหนังสือประท้วงอย่างเป็นทางการต่อกัมพูชา

เวลา 21.59 น. เฟซบุ๊ก "กระทรวงกลาโหมกัมพูชา" โพสต์ข้อความถ้อยแถลงของ พล.อ.หญิง มาลี สุชาดา รัฐมนตรีช่วยว่าการ และโฆษกกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลของฝ่ายไทย กรณีที่ทหารไทย 5 นายได้รับบาดเจ็บจากเหตุกับระเบิดในพื้นที่ของกัมพูชา

พร้อมระบุว่า กัมพูชาเคยเตือนฝ่ายไทยหลายครั้งว่าพื้นที่เหล่านี้มีกับระเบิดหลงเหลือจากสงคราม และเรียกร้องให้ฝ่ายไทยหลีกเลี่ยงการดำเนินการที่ขัดต่อข้อตกลงร่วมกันว่าด้วยการใช้เส้นทางลาดตระเวนตามบันทึกความเข้าใจปี 2000

กลางดึกที่ผ่านมา มีรายงานว่า กัมพูชาระดมกำลังพลจำนวนมากไปยังแนวหน้าชายแดน หลังกองทัพไทยประกาศเตรียมพร้อมปฏิบัติการ

ขณะที่สำนักข่าวเฟรชนิวส์ รายงานว่า เพื่อเป็นการตอบโต้การตัดสินใจของไทย รัฐบาลกัมพูชาตัดสินใจลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทยลงเหลือระดับต่ำสุด และสั่งให้เจ้าหน้าที่การทูตกัมพูชาทุกคนที่ประจำอยู่ในสถานทูตกัมพูชาในกรุงเทพฯ เดินทางกลับประเทศ พร้อมระบุว่าสถานทูตไทยประจำกรุงพนมเปญก็จำเป็นต้องดำเนินการเช่นเดียวกัน

เช้าวันที่ 24 ก.ค.2568 กองทัพบกรายงานผ่านเฟซบุ๊กว่า เหตุการณ์เริ่มจาก เวลา 07.35 น. ทหารที่ดูแลพื้นที่ปราสาทตาเมือน รายงานว่าได้ยินเสียงอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ของฝ่ายกัมพูชา บินวนอยู่บริเวณหน้าปราสาทตาเมือนธม แม้ไม่สามารถตรวจพบตัวอากาศยานได้ด้วยสายตา แต่ได้ยินเสียงชัดเจน

ต่อมา ฝ่ายกัมพูชานำอาวุธเข้าสู่ที่ตั้งบริเวณด้านหน้าแนวลวดหนาม และพบกำลังพลกัมพูชา 6 นาย พร้อมอาวุธครบมือรวมทั้ง RPG เดินเข้ามาใกล้แนวลวดหนาม บริเวณด้านหน้าฐานปฏิบัติการของไทย โดยฝ่ายไทยได้ใช้การตะโกนเจรจาเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง โดยฝ่ายไทยเฝ้าระวังตลอดแนวชายแดนเพื่อเตรียมรับสถานการณ์

เวลาประมาณ 08.20 น. ฝ่ายกัมพูชา เปิดฉากยิงเข้ามาบริเวณตรงข้ามฐานปฏิบัติการทางทิศตะวันออกของปราสาทตาเมือน ในระยะประมาณ 200 เมตร

การปะทะเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา พล.ท.บุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2 พร้อม พล.ต.สมภพ ภาระเวช ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี เข้าบัญชาการรบด้วยตนเอง หลังทหารกัมพูชาเปิดฉากยิงก่อนที่ฐานหมูป่า ห่างจากพื้นที่ปราสาทตาเมือน 200 เมตร

ขณะที่ พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผบ.ทบ. เดินทางไปพื้นที่แนวหน้าและเข้าร่วมบัญชาการรบด้วยตนเอง พร้อมเยี่ยมให้กำลังใจกำลังพลและผู้ได้รับบาดเจ็บ

เวลา 09.20 น. เจ้าหน้าที่ทหารบาดเจ็บ 2 นาย จากอาวุธยิงสนับสนุนในพื้นที่บริเวณกลุ่มปราสาทตาเมือน จ.สุรินทร์

เวลา 09.40 น. นายอำเภอกาบเชิง จ.สุรินทร์ เผยว่ามีชาวบ้านบาดเจ็บ 2 คน เสียชีวิต 2 คน จากเหตุกัมพูชายิงจรวด BM-21 ตกใส่กลางหมู่บ้าน ล่าสุดอพยพ 30,000-40,000 คนไปยังศูนย์พักพิง ขณะที่กองทัพบกประณามการกระทำของฝ่ายกัมพูชา กรณีใช้อาวุธโจมตีเป้าหมายพลเรือนในเขตแดนไทย

เวลา 10.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีพื้นที่ที่มีการปะทะ 6 พื้นที่ คือ ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาควาย ช่องบก เขาพระวิหาร (ห้วยตามาเรีย/ภูมะเขือ) ช่องอ่านม้า และช่องจอม

เวลา 11.00 น. เครื่องบิน F-16 จำนวน 6 เครื่องของกองทัพอากาศไทย ถูกส่งไปสนับสนุนการสู้รบภาคพื้นของทางกองทัพบกในการปกป้องอธิปไตยชายแดนไทย-กัมพูชา โดยได้ใช้อาวุธประจำเครื่องบินที่มีความแม่นยำสูงโจมตีเป้าหมายที่ตั้งอาวุธหนักทหารกัมพูชาที่ บก.พล.น้อย ส่วนสนับสนุนที่ 8 และกองพลน้อย ส่วนสนับสนุนที่ 9 โดยมีคำยืนยันว่าภายหลังปฏิบัติการทางอากาศ F-16 ทั้ง 6 เครื่องที่ใช้เวลาปฏิบัติการ 20 นาที ได้กลับฐานปฏิบัติการอย่างปลอดภัย

เวลา 11.40 น. เจ้าหน้าที่ทหารไทยทำลายกระเช้าและบันไดทางขึ้นภูมะเขือ จ.ศรีสะเกษ

เวลา 11.54 น. ทหารกัมพูชาโจมตีโรงพยาบาลพนมดงรัก จ.สุรินทร์ มีผู้ได้รับบาดเจ็บ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในออกจาก รพ.ตามกระบวนการอพยพ ขณะนี้ผู้ป่วยอยู่ในพื้นที่เขตสีเขียวซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยแล้ว

เวลา 12.30 น. กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) แถลงประณามกัมพูชาอย่างรุนแรงที่สุด กรณีลอบวางทุ่นระเบิดในดินแดนไทยและโจมตีเป้าหมายพลเรือนของไทย โดยเฉพาะโรงพยาบาล พร้อมระบุรัฐบาลพร้อมยกระดับป้องกันตนเองหากกัมพูชายังไม่ยุติการโจมตี

เวลา 13.18 น. นายอำเภอกันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เปิดเผยว่า เหตุกัมพูชายิงกระสุน BM-21 ตกใส่ปั๊ม ปตท.บ้านน้ำเย็น มีผู้เสียชีวิต 7 คน โดยจุดเกิดเหตุอยู่ห่างจากชายแดน 20 กิโลเมตร

เวลา 16.38 น. กองทัพอากาศส่งเครื่องบินขับไล่ F-16 ทิ้งระเบิดโจมตีตอบโต้กองทัพกัมพูชา รอบ 2 บริเวณทางทิศใต้ของปราสาทตาเมือนธม

อ่านข่าว

กัมพูชา เปิดฉากยิงตรงข้ามฐานหมูป่า ปราสาทตาเมือนธม

F-16 ทิ้งระเบิดโจมตี 2 ฐานทหารกัมพูชา จุดยิงจรวดโจมตีชุมชนไทย

กต.ประณาม "กัมพูชา" ขั้นสูงสุด โจมตีเป้าหมายพลเรือนของไทย