วันนี้ (21 ก.ค.2558) เว็บไซต์บีบีซีเผยแพร่รายงานพิเศษเรื่องการค้านักฟุตบอลเด็ก ซึ่งระบุว่าเมื่อต้นปี 2558 ได้มีการนำนักฟุตบอลเด็กจำนวน 23 คน บางคนอายุเพียง 14 ปี จากประเทศไลบีเรียไปเล่นฟุตบอลที่สโมสร "จำปาสัก ยูไนเต็ด" ในเมืองปากเซ ประเทศลาว ทั้งที่กฎของสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ (ฟีฟ่า) ห้ามซื้อขายนักฟุตบอลเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีไปเล่นในสโมสรหรือฟุตบอลอะคาเดมีในต่างประเทศ
อย่างไรก็ตามสโมสรจำปาสัก ยูไนเต็ด ได้ออกมาปฏิเสธรายงานดังกล่าว โดยยืนยันว่าสโมสรไม่ได้กระทำการใดๆ ที่เป็นการละเมิดกฎหมาย ขณะที่โฆษกของฟีฟ่าให้สัมภาษณ์บีบีซีว่าเจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบกรณีนี้เพื่อปกป้องสวัสดิภาพของเยาวชนโดยได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอข้อมูลแล้ว
ทั้งนี้มีรายงานว่า สโมสรจำปาสัก ยูไนเต็ด ซึ่งเป็นทีมที่เพิ่งตั้งขึ้นไม่นาน หวังจะทำกำไรจากการขายนักฟุตบอลเด็กแอฟริกันเหล่านี้ในอนาคต มีรายงานด้วยว่าสโมสรส่งนักฟุตบอลเด็กอายุเพียง 14-15 ปี ลงเล่นในการแข่งขันฟุตบอลลีกของลาวด้วยในปีนี้
เคสเซลลี คามารา นักฟุตบอลเด็กอายุ 14 ปี ชาวไลบีเรีย ซึ่งเป็นหนึ่งในเด็กที่ถูกส่งมาเล่นกับสโมสรจำปาสักที่ลาวบอกว่าเขาถูกบังคับให้เซ็นสัญญา 6 ปี แล้วถึงจะได้เล่นฟุตบอลอาชีพ สัญญาระบุว่าเขาจะได้รับเงินเดือนๆ ละ 200 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมที่พัก แต่คามาราบอกว่าเขาไม่เคยได้รับเงินเลย และเขากับเพื่อนๆ นักฟุตบอลเด็กอีกราว 30 คนต้องนอนเบียดกันบนพื้นห้องที่สโมสร
รายงานของบีบีซีระบุว่าคนที่ชักชวนเด็กชายเหล่านี้มาคืออดีตนักฟุตบอลไลบีเรียชื่ออเล็กซ์ คาโม ซึ่งเด็กๆ ต่างตอบรับคำชวนด้วยความยินดี เพราะที่ไลบีเรียไม่มีโรงเรียนฝึกสอนฟุตบอล คาโมตั้งตัวเองเป็นผู้จัดการของนักฟุตบอลแอฟริกันในประเทศลาว
หลังจากเริ่มมีการตรวจสอบและตั้งคำถามจากหลายฝ่าย เมื่อเร็วๆ นี้ทีมจำปาสัก ยูไนเต็ด ก็ยอมให้นักฟุตบอลเด็กจากไลบีเรียจำนวน 17 คนกลับบ้านได้ แต่เด็กอีก 6 คนสมัครใจจะอยู่ต่อ ผู้สื่อข่าวบีบีซีได้คุยกับเด็กบางคนที่ถูกปล่อยตัวกลับบ้าน พวกเขาเล่าตรงกันว่าสภาพความเป็นอยู่ที่จำปาสัก ยูไนเต็ดนั้นย่ำแย่ อาหารไม่ดี เมื่อป่วยก็ไม่ได้หาหมอ นานๆ ทีพวกเขาถึงจะได้รับอนุญาตให้ออกไปนอกสโมสรซึ่งถูกใช้เป็นทั้งที่ฝึกและที่พัก
สาเหตุหนึ่ง ที่เด็กๆ ออกไปนอกสโมสรไม่ได้เพราะพวกเขามีสถานะเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายหลังจากที่วีซ่าประเทศลาวของพวกเขาหมดอายุตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 และพาสปอร์ตของพวกเขาก็ถูกเจ้าหน้าที่สโมสรนำไปเก็บไว้ บางคนหวังว่าจะอยู่อย่างถูกกฎหมายหากได้รับใบอนุญาตให้ทำงานในลาว ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้เพราะพวกเขายังเป็นเยาวชนอยู่
นักฟุตบอลเด็กคนหนึ่งบอกว่า สภาพความเป็นอยู่ที่สโมสรไม่ต่างจากการ "ใช้แรงงานทาส"
ประธานสโมสรจำปาสัก ยูไนเต็ด ชี้แจงบีบีซีว่าทางสโมสรไม่ได้ให้นักฟุตบอลเด็กเซ็นต์สัญญาเล่นอาชีพ สัญญาที่เซ็นต์นั้นเป็นสัญญาที่ให้ "โบนัส" เด็กๆ เท่านั้น ทั้งประธานสโมสรและคาโมไม่ปฏิเสธว่ามีนักฟุตบอลเด็กอยู่ที่สโมสร แต่คาโมอ้างว่ามีนักฟุตบอลเด็กแค่ 1 คนเท่านั้น เป็นเด็กชายวัย 16 ปีจากประเทศกินี คาโมยืนยันด้วยว่านักฟุตบอลเด็กทุกคนอยู่ในลาวอย่างถูกกฎหมาย
สเตฟาน เบิร์ชคาลเตอร์ เจ้าหน้าที่ของสหพันธ์นักฟุตบอลอาชีพนานาชาติ (FIFPro) ระบุว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ร้ายแรง และเรียกร้องให้ฟีฟ่าสอบสวนสหพันธ์ฟุตบอลแห่งชาติลาวว่าเหตุใดจึงไม่ดำเนินการตรวจสอบสโมสรจำปาสัก ยูไนเต็ด ตามที่มีข้อกล่าวหา
FIFPro บอกด้วยว่ากรณีที่เกิดขึ้นในลาวอาจเป็นเพียงแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ขณะที่องค์กร Culture Foot Solidaire ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ติดตามเรื่องนี้ประเมินว่าใสนแต่ละปีมีนักฟุตบอลเยาวชนประมาณ 15,000 คน ถูกชักชวนไปเล่นในต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการไปอย่างผิดกฎหมาย
ติดตามข่าวสารผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ไทยพีบีเอสออนไลน์
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl