สสส.ย้ำการผูกพันระบบงบประมาณ ทำให้งานด้านสุขภาพไม่คล่องตัว
การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 มาตรา 4 ให้เปลี่ยนการจัดสรรเงินอุดหนุนจากภาษีเหล้า บุหรี่ ร้อยละ 2 ต่อปีของ สสส. เป็นการเบิกจ่ายงบประมาณโดยตรง เป็นสิ่งที่นายธีระ วัชระปราณี ผู้จัดการเครือข่ายองค์กรงดเหล้า รู้สึกกังวล เพราะจะส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพที่เป็นรูปธรรม ให้ขาดความต่อเนื่อง
เครือข่ายองค์กรงดเหล้าเป็นหนึ่งในหลายภาคีองค์กรภาคประชาชนที่ สสส.สนับสนุน เพื่อสร้างการตื่นตัวให้สังคมรู้เท่าทัน ลดความเสี่ยงผลกระทบจากอบายมุขและการสร้างเสริมสุขภาพ
การฝึกอบรมสมาชิกเครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศเป็นอีกบทบาทที่เครือข่ายองค์กรงดเหล้าเน้นถ่ายทอดประสบการณ์บริหารโครงการรณรงค์งดเหล้าในชุมชนให้ประสบความสำเร็จ แต่นายธงชัย ยงยืน ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคเหนือตอนบนกล่าวว่า การผลักดันเรื่องนี้ในระดับชุมชนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ เพราะหากหวังพึ่งเพียงการสนับสนุนจากท้องถิ่น อาจทำให้การขับเคลื่อนงานมีข้อจำกัด งบประมาณที่เครือข่ายองค์กรงดเหล้าสนับสนุนไปยังเครือข่ายระดับชุมชนจึงมีส่วนสำคัญ ซึ่งงบประมาณในส่วนนี้ ถูกจัดสรรมาจาก สสส.
"สมมติว่าเราของบประมาณจากหน่วยงานรัฐเพื่อมาทำกิจกรรมรณรงค์ให้งดเหล้า เราก็อาจจะหมดความชอบธรรมที่จะไปตรวจสอบ ร้องเรียนหรือฟ้องร้อง หน่วยงานนั้นหากเขาทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสม" นายธงชัยกล่าว
สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการ สสส.กล่าวว่างานด้านนี้มีความซับซ้อน ไม่สามารถทำได้โดยกลไกภาครัฐเพียงอย่างเดียว ซึ่งกว่า 15 ปีที่ผ่านมา สสส.มีส่วนช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม เช่น ทำให้ประชาชนสูบบุหรี่ลดลง 18 เท่า และลดอุบัติเหตุได้กว่า 130 เท่า
การขับเคลื่อนงานที่ไม่ต้องผูกพันงบประมาณแผ่นดิน ทำให้เกิดความคล่องตัวเมื่อต้องจัดทำโครงการระยะยาว
"ถ้าภาครัฐตัดสินใจที่จะไม่ดึงเงินเพิ่มจากสินค้าที่ทำลายสุขภาพมาให้สสส. แต่คืนเงินนี้กลับเข้ากระเป๋าบริษัทเหล้าและบุหรี่ และให้เราไปแย่งเค้กจากก้อนงบประมาณแผ่นดินก็คงได้จำกัด เพราะต้องแย่งกันเยอะอยู่แล้ว ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะทำให้ความคล่องตัวในการประสานงานหลายๆ ภาคส่วนจำกัดมากขึ้นเพราะต้องถูกผูกมัดด้วยวิธีการทางงบประมาณและเวลาทางงบประมาณ ซึ่งราชการอาจคุ้นเคย แต่คนอื่นไม่คุ้นเคยเท่าไหร่" นายสุปรีดากล่าว
สำหรับเงินทุนหลักของ สสส.มาจากภาษีที่รัฐจัดเก็บจากผู้ผลิต และนำเข้าสุรา และยาสูบ ในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี โดยในปี 2556 ได้รับจำนวน 3,800 ล้านบาท ปี 2557 ได้รับ 4,800 ล้านบาท งบประมาณแต่ละปีถูกจัดสรรเพื่อการสนับสนุนโครงการใน 2 ลักษณะ คือ โครงการเชิงรุก เพื่อแก้ปัญหาปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ ร้อยละ 80 และโครงการสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม เพื่อเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชน ชุมชน ร่วมการสร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพไม่เกินร้อยละ 20