ร่างแผนแม่บทจัดการขยะมูลฝอย : งบประมาณแสนล้านกับเป้าหมายจัดการขยะอย่างยั่งยืน

12 ส.ค. 58
04:00
1,084
Logo Thai PBS
ร่างแผนแม่บทจัดการขยะมูลฝอย : งบประมาณแสนล้านกับเป้าหมายจัดการขยะอย่างยั่งยืน

ไม่ใช่แค่จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น หากแต่การขาดการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ปริมาณขยะมูลฝอยในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นทุกปี ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ระบุชัดว่า คนไทยสร้างขยะมูลฝอย 1.11 กิโลกรัม/คน/วัน และกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่มีขยะมูลฝอยมากสุด คือ 10,870 ตัน/วัน ความพยายามครั้งล่าสุดในการแก้ไขปัญหาขยะล้นเมืองคือการจัดทำร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศซึ่งวางกรอบวงเงินในการจัดการถึง 178,600 ล้านบาท

ข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษระบุด้วยว่า มีขยะมูลฝอยเพียงร้อยละ 30 ที่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง และแม้ว่าสังคมไทยจะมีองค์ความรู้เรื่องนำขยะกลับมาใช้ใหม่อยู่ไม่น้อย แต่การนำขยะมูลฝอยมารีไซเคิลอย่างจริงจังมีเพียงประมาณ 4.82 ล้านตันหรือร้อยละ 18.41 เท่านั้น

"ร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2559 -2564) ที่คพ.จัดทำจึงเน้นเรื่องการแปรขยะมูลฝอยเป็นพลังงานและการจัดการขยะตั้งแต่ชุมชนต้นทางซึ่งเป็นมาตรการที่จะทำให้ระบบการจัดการขยะมีประสิทธิภาพมากที่สุด อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการยังน้อยกว่าเมื่อเทียบกับระบบจัดการขยะแบบเดิม

นายวิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควมคุมมลพิษ กล่าวในงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยฯ เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2558 ว่า ร่างแผนแม่บทฯ ที่มีกรอบวงเงินในการจัดการราว 178,600 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณของรัฐบาล 94,600 ล้านบาท และเอกชนลงทุน 64,998 ล้านบาท โดยปี 2559 จะเสนอกรอบวงเงินระยะสั้นเพื่อจัดการขยะมูลฝอยของประเทศจำนวน 32,598 ล้านบาท ทางกรมควบคุมมลพิษยัง ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพลังงาน และกรมการพลังงานทหาร เตรียมจัดทำโครงการ 14 จังหวัดนำร่อง เช่น กทม. จ.สมุทรปราการ จ.ปทุมธานี และจ.เชียงใหม่ นำขยะมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงส่งให้โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ

นายอนุพันธ์ อิฐรัตน์  ผู้อำนวยการสำนักจัดการกากของเสียและสารอันตราย อธิบายว่า แผนการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายอย่างเป็นระบบ โดยดำเนินการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ  ภาคเอกชน และประชาชน โดยให้องค์กรปกครองท้องถิ่นในแต่ละจังหวัดจัดทำแผนขยะของแต่ละจังหวัด เพื่อที่จะดำเนินการจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยวางเป้าหมายให้คัดแยกขยะที่ต้นทางได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนเทศบาลตำบลทั่วประเทศ

น.ส.ลดาวัลย์ คำภา รองเลขาเลขาธิการสำนักคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยฉบับนี้ว่ามีความชัดเจนครบถ้วนว่าหน่วยงานใดรับผิดชอบแต่ตั้งคำถามว่าการจัดสรรงบประมาณ 178,600 ล้านบาทนั้นจะทำได้อย่างเหมาะสมหรือไม่ และการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วจะทำได้มากน้อยแค่ไหน

นอกจากนี้รองเลขาธิการสศช. ยังเสนอให้มีการรายงานเรื่องปัญหาขยะทุก 6 เดือน จากที่ต้องรายงานทุก 2 ปี และเรียกร้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีแผนการจัดการขยะที่ชัดเจน

นายชัยวัฒน์  ชัยสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกรมการปกครองท้องถิ่น แสดงความกังวลถึงมาตรการการจัดการขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาลและขยะอันตรายเช่นขยะอิเล็กทรอนิคส์ว่ายังไม่ได้รับการพูดถึงมากนัก

"การเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดและการใช้ประโยชน์จากขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายอาจต้องใช้เวลาเพราะหากดูในภาพรวมบ่อขยะที่มีอยู่ปัจจุบันไม่ค่อยถูกสุขลักษณะต้องให้เวลาในการที่จะปรับปรุง และหากมองข้ามเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนก็ไม่สามารถที่จะสร้างสถานที่จัดเก็บขยะหรือบ่อขยะที่มีมาตรฐานได้" นายชัยวัฒน์กล่าว

ด้านนายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและพลังงานทดแทนกล่าวว่า ร่างแผนแม่บทการจัดการขยะฯ ฉบับนี้สอดคล้องกับแผนของกระทรวงพลังงานที่ส่งเสริมการนำขยะมาเป็นเชื้อเพลิงและพลังงาน ซึ่งกระทรวงฯ ได้สนับสนุนให้สถาบันการศึกษาทำวิจัยและศึกษาความเป็นไปได้ในเรื่องนี้ โดยได้วางเป้าหมายไว้ว่าในปี 2558-2569 จะมีการรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ

แผนแม่บทฯ นี้น่าจะช่วยทำให้แนวคิดเรื่องการแปลงขยะให้เป็นพลังงานได้รับยอมรับจากประชาชนมากขึ้น แต่สำหรับผู้ประกอบการมีความพร้อมในการลงทุนในเรื่องนี้ แต่แผนแม่บทฯ ควรเอื้อให้ผู้ประกอบการดำเนินการได้โดยสะดวก

ขณะที่ตัวแทนชาวบ้าน ต.เชียงรากใหญ่ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี แสดงความกังวลต่อผลกระทบจากโครงการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งมีเตรียมก่อสร้างที่ ต.เชียงรากใหญ่ อ.สามโคก จงปทุมธานี โดยชาวบ้านระบุว่าพื้นที่โครงการอยู่ใกล้โรงงานสูบน้ำดิบสำแลและเป็นพื้นที่เขตอนุรักษ์น้ำดิบเพื่อบริโภคตามมติครม.ปี 2522 และปี 2531และเป็นพื้นที่ใกล้ชุมชน มีแหล่งน้ำล้อมรอบ จึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการก่อสร้าง เนื่องจากชาวบ้านยังคงกังวลถึงผลกระทบหากมีการสร้างโรงไฟฟ้าขยะและอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบอย่างจริงจัง

สำหรับร่างแผนแม่บทการจัดการขยะฉบับใหม่นี้ เมื่อผ่านการรับฟังความคิดเห็นแล้ว คพ.จะเสนอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอนุมัติเพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง