ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สถานการณ์ช้างไทยในวันช้างโลก "World Elephant Day"

12 ส.ค. 58
09:39
4,080
Logo Thai PBS
สถานการณ์ช้างไทยในวันช้างโลก "World Elephant Day"

หน่วยงานด้านการอนุรักษ์ช้างขอความร่วมมือให้ประชาชนช่วยดูแลช้างเนื่องในวันช้างโลก (World Elephant Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี หากพบช้างถูกทารุณหรือบาดเจ็บให้รีบแจ้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เผยสถานการณ์ช้างไทยวิกฤต โดยเฉพาะช้างป่าที่ทั้งถูกล่าเอางา ลูกช้างป่าถูกจับมาเป็นช้างเลี้ยงและพื้นที่ป่าลดลงจนทำให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างช้างกับคนอยู่บ่อยครั้ง

มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติประกาศให้วันที่ 12 สิงหาคมของทุกปีเป็น "วันช้างโลก" ตั้งแต่ปี 2555 เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงห่วงใยและทรงพระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาช้างไทย โดยเฉพาะปัญหาช้างลักลอบลากไม้ผิดกฎหมายและปัญหาช้างเร่ร่อน นอกจากนี้ยังทรงมีพระราชดำริให้จัดทำโครงการคืนช้างสู่ธรรมชาติเมื่อปี 2540 ใช้พื้นที่บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ดอยผาเมือง จ.ลำปาง เพื่อแก้ไขปัญหาให้ช้างเลี้ยงและช่วยฟื้นฟูประชากรช้างไทยภายใต้แนวความคิด "ช้างเลี้ยงก็คือช้างป่า" เพราะช้างเป็นสัตว์เพียงชนิดเดียวที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าไปคัดเลือกและปรับปรุงสายพันธุ์ได้เหมือนสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นๆ

ต่อมาในปี 2545 พระราชินีทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้ดำเนินการจัดตั้งมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ เพื่อสนับสนุนและดูแลโครงการฯ ในระยะยาว โดยช้างทั้งหมดอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของมูลนิธิฯ ส่วนการดูแลสุขภาพช้างอยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลช้าง สถาบันคชบาล องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ส่วนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง พร้อมทั้งดูแลรับผิดชอบพื้นที่อยู่อาศัยของช้างในโครงการ

"ผู้คนทั่วโลกบอกว่ารักช้าง แต่พวกเขาไม่ตระหนักว่าช้างกำลังตกอยู่ในอันตราย วันช้างโลกจะทำให้ผู้คนตระหนักถึงภัยคุกคามประชากรช้าง เราต้องช่วยกันสะท้อนปัญหาและกดดันให้ผู้นำประเทศต่างๆ มีนโยบายและดำเนินมาตรการอนุรักษ์ช้างอย่างจริงจัง รวมทั้งเชิญชวนให้ผู้คนเลิกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้าง" มิสตี เฮอริน จากองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติ The Nature Conservancy ซึ่งเป็นผู้นำการรณรงค์ในวันอนุรักษ์ช้างโลกประจำปี 2558 ระบุในแถลงการณ์

ปัจจุบันมีช้างอยู่ 2 สายพันธุ์ได้แก่ ช้างแอฟริกา ซึ่งแบ่งเป็น 2 ชนิดคือ ช้างทุ่งแอฟริกาและช้างป่าแอฟริกา ส่วนอีกสายพันธุ์หนึ่งคือ ช้างเอเชีย ซึ่งแบ่งเป็น 3 ชนิดคือ ช้างศรีลังกา, ช้างอินเดียและช้างสุมาตรา สำหรับประเทศไทยพบช้างอินเดียกระจายอยู่ทั่วทุกภาค โดยจำแนกเป็น 2 ประเภทคือ ช้างป่าและช้างเลี้ยง

แถลงการณ์เนื่องในวันช้างโลกประจำปี 2558 ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันทั้งช้างแอฟริกาและช้างเอเชียกำลังถูกคุกคามอย่างหนัก การสำรวจขององค์กรอนุรักษ์ช้าง (Save the Elephants) เมื่อปี 2557 พบว่ามีช้างแอฟริกาเหลืออยู่ประมาณ 400,000 ตัว แต่พวกมันกำลังถูกล่าอย่างหนักและหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ คาดว่าช้างแอฟริกาจะสูญพันธุ์ภายในปี 2568 หรือในอีก 10 ปีเท่านั้น ขณะที่ช้างเอเชียมีประชากรเหลืออยู่เพียง 40,000 ตัวและได้รับการขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์โดยสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN)

นายภาสกร มีวาสนา ผู้อำนวยการสถาบันคชบาลแห่งชาติฯ ในพระอุปถัมภ์ กล่าวถึงสถานการณ์ช้างไทยกับ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ว่า ปัจจุบันช้างในประเทศไทยลดลงเหลือประมาณ 7,000 - 8,000 ตัว ในจำนวนนี้เป็นช้างป่าประมาณ 3,000 ตัว ที่เหลือเป็นช้างเลี้ยง

นายภาสกร กล่าวว่า ช้างป่ายังถูกคุกคามเพื่อธุรกิจทางการค้า เช่น การลักลอบฆ่าช้างเพื่อเอางา เนื่องจากงาช้างมีราคาสูง หรือความเชื่อที่ว่าหากครอบครองงวงช้างจะทำให้มีศิริมงคล รวมถึงการลักลอบนำลูกช้างป่ามาเป็นช้างเลี้ยง ซึ่งปัญหาการลักลอบฆ่าช้างเพื่อเอางาเป็นปัญหาที่ต้องป้องกันและแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้ประชากรช้างลดจำนวนลงเรื่อยๆ

ส่วนปัญหาเรื่องพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่หากินของช้างลดลง เนื่องจากถูกบุกรุกทำลายหรือกลายเป็นพื้นที่การเกษตร ทำให้ช้างต้องออกมาหากินนอกป่าจนได้รับผลกระทบ เช่น ถูกวางยาและถูกไฟช็อตจนบาดเจ็บหรือตาย จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องหาวิธีแก้ไขเพื่อให้ชุมชนโดยรอบสามารถอยู่ร่วมกับช้างได้

ผอ.สถาบันคชบาลแห่งชาติฯ ยังฝากถึงประชาชนให้ช่วยกันสอดส่องดูแลช้าง หากพบเห็นหรือทราบข่าวการทารุณกรรมช้าง การฆ่าช้างเพื่อเอางา รวมถึงการทำรั้วไฟฟ้าป้องกันไม่ให้ช้างเข้าไปในพื้นที่การเกษตร สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุกแห่ง

โซไรดา ซาลวาลา ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อนช้าง ให้ข้อมูลที่สอดคล้องกันว่า ช้างไทยถูกคุกคามจากขบวนการค้างาช้าง ซึ่งประเทศไทยเป็นทางผ่านในการสั่งซื้องาช้างเพื่อส่งต่อไปยังปลายทาง ขณะที่ช้างเลี้ยงก็ประสบปัญหาเร่รอน ทำให้เสี่ยงอันตรายและได้รับบาดเจ็บอยู่บ่อยครั้ง จึงอยากให้รัฐบาลเห็นความสำคัญและใส่ใจความเป็นอยู่ของช้าง

"ช้างเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย แต่ขาดความใส่ใจจากรัฐบาลทุกสมัย จึงอยากให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของช้าง อยากเห็นกองทุนช้างแห่งชาติและคณะกรรมการช้างแห่งชาติ ซึ่งพูดมาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่มีการก่อตั้ง" โซไรดา กล่าว

ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อนช้าง กล่าวอีกว่า ขณะนี้มูลนิธิเพื่อนช้างมีช้างบาดเจ็บอยู่ในความดูแล 13 ตัว ส่วนมากได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ เหยียบกับระเบิด ถูกยิง รวมถึงได้รับสารพิษ ซึ่งช้างที่ได้รับบาดเจ็บทั้งหมดมีสัตว์แพทย์และเจ้าหน้าที่คอยดูแล แต่ขณะนี้มูลนิธิฯ ประสบปัญหาขาดทุนทรัพย์ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายเดือนละประมาณ 1,000,000 บาท สวนทางกับรายรับที่ได้รับบริจาคจากประชาชนเดือนละ 300,000 - 400,000 บาท

ดวงกมล เจนจบ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง