61 ปี "หะยีสุหลง" หายตัว : ผู้ไม่มีสุสาน ย่อมมีสุสานทุกหนแห่ง

17 ส.ค. 58
05:17
1,247
Logo Thai PBS
61 ปี "หะยีสุหลง" หายตัว : ผู้ไม่มีสุสาน ย่อมมีสุสานทุกหนแห่ง

ทายาทของนายหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ โต๊ะมีนา บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ของจังหวัดปัตตานี จัดงานรำลึกถึง 61 ปีในการหายตัวไปของหะยีสุหลง พร้อมเตรียมบูรณะบ้านและสุเหร่าของหะยีสุหลงเพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์และกระตุ้นให้คนในสังคมเปลี่ยนความเคียดแค้นมาเป็นการเรียนรู้ความผิดพลาดในอดีตเพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาความรุนแรง

"ผู้ไม่มีสุสาน ย่อมมีสุสานทุกหนแห่ง" เป็นคำนิยามสำหรับงานรำลึก 61 ปีที่หะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา หายตัวไป ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ส.ค.2558 ที่บ้านหลังเก่าของหะยีสุหลงริมถนนรามโกมุท อำเภอเมืองปัตตานี โดยมีทายาทจาก 10 เชื้อสายมารวมตัวกัน คนรุ่นลูกและหลานได้เรียนรู้ประวัติของบรรพบุรุษจากข้าวของ ภาพวาด และเอกสารสำคัญที่บอกเล่าเรื่องราวของหะยีสุหลง ผู้ที่ครั้งหนึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็น "กบฎของแผ่นดิน"

หะยีสุหลง เป็นผู้มีบทบาทในการเรียกร้องสิทธิของคนมุสลิมในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามที่ใช้นโยบายกลืนวัฒนธรรม ทำให้เกิดการต่อต้านอย่างรุนแรงจากคนในพื้นที่ หะยีสุหลง และผู้นำศาสนาจึงทำข้อเสนอ 7 ข้อเพื่อเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมให้คนมาลายู แต่รัฐบาลในไม่รับหลักการและมองว่าเป็นการแบ่งแยกดินแดน จึงถูกจับในข้อหากบฏ ก่อนจะถูกปล่อยตัวและหายตัวไปพร้อมผู้ติดตามในวันที่ 13 ส.ค.2497 ซึ่งหลังการหายตัวไปของหะยีสุหลง ก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์ เพราะเกิดกลุ่มต่อสู้กับรัฐหลายกลุ่มจนถึงปัจจุบัน

นายหะยีสะมะแอ ท่าน้ำ อดีตแกนนำกลุ่มพูโลที่เพิ่งได้รับการพักโทษ เป็นบุคคลหนึ่งที่เข้าร่วมในงานรำลึกถึงการจากไปของหะยีสุหลง นายหะยีสะมะแอ บอกว่าหะยีสุหลงมีบทบาทสำคัญต่อคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเป็นบุคคลแรกที่ก่อตั้งปอเนาะเพื่อใช้สอนและอบรมเยาวชนได้เรียนรู้หลักการศาสนา และเป็นบุคคลสำคัญในการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิสำหรับคนมุสลิมในพื้นที่

ทายาทของหะยีสุหลงเตรียมบูรณะสุเหร่าเก่าแก่เป็นศูนยเรียนรู้ประวัติศาสตร์ปัตตานี สุเหร่าหลังนี้เคยถูกใช้เป็นสถานที่จัดทำข้อเสนอ 7 ข้อเกี่ยวกับสิทธิในการปกครอง และสิทธิทางศาสนาของหะยีสุหลง ซึ่งทายาทของเขาบอกว่า ข้อเสนอ 7 ข้อถูกดำเนินการไปแล้วหลายอย่างในปัจจุบัน ข้อเสนอเหล่านี้อยู่บนพื้นฐานของหลักคิดที่ไม่ได้ฝักใฝ่ความรุนแรง แต่ต้องการเพียงให้เกิดความเท่าเทียมและยอมรับในความแตกต่างของคนต่างความเชื่อ

นายจตุรนต์ เอี่ยมโสภา ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลโต๊ะมีนา อธิบายถึงผลงานชิ้นสำคัญของหะยีสุหลงที่มีต่อคนในพื้นที่อย่างปฎิทินเวลาละหมาดที่สะท้อนถึงความเป็นนักดาราศาสตร์ และนักการศาสนาของหะยีสุหลง ที่ยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน และกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ซึ่งถูกรักษาไว้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ยังมีการบูรณะบ้านพักของหะยีสุหลงด้วยงบประมาณจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเหล่าทายาทกำลังปรับเปลี่ยนให้เป็นเรียนรู้ประวัติศาสตร์ปาตานี และเรื่องราวของหะยีสุหลง ซึ่งในอดีตถูกปิดกั้นข้อมูลและทำลายเอกสารหลายอย่าง เนื่องจากเจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นการเผยแพร่หลักคิดในการแบ่งแยกดินแดน

นายเด่น โต๊ะมีนา บุตรชายของหะยีสุหลงบอกว่า ตลอดชีวิตตระกูลโต๊ะมีนาถูกเพ่งเล็งมาโดยตลอด การเปิดบ้านหะยีสุหลงอย่างเป็นทางการก็เพื่อสื่อสารให้สังคมและรัฐเข้าใจถึงความจริงและเห็นว่า การแก้ปัญหาความรุนแรงคือการเปิดโอกาให้ประชาชนได้มีสิทธิอย่างแท้จริงในการปกครองตัวเอง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง