ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รู้จัก "กองทุนการออมแห่งชาติ" เปิดรับสมัครสมาชิกวันแรกวันนี้ (20 ส.ค.)

สังคม
20 ส.ค. 58
05:46
920
Logo Thai PBS
รู้จัก "กองทุนการออมแห่งชาติ" เปิดรับสมัครสมาชิกวันแรกวันนี้ (20 ส.ค.)

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาแรงงานนอกระบบหรือผู้ไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งในวันนี้ (20 ส.ค.2558) รัฐบาลเปิดรับสมัครสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติเป็นวันแรก เพื่อผลักดันให้แรงงานกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบเพื่อรับสิทธิสวัสดิการ มีหลักประกันการออมเงินและจ่ายเป็นเงินบำนาญให้เมื่ออายุเกิน 60 ปี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิธีเปิดกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) อย่างเป็นทางการโดยมี นายประมาณ สว่างญาติ เกษตรกรจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นผู้สมัครคนแรก

ในช่วงครึ่งเช้าของวันนี้ ธ.ก.ส.รายงานว่ามียอดผู้สมัครในระบบกว่า 172,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือกว่า 100,000 คน แต่รับสมัครจริงได้ประมาณ 140,000 คน เพราะบางคนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จึงต้องให้เลือกเป็นสมาชิกแห่งใดแห่งหนึ่ง

ขณะที่ ธนาคารออมสิน ตั้งเป้ารับสมัครสมาชิกกลุ่มอาชีพอิสระ 500,000 คนภายในปีนี้ โดยระบบรับสมัครตามสาขาทั่วประเทศจะพร้อมให้บริการช่วงบ่ายวันนี้

ทั้ง ปี กอช.คาดว่าจะรับสมัครสมาชิกได้กว่า 600,000 คน และเพิ่มเป็น 1.5 ล้านคนในปี 2559 และ 3 ล้านคนในปี 2561 โดยรัฐบาลกำหนดเงินรองรับการจ่ายสมทบสมาชิก กอช.ในปีงบประมาณ 2559 แล้ว 1 พันล้านบาท และจะของบกลางเพิ่มเติมหากมีผู้สนใจสมัครจำนวนมาก

แรงงานนอกระบบซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของกอช.ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรมซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ในปี 2557 ผู้มีอายุ 15 ปีขึ้นไปที่มีงานทำจำนวน 38.4 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบถึงร้อยละ 57.6

ปัญหาสำคัญของแรงงานนอกระบบ คือ ขาดหลักประกันจากการทำงาน เช่น กองทุนประสังคม รัฐบาลจึงเปิดโครงการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อให้แรงงานนอกระบบมีช่องทางการออมเงิน โดยมีเงื่อนไขต้องส่งเงินสมทบกองทุนไม่เกิน 13,200 บาทต่อปี และมีขั้นต่ำเพียง 50 บาท โดยส่งเงินสมทบได้ตามสมัครใจไม่มีกำหนดต้องส่งประจำทุกเดือนและรัฐบาลจะจ่ายเงินสมทบตามอายุของสมาชิกสูงสุด 100 บาทต่อเดือนหรือปีละไม่เกิน 1,200 บาท และเมื่อสมาชิกอายุครบ 60 ปี จึงนำเงินทั้งหมดมาหารเฉลี่ยให้สมาชิกเป็นบำนาญรายเดือนตามกำหนด

จุดเด่นของกองทุนการออมแห่งชาติ คือ มีความยืดหยุ่นของสิทธิต่างๆ สูง ตั้งแต่จำนวนเงินที่ต้องส่งตามความสมัครใจ สามารถหยุดส่งเงินโดยไม่ขาดการเป็นสมาชิกกองทุนได้ภายใต้ข้อกำหนด หรือหากในอนาคตผู้ส่งเงินได้งานทำเข้าสู่ระบบสวัสดิการของรัฐแล้ว ก็ยังคงเป็นสมาชิกต่อได้

เมื่อเป็นสมาชิกกองทุน กอช.แล้ว หน้าที่ของสมาชิกต้องส่งเงินสมทบกองทุน ตามระเบียบ คือสมาชิกจะต้องส่งเงินสะสมไม่น้อยกว่า ปีละ 50 บาท และไม่เกิน 13,200 บาทต่อปี โดยใน1ปีจะส่งเงินสมทบ
  
ผู้มีสิทธิ์เป็นสมาชิก กอช.
-ผู้ที่จะสมัครสมาชิกกอช. ต้องเป็นแรงงานนอกระบบ คือ ผู้ไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร/กสิกรรม กลุ่มค้าขาย กลุ่มรับจ้าง กลุ่มอาชีพอิสระ

คุณสมบัติผู้สมัคร กอช.
1.สัญชาติไทย
2.อายุ 15 - 60 ปี
3.ไม่อยู่ในกองทุนที่ได้รับเงินสมทบจากรัฐหรือนายจ้าง
4.ไม่อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญจากรัฐหรือเอกชน

การส่งเงินสมทบ

-ส่งเมื่อไหร่ก็ได้ไม่จำเป็นต้องส่งทุกๆ เดือน และรัฐบาลจะจ่ายเงินสมทบให้สมาชิกแตกต่างตามช่วงอายุ เช่น อายุสมาชิก 50 ปีขึ้นไป เงินที่รัฐบาลจะสมทบ คือ 100% ของเงินสะสมแต่ไม่เกิน ปีละ 1,200 บาท

สิทธิประโยชน์ที่สมาชิกกองทุนกอช.จะได้รับ
1.เมื่ออายุครบ 60 ปี จะนำเงินทั้งหมดที่สะสมมาพร้อมดอกเบี้ยพร้อมกับเงินที่รัฐสมทบมาหารด้วยจำนวน 240 ซึ่ง คือตัวเลขของจำนวนเดือนในระยะเวลา 20 ปี เพื่อจ่ายเป็นเงินบำนาญให้สมาชิกรายเดือน ไปจนสมาชิกมีอายุถึง 80 ปี และหากอายุครบ 80ปี สมาชิกยังมีชีวิตอยู่แต่เงินในกองทุนได้หมดลงแล้ว รัฐก็จะยังจ่ายเงินบำนาญรายเดือนให้สมาชิกต่อ โดยจ่ายให้ในอัตราเท่าที่สมาชิกเคยได้รับในแต่ละเดือน
2.ทุพพลภาพก่อนอายุ 60 ปี ได้รับเงินสะสมพร้อมดอกเบี้ย ส่วนเงินสมทบจากรัฐและดอกเบี้ยจะได้รับตอนอายุ 60 ปี
3.ลาออกจากกองทุน จะได้รับเฉพาะเงินสะสมพร้อมดอกเบี้ย
4.เสียชีวิต เงินสะสม เงินสมทบ ดอกเบี้ยทั้งหมดจะตกเป็นของทายาทหรือผู้รับประโยชน์

จุดเด่นของกองทุน กอช.
1.ไม่ต้องลาออกจากการเป็นสมาชิก หากในอนาคตได้ทำงานระบบราชการหรือเอกชนอธิบายในอนาคตหากสมาชิกได้งานในระบบ ก็ไม่ต้องลาออกจากสมาชิกกองทุน และส่งเงินสะสมกับกองทุนต่อได้ แต่รัฐจะไม่สมทบเงินให้ในช่วงเวลานั้น แต่ถ้าเกิดลาออกจากงานไปเป็นแรงงานนอกระบบอีกครั้ง เมื่อสมาชิกส่งเงินสะสม รัฐก็จะส่งเงินสมทบให้ตามเดิม
2.สมาชิกสามารถถอนเงินออกมาใช้ได้อธิบายแต่การถอนเงิน สมาชิกจะต้องลาออกจากกองทุนก่อนอายุ 60ปี และจะได้รับเฉพาะเงินที่ส่งสะสมไว้พร้อมดอกเบี้ยเท่านั้น
3.ผู้มีอายุเกิน 60ปี สามารถเป็นสมาชิกกองทุนได้ หากผู้มีอายุเกิน60ปีต้องการสมัครสมาชิกกองทุน ต้องรอให้ พรบ.ว่าด้วยเรื่องการให้สิทธิ์ผู้สมัครกองทุนประกาศใช้ก่อน ซึ่งคาดว่าจะต้องรอประมาณ1ปี โดยเมื่อ พรบ ประกาศใช้ ผู้มีอายุเกิน60ปี จะต้องสมัครสมาชิกภายใน1ปีที่ พรบ.ประกาศ โดยจะให้สิทธิผู้มีอายุเกิน 60 ปี ได้เป็นสมาชิกส่งเงินสะสมเป็นเวลา 10 ปี รวมทั้งให้สิทธิ์แก่ผู้มีอายุเกิน 50 ปีให้มีสิทธิส่งเงินสะสมเป็นสมาชิกเข้ากองทุนได้เป็นเวลา 10 ปีเช่นกัน

<"">

<"">

<"">

<"">


ข่าวที่เกี่ยวข้อง