ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เสนอรัฐจัดการเรียนการสอนด้านภัยพิบัติให้ประชาชน

สังคม
20 ธ.ค. 54
11:12
36
Logo Thai PBS
เสนอรัฐจัดการเรียนการสอนด้านภัยพิบัติให้ประชาชน

นักวิชาการด้านภัยพิบัติเสนอให้รัฐบาลบรรจุการเรียนการสอนด้านภัยพิบัติไว้ในหลักสูตรการศึกษา เพื่อรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีข้อมูลรายงานความเสี่ยงโลกปีนี้ระบุว่า ประเทศไทยมีความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติอยู่ที่ร้อยละ 76

โมเดล "สึนามิจำลอง" ของนักเรียนโรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม แสดงให้เห็นถึงการเกิดสึนามิในหลายรูปแบบ และความรุนแรงของคลื่นเมื่อเคลื่อนเข้าสู่ฝั่ง ได้รับความสนใจจากนักเรียนโรงเรียนต่างๆ ที่มาร่วมชมงาน "เด็กไทยเรียนรู้ภัยพิบัติ"

แม้เหตุสึนามิในประเทศไทยกำลังจะครบรอบ 7 ปีในปีนี้ แต่นายสมิทธ ธรรมสาโรช ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ยอมรับว่า ปัจจุบันยังไม่มีการบรรจุเรื่องภัยพิบัติในหลักสูตรการเรียนการสอนระดับโรงเรียน ขณะที่ในต่างประเทศต้องเรียนรู้เรื่องภัยพิบัติตั้งแต่เยาวชน ทำให้เมื่อเกิดภัยธรรมชาติ คนไทยจึงไม่สามารถรับมือได้

ด้าน รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า ประเทศไทยยังไม่ให้ความสำคัญกับการศึกษาด้านการจัดการภัยพิบัติ ขณะที่ผู้เรียนจบด้านนี้ก็ยังไม่มีงานรองรับ รัฐบาลควรให้ความสำคัญและเข้ามาช่วยเหลือ เพราะประเทศญี่ปุ่น แม้จะมีประสบการณ์และระบบการเตือนภัยที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ก็ยังไม่สามารถรับมือกับภัยพิบัติครั้งใหญ่ได้

นักวิชาการด้านภัยพิบัติเห็นตรงกันว่า ประเทศไทยต้องมีการบรรจุองค์ความรู้ด้านภัยพิบัติลงไปในระบบการเรียนการสอนของประเทศ ทั้งในระดับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เพื่อให้มีความรู้ที่จะรับมือกับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เปลือกโลก และปัจจัยจากนอกโลก เช่น การระเบิดของดวงอาทิตย์ อาจทำให้เกิดภัยพิบัติได้ตลอดเวลา ทั้งนี้มีข้อมูลรายงานความเสี่ยงโลกปี 2554 พบว่า ประเทศไทยมีความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติอยู่ที่ร้อยละ 76


ข่าวที่เกี่ยวข้อง