วันนี้ (19 พ.ค.2568) เวลา 09.00 น. ภายหลังคณะกรรมการสืบสวน และไต่สวนส่วนกลางคณะที่ 26 ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เป็นคณะกรรมการ ร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ และ ปปง. เดินหน้าสอบเรื่องของคดีฮั้วเลือก สว. โดยออกหมายเรียกให้ สว. 55 คน มารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 19-21 พ.ค.2568 ซึ่งในวันนี้เป็นล็อตแรก 22 คน ที่ต้องเดินทางมาชี้แจงและรับทราบข้อกล่าวหาที่ชั้น 3 กกต.
ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา สื่อมวลชนเดินทางมาเกาะติดสถานการณ์ และมีรายงานว่า พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา เดินทางมาถึงเป็นคนแรกในเวลา 08.30 น .แต่ไม่ได้เข้าทางด้านที่สื่อมวลชนอยู่ ซึ่งการโทรศัพท์สอบถามพบว่า ส่วนใหญ่จะเดินทางมาในช่วงบ่าย เช่น พล.ต.ท.บุญจันทร์ นวลสาย, นายอลงกต วรกี, นายวีระศักดิ์ วิจิตรแสงศรี และนายสิทธิกร ธงยศ
"สว.นิพนธ์" รับทราบข้อกล่าวหาคดีฮั้ว มั่นใจแจง กกต.ได้
ต่อมาเวลา 10.00 น. นายนิพนธ์ เอกวานิช สว. เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา และชี้แจงกับ กกต. โดยผู้สื่อข่าวว่าถามย้ำถึงความมั่นใจ ซึ่งนายนิพนธ์ กล่าวว่า วันนี้เตรียมข้อมูลมาพร้อมชี้แจง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องข้อกฎหมายต่าง ๆ

ส่วนจะต่อสู้อย่างไรนั้น นายนิพนธ์ ระบุว่า ขอดูหลักฐานเพิ่มเติม เพราะที่มีการกล่าวหานั้นเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่ชัดเจน ซึ่งตนเองจะขอตอบเป็นลายลักษณ์อักษร
ขณะเดียวกันมีหลายคนที่ขอเลื่อนการชี้แจง เช่น นายสรชาติ วิชยสุวรรณพรหม ขอเลื่อนเป็นวันที่ 28 พ.ค. เนื่องจากติดประชุมคณะกรรมาธิการที่ไม่สามารถเลื่อนได้ โดยได้ทำหนังสือชี้แจงไปแล้วเมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังมีนายวิวรรธน์ แสงสุริยะฉัตร ที่ส่งทนายมาขอเลื่อนการชี้แจงก่อน เนื่องจากทุกวันจันทร์-อังคาร สว.จะมีประชุมสำคัญ แต่ยืนยันว่าพร้อมชี้แจงทุกขั้นตอน เพราะมั่นใจในความบริสุทธิ์ เนื่องจากที่ผ่าน ตนเองมีคนรู้จักเพราะช่วยงานสังคม ทำให้ได้รับการสนับสนุนจำนวนมาก ส่วนที่ตกเป็นเป้าหมายในกลุ่มแรก อาจเพราะตนเป็นประธานกรรมาธิการ
ทั้งนี้ สว.ไม่จำเป็นจะต้องเดินทางมาชี้แจงด้วยตนเอง โดยส่งคำชี้แจงเป็นเอกสารได้ และในวันนี้ก็มี สว.หลายคนที่ปิดโทรศัพท์มือถือ ไม่สามารถติดต่อได้

สิทธิกร ธงยศ สมาชิกวุฒิสภ
สิทธิกร ธงยศ สมาชิกวุฒิสภ
"สว.สิทธิกร" มั่นใจทำตามกฎหมาย ห่วงดีเอสไอทำคดีฮั้ว
นายสิทธิกร ธงยศ สมาชิกวุฒิสภา เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ต่อคณะอนุกรรมการ กกต.ในคดีการฮั้วเลือก สว.ภายหลังได้ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้มารับทราบข้อกล่าวหา และดูว่า กกต.จะแจ้งข้อกล่าวหาอะไร ส่วนตัวมั่นใจว่าทำตามระเบียบและข้อกฎหมายที่กำหนด แต่ที่เป็นห่วงคือการทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพราะเป็นครั้งแรกที่ดีเอสไอมาทำงานให้กับ กกต.หากคดีนี้ได้รับการพิจารณาก็จะเป็นบรรทัดฐานในการทำคดีเลือกตั้งอื่น ๆ ทางการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และการเลือกตั้งท้องถิ่น ดังนั้นจึงเหมือนเป็นเครื่องมือในการแทรกแซงการทำงานของ กกต.หน่วยงานอย่างดีเอสไอ ต้องพิสูจน์ว่าทำงานภายใต้อำนาจหน้าที่ ถ้าคดีนี้ผ่านมีคดีต่อไปก็ต้องใช้บรรทัดฐานเช่นเดิม
สำหรับดีเอสไอ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่สังกัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งมีรัฐมนตรีสังกัดพรรคการเมือง ถ้ารัฐมนตรีที่สังกัดพรรคการเมืองมาทำคดี เกรงว่าจะไม่เกิดความเป็นธรรม ส่วน กกต.เป็นองค์กรอิสระที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ตนจึงมีความเป็นห่วงในคดีนี้
นายสิทธิกร กล่าวว่า สว.ที่มารับทราบข้อกล่าวหายังสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ไม่น่าเป็นประเด็น ส่วนกรณีที่ สว.สำรอง เรียกร้องให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ มองว่าเป็นการรับลูกกันระหว่างดีเอสไอ สว.สำรอง และผู้ที่เสียผลประโยชน์ และ สว.อีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ขอเอ่ยนาม เป็นหน้าที่ของเขาที่สามารถรวมรายชื่อเพื่อส่งถึงประธานวุฒิสภาได้ คงไม่ใช่กระบวนการกลั่นแกล้ง
หากย้อนกลับไปก่อนวันเลือก สว.จะพบกลุ่มจัดตั้งที่อยู่ในโรงแรมตรงทางเข้าเมืองธานี มีคนจำนวนมากกว่า 500 คน มีเอกสารที่ไม่แน่ใจว่าใช่โพยหรือไม่ ซึ่งมี สว.ที่เสียผลประโยชน์อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย รวมถึง สว.ที่ใกล้ชิดกับพรรคการเมือง จึงตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดดีเอสไอ จึงไม่ตรวจสอบ สว.กลุ่มดังกล่าวด้วย จึงขอให้ดีเอสไอตรวจสอบทั้งหมด ตัวจริง 200 คน และ สว.สำรองอีก 100 คน
ทั้งนี้ ที่ดีเอสไอใช้เอไอสอบสวนคดีฮั้วพบว่ามีผู้เกี่ยวข้องกว่า 1,157 คน ถือเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของผู้ใช้ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าเอไอ ดังกล่าวได้รับมาตรฐานหรือไม่ ไม่ใช่กล่าวอ้างว่ามีมาตรฐานเที่ยงธรรม
นายสิทธิกร กล่าวว่า ไม่ทราบว่า สว.กลุ่มนี้เป็น สว.สีน้ำเงินหรือไม่ ส่วนที่มีการลงคะแนนเหมือนกัน ตนก็ไม่ทราบเพราะเป็นการลงคะแนนลับ
อ่านข่าว : "นันทนา" นำทัพยื่นศาล รธน. ชะลอ สว. ลงมติองค์กรอิสระ